เดือนสุดท้ายของปี 2021 แน่นอนว่าเรื่องของการใช้จ่ายออนไลน์ การซื้อสินค้าแบบอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซ ต่างก็กลายมาเป็นช่องทางการขายที่คนไทยหันมาใส่ใจและเปิดใจใช้งานกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องการลดการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไป คือ อยากลดเวลาในการออกไปเดินหาสินค้า มาเป็นค้นหาผ่านปลายนิ้วมากขึ้น
thumbsup ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ คุณธนวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และ นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย ได้มาร่วมพูดคุยแบบออนไลน์เกี่ยวกับการใช้จ่ายออนไลน์ พฤติกรรมของนักช้อป รวมทั้งสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวงการอีคอมเมิร์ซในปี 2022
ภาพรวมวงการ E-commerce ของปี 2021 และคาดการณ์ปี 2022
ภาพรวมของ Digital ประเทศไทยปี 2021 นี้ ผมเชื่อว่าหลายท่านก็น่าจะเห็นตัวเลขไปในทิศทางเดียวกันว่าคนไทยเนี่ยก็ยังใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลพบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย ยอมรับว่าใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวันแล้ว แปลว่ายังมีคนเพิ่มเวลาใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น น่าจะราว 10-11 ชั่วโมงต่อวันทีเดียว
กิจกรรมหลักที่คนไทยใช้กับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความบันเทิงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ส่วน“ชอปปิง” ติด 1 ในกิจกรรมหลักๆ ที่คนไทยใช้เวลากับมันเยอะสุดๆ จากเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “ชอปปิง” จะติดอันดับอยู่อันดับที่ 5 แต่จากข้อมูลล่าสุดปีนี้ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 แล้ว
เมื่อเข้าไปดูคำว่า “ชอปปิง” ผลปรากฏว่าสำหรับคนไทยมันคือ การซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซและการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ
การหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อหมายถึงอะไรนะครับ? คนไทย 9 ใน 10 คน ก่อนจะตัดสินใจซื้อ เขาหาข้อมูลก่อน และ 8 ใน 10 คนเลือกที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ ออนไลน์กลายมาเป็นช่องทางในการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อแล้วในปัจจุบันนี้
จากการหาข้อมูลตัวนี้นำมาซึ่งความมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อสินค้า ไม่ว่าเขาจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ผ่านทางหน้าร้านหรือการซื้อผ่านออนไลน์ พฤติกรรมนี้ ผมเรียกมันว่า OMNI Channel Comparison Shopper ออมนิแชนแนล คือ ใช้ทั้งช่องทางออนไลน์ ทั้งช่องทางออฟไลน์หในการเปรียบเทียบทั้งสินค้า เปรียบเทียบทั้งราคา ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อนะครับ เพราะฉะนั้นแนวโน้มตัวนี้ จะเป็นกระแสหลัก ที่ทุกวันนี้เมื่อเราพูดถึงเรื่องค้าปลีกเราไม่ได้พูดถึงเฉพาะ e-commerce อย่างเดียวละ แต่เราพูดถึงอิทธิพลของดิจิทัลที่มันเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อนะครับ
การปรับตัวของธุรกิจค้าปลีก และการแข่งขันของแพลตฟอร์ม
ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยในปี 2021 อ้างอิงจาก Google และ Temasek ที่ทำข้อมูลตลาดดิจิทัล พบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิรซ์อยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาทปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้วและปี 2021 นี้ จะเติบโตขึ้นประมาณ 75% ไปแตะที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท เทียบกับก่อนหน้าเมื่อปี 2019-2020 ที่โควิดเข้ามามีผลกระทบอย่างจังกับธุรกิจ
ปีนั้นอีคอมเมิร์ซไทยโต 140% ทำให้คาดการณ์ว่าในมุมของมาร์เก็ตเพลสยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลเป็นหลัก อาจจะมีสัดส่วนถึงเกือบครึ่งเลยทีเดียว ผู้เล่น 3 รายหลักอย่าง ช้อปปี้ เป็นปีที่เติบโตเร็วมาก พบว่า ปีที่แล้วเป็นปีจุดตัดที่ยอดขายแซงลาซาด้าและปีนี้ช่องว่างนั้นขยายห่างขึ้น แต่ขณะเดียวกันลาซาด้าก็พยายามรุกหนักมากในขยายกิจการต่างๆ ขณะที่ช้อปปี้มีการขึ้นค่าบริการทางฝั่งผู้ขายนะครับ ผู้ขายจำนวนมากก็ทุ่มน้ำหนักไปทางฝั่งลาซาด้า ก็ยังต้องดูกันต่อไป
ทางฝั่งของ JD Central ก็เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่ก็ในมุมมองแล้วเนี่ยยังเห็นว่าน่าจะยังห่างจากผู้เล่นทางฝั่งของลาซาด้ากับช้อปปี้แต่ยังมีอีกจุดหนึ่ง ที่น่าจับตามองก็คือ Social commerce นะครับ
Social Commerce เทรนด์มาแรง คู่แข่งอีคอมเมิร์ซ
คาดการณ์ว่าโซเชียลคอมเมิร์ซอาจจะกินสัดส่วนซักประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 7 แสนล้านบาทในปีนี้นะครับ พฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบ Social commerce จะเห็นได้จาก Digital User ว่าคนไทยใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเยอะมากๆ
ทุกวันนี้จะเห็นว่า โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ มีแนวโน้มที่จะขยับขยายตัวไปทำตัวเองเป็นคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น TikTok ที่ปีนี้มีการประกาศฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับคอมเมิร์ซมากขึ้นนะครับ
อ้างอิงที่อินโดนีเซีย Tiktok มีการเปิดทำให้แอปเป็นคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ แปลว่าเวลาคนอยากจะซื้อสินค้าในเวลาดูเสร็จปุ๊บเนี่ยสามารถกดซื้อ จบอยู่ในฟอร์มของตัวเองได้เลย
คาดการณ์ว่าคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มจะกลายมาเป็นเทรนด์ของปีหน้าเลยละกันว่าแนวโน้มของโซเชียลคอมเมิร์ซน่าจะเป็นเทรนด์ในการที่ซื้อของต่างๆครบจบใน Social Media Platform ไปเลย
Facebook กับการรุกตลาดคอมเมิร์ซ
ทิศทางของคอมเมิร์ซเป็นทิศทางหลักที่เฟซบุ๊กผลักดันมาตลอด แต่ค่อนข้างช้าเหมือนกันนะ เพราะผลักดันไปในภาพรวมหลากหลายแพลตฟอร์ม ความเคลื่อนไหวล่าสุดเนี่ย จะเห็นว่า Facebook Group เริ่มมีฟีเจอร์ในเรื่องของ commerce ผนวกเข้าไปด้วยนะครับ เขาอาจจะพยายามปรับให้ตัว Facebook Group กลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่จะมาทำการซื้อขายกันได้ครบจบอยู่ในคอมมูนิตี้เองเลยก็ได้นะครับ
แทบไม่ใช่โซเชียลมีเดีย แต่เป็นไดเรคชั่นใหม่ในการหารายได้
ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นการเปลี่ยนไดเรคชั่นครับ แต่มันเป็นการเสริมฟีเจอร์ทำให้ประสบการณ์ในการซื้อของเนี่ยมัน seamless หรือว่าไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ก็คือเรื่องของโซเชียลคอนเนคชั่นเรื่องของการเชื่อมโยงกัน ระหว่าง คอนเทนต์ คือเอา Content เป็นตัวนำ ก็เป็น Social Content based นะครับ
ในฝั่งของ commerce เนี่ยนะครับยังไม่ได้มีฟีเจอร์ที่ทำให้การซื้อขายมันไร้รอยต่อสักทีเดียว ปกติเวลาอยากจะซื้อสินค้าบางทีในหลายๆ กรณี ก็ต้องมีการทักแชทไปหรือบางทีก็ต้อง Add LINE คุยกัน หรือต้องกดออกไปซื้อที่เว็บ กดออกไปซื้อที่มาร์เก็ตเพลสนะครับ ซึ่งมันมีแรงเสียดทานอยู่ ซึ่งแรงเสียดทานตรงนั้น มันทำให้มุมของนักช้อปเนี่ย จะหลุดโอกาสทางการซื้อขายออกไปได้นะครับ
สิ่งที่โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มจะพยายามทำก็คือ ลดแรงเสียดทาน ตรงนั้นลง ยิ่งลดลงได้เท่าไหร่มันจะเป็นผลประโยชน์ต่อ นักการตลาดหรือมุมของผู้ขายที่ลงโฆษณาให้กับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนั่นเองยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของโฆษณามันดีขึ้น ขายของดีขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่ นักการตลาด จะโยกงบโฆษณามาลงทุนกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มมากขึ้น
ผมก็ยังเชื่อว่าโมเดลรายได้หลักของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มยังคงเป็น “โฆษณา” อยู่นะครับ แต่คือทำยังไงให้ประสบการณ์มันดีมากยิ่งขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
คอมเมิร์ซจะเป็นหนึ่งในช่องทางการใช้จ่ายในอนาคต
มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซปีนี้อยู่ที่ 7 แสนล้าน ผมคาดว่าน่าจะกินสัดส่วนอยู่ประมาณสัก 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าปลีกทั้งประเทศนะครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนตรงนี้เนี่ยมันยังน้อยนักเมื่อเทียบกับมูลค่าค้าปลีกมวลรวมทั้งประเทศนะครับ
แล้วเราเมื่อเทียบกับการตลาดอย่างประเทศจีนนะครับ ที่ตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในโลกกินสัดส่วนอยู่ประมาณ 25% ถึง 30% เมื่อเทียบกับค้าปลีกต่างประเทศทำให้เห็นภาพนี้ว่าอีคอมเมิร์ซมันกินเข้าไปในพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้คน ยังไม่ถึงครึ่งเลยนะครับ ทำให้แนวโน้มที่เข้ามามีอิทธิพลไม่ใช่เฉพาะกับขั้นตอนการตัดสินใจซื้อครับ
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคมีตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหาสินค้าที่อยากจะซื้อ แล้วก็การตัดสินใจซื้อ มันเข้ามามีอิทธิพลตั้งแต่ต้นกระบวนการ การหาแรงบันดาลใจนะครับ ตั้งแต่การหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ การเปรียบเทียบ แล้วก็ตัดสินใจซื้อ ตอนนี้แนวโน้มที่มันเข้ามามีอิทธิพลที่สุดเนี่ยก็คือในขั้นการหาแรงบันดาลใจ แล้วก็การตัดสินใจนะครับ
ในการซื้อคนส่วนใหญ่ยังคงอยู่กับช่องทางออฟไลน์อยู่นะครับ แต่แนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผมก็ยังเชื่อว่าการขายสินค้าผ่านหน้าร้านมันจะไม่ได้หายไปนะ แต่มันกลับกลายเป็นว่ามันจะส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วยซ้ำนะครับ
ธุรกิจที่สามารถออกแบบประสบการณ์การซื้อให้ส่งเสริมการตัดสินใจซื้อได้ทั้งผ่านช่องทางของออนไลน์ ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งหน้าร้าน มีแนวโน้มที่จะได้ใจลูกค้าไปมากกว่าที่โฟกัสไปแค่ช่องทางใดช่องทางเดียว มันเป็นเรื่องของออมนิแชนแนลนะครับ
วิเคราะห์ปีหน้าของ 3 แพลตฟอร์ม
ในมุมของผู้เล่น marketplace 3 รายหลักๆ เนี่ยเจ้าที่แข่งขันกันดุเดือดคือ ลาซาด้ากับช้อปปี้นะครับ ผมเชื่อว่าปีหน้าเนี่ย 2 รายนี้จะยังแข่งขันกันดุเดือดอยู่ แต่ยังไม่มีใครที่แบบชิงตลาดไปแล้วก็แซงโดดไปเลย ยังเชื่อว่าจะยังกินสัดส่วนเบียดๆ กันอยู่
เหตุผลเพราะว่า Lazada มองว่าตลาดประเทศไทย เป็นตลาดที่สำคัญตลาดหนึ่งเลย ผมก็ต้องบอกว่า Lazada เสียโอกาสในตลาดใหญ่ๆ ตลาดหนึ่งไปในภูมิภาคนี้ก็คือ อินโดนีเซียนะครับ ที่โดนีเซียเนี่ยนะครับ Lazada เนี่ยคือถูก Shopee ทิ้งห่างไปเลยนะครับ ทำให้ Lazada เองจะพยายามไม่ให้เสียตลาดประเทศไทยไป ถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญตลาดหนึ่งเลย
อันดับที่ 2 Shopee เองนะครับ ก็ต้องยอมรับว่าได้โอกาสแล้วก็เป็นที่นิยมของทั้งผู้ซื้อผู้ขายในตลาดประเทศไทยนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าช้อปปี้เผาเงินเยอะมาก ขาดทุนเยอะมาก ก็เริ่มที่จะพยายามลดการขาดทุนลงไป เราก็ต้องยอมรับว่าการซื้อของผ่านมาร์เก็ตเพลสไม่ได้เป็นแค่ช่องทางเดียวที่คนไทยนิยมกัน ยังมีการซื้อผ่านช่องทาง Social commerce และมีช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็คือ Quick commerce นะครับ
Quick Commerce ก็คือการซื้อสินค้าผ่าน On demand platform ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Grab LINEMAN FoodPanda ที่ทุกวันนี้ เปิด marketplace ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ เชิญชวนให้ร้านค้าต่างๆที่เป็นร้านค้าแบบหน้าร้านเลยนะครับให้เอาสินค้าเข้ามาลง แล้วก็สามารถที่จะซื้อขายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มของตัวเองได้เลย จุดเด่นก็คือได้สินค้าเร็วนะครับ
ก็ยังเชื่อว่าแนวโน้มเนี่ย 3 ช่องทางนี้จากยังเป็นช่องทางที่น่าจับตามองแล้วก็เป็นช่องทางหลักๆ ของ e-commerce ประเทศไทยในปีหน้าครับ
กลุ่มสินค้ามาแรงที่ยังครองใจนักช้อป
ภาพรวมกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมในช่วงโควิดนี้ คือสินค้าโฮมแอนด์ลิฟวิ่งเลย ของใช้ในบ้านเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้านนะครับ เกี่ยวกับใช้ชีวิตการใช้ชีวิตที่บ้านที่ทำงานการทำบ้านให้เป็นที่ทำงานได้ แล้วก็สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพยังคงมีการเติบโตสูงเหมือนกัน
Affiliate Marketing เทรนด์โปรโมทสินค้าผ่านอินฟลูเอนเซอร์ที่มาแรง
Affilate Marketing เป็นแพลตฟอร์มที่ไพร์ซ่าเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว และเติบโตสูงมาก จากความนิยมสูงมากจากคนที่เป็น Content creator ครับ โดยเฉพาะในช่วง covid กลุ่มคนที่เป็น Content creator เติบโตเยอะมากเลย แล้วก็ช่องทางรายได้ช่องทางหนึ่งที่ Content creator สามารถพึ่งพาได้ คือ Affiliate Markteing ถ้าคอนเทนต์ของเขาสามารถโน้มน้าวใจให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทโปรโมชั่น อัพเดทเล่าเรื่องสินค้าต่างๆ แล้วให้คนตัดสินใจซื้อได้ คอนเทนต์เหล่านี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ซื้อนะครับ
และ Affilate Marketing ก็เหมือนเข้าไปเติมเต็มนะครับ ช่วยให้คนที่เป็น Content creator สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ คนที่ขายของได้จากคอนเทนต์นั้นเขาก็อยากจะสปอนเซอร์ แบ่งรายได้แบ่งกำไรไปให้กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์เหล่านั้นด้วยนะครับ Priceza Affiliate ก็เป็นแพลตฟอร์มตัวหนึ่งที่เข้ามาเสริมตรงนี้ ทำงานกับกลุ่มคนที่เป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซรีเทลเลอร์ชั้นนำต่างๆ มากมาย ก็เติบโตสูงมากสำหรับ Priceza Affiliate ครับ
วิธีการทำงาน Affiliate Marketing
วิธีการเป็นแบบนี้ครับก็คือว่ากลุ่มคนที่เป็นผู้ขายที่อยากจะขายสินค้า เขาเองก็สามารถเอาสินค้ามาทำงานกับระบบ Priceza Affiliate ซึ่ง Priceza Affilate จะเอาลิสท์สินค้าแต่ละตัว ที่คนอยากขายไปทำงานกับคนที่เป็น Content creator นะครับ
Content creator อาจจะเป็นแบบยูทูปเปอร์ อาจจะเป็นคนที่เป็น influencer ใน tiktok ใน Facebook Instagram หรือไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นบล็อกเกอร์ครับ มีเว็บไซต์ของตัวเอง เราจะไปทำงานกลุ่มคนกลุ่มนี้ ให้เขาหยิบสินค้า หยิบแคมเปญต่างๆ ไปช่วยประชาสัมพันธ์ และเมื่อเกิดการซื้อขายขึ้น Priceza Affilate ก็จะเป็นแพลตฟอร์มในการวัดผลประสิทธิภาพของการทำการตลาดตัวนี้ แล้วก็จัดสรรแบ่งรายได้ให้กับบุคคลที่เป็น Content creator
สินค้ายอดขายดีใน Priceza Affiliate
กลุ่มสินค้ายอดนิยมอันดับ 1 เลยคือ สินค้า Gadget, Smart Phone, อุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายอันนี้มาอันดับ 1 เลยครับ อันดับที่ 2 เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้านะครับ อันดับที่ 3 เป็นกลุ่มเกี่ยวกับ Home & Living ของใช้ในบ้าน จริงๆ แล้วมันคล้ายๆ กันเลยกับพฤติกรรมการช้อปปิ้ง ก็คือคนที่ชอบซื้อสินค้าอะไรในตลาดอีคอมเมิร์ซ คนไทยชอบซื้ออะไรมันก็จะดังในกลุ่ม Affiliate เช่นเดียวกัน เพราะว่ากลุ่มคนที่เป็น Affiliate ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้าจากกลุ่มที่ผู้บริโภคชอบอยู่แล้วเขาอยากจะซื้อในช่วงนี้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นแบบสุดว้าวในปี 2022
ตลาดอีคอมเมิร์ซมันพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ไม่ได้เป็นช่องทางเลือกอีกต่อไป มันเป็นช่องทางที่สำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก แทบจะทุกยี่ห้อเปิดช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นของตัวเองนะครับ ปีหน้าก็เขาเองก็จะลงทุนเพิ่มไปมากกว่าปัจจุบันอีก
สองก็คือแบรนด์นะครับ ทุกวันนี้ก็สร้างช่องทางขายของตัวเองด้วยนะครับ ทำให้ความซับซ้อนของช่องทางในการขายสินค้าเนี่ยมันเริ่มซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนะครับ ก็ยังเชื่อว่าตลาดดิจิตอลเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลจะเติบโตขึ้นอีกแน่นอนนะครับ ปีนี้น่าจะเป็น 10-11 ชั่วโมงเลย
และวัตถุประสงค์ของเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลที่ต้องจัดเน้นไปที่ conversion หรือว่ายอดขายมากขึ้น อันนี้ส่งผลไปถึงตลาดของ influencer Marketing นะครับ ที่ influencer Marketing จะเน้นในการวัดผลไปถึงเรื่องของยอดขายมากขึ้น มันเลยลิ้งค์กันนะครับมาสู่ affiliate Marketing ทำให้แบรนด์เวลาตัดสินใจจ้างก็อยากจะวัดผลได้จ่ายเงินตามผลงาน
คิดว่าปีหน้าน่าจะเป็นปีที่สำคัญของ affiliate Marketing ประเทศไทยนะครับ ที่น่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น
ทิ้งท้ายก็คิดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซนะครับ น่าจะเป็นตลาดที่เติบโตไปแน่นอน เพราะมีการขับเคี่ยวกันระหว่างแพลตฟอร์มที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะมาร์เก็ตเพลสที่นำโดยประเทศจีนแต่จะเป็นแพลตฟอร์มของฝั่งอเมริกาด้วย ไม่ว่าจะเป็น Google Search, Social Media ต่างๆ นะครับ ก็จะมีการเพิ่มฟีเจอร์เกี่ยวกับ commerce เข้ามามากยิ่งขึ้นแน่นอนในปีหน้า ก็คิดว่าช่องทางการขายจะยิ่งแตกออกไปเยอะมาก ในมุมของผู้ขายเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ก็อยู่ที่การปรับตัวแล้วก็เรียนรู้ในการปรับตัวเอาช่องทางต่างๆ มาใช้
รับชมคลิปสัมภาษณ์