ในช่วงโควิด-19 นี้ถือเป็นช่วงกราฟพุ่งของตลาด E-Commerce ในไทยอย่างมากเพราะช่วงชัตดาวน์คนอยู่บ้านกันเยอะทำให้มีโอกาสซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากนั้นได้ไม่นานเสียงของผู้ขายเริ่มดังขึ้นว่าสินค้าขายไม่ได้เลย
เหตุเกิดจากร้านค้าจีนเข้ามาเปิดร้านใน Shopee, Lazada ขายชนิดตัดราคากันจนผู้ขายชาวไทยแทบไม่ได้กำไรเลย ถ้าเอาราคาไปสู้ก็ต้องยอมขาดทุนถึงจะขายได้ ปัญหานี้เริ่มหนักข้อขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา สถานการณ์ร้ายแรงขนาดไหน ทำไมจีนถึงบุกมาและแย่งคู่แข่งไปได้ ติดตามได้ในบทความนี้เลยค่ะ
Jack Ma เริ่มบุกตลาดไทยแบบจริงจัง
ในช่วงปี 2018 แจ็คหม่าได้มีการพูดคุยกับรัฐบาลเรื่องการพัฒนา E-Commerce ในไทย ทั้งในเรื่องของสินค้าและการขนส่งหรือเรียกว่า Smart Digital Hub อย่างจริงจัง โดยรัฐเล็งเห็นว่าการร่วมลงทุนจะช่วยให้ตลาดการค้าในไทยเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในแง่ขนสินค้าออนไลน์จนถึงสินค้าภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้แพลนคาดว่าจะเปิดปี 2562 แต่ด้วยโควิดอาจจะชะล่อไปอีก
แต่ถึงแม้จะยังไม่เกิดการร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมธรรมก็ตาม ผู้ค้าในจีนก็ได้เล็งเห็นถึงตลาด E-Commerce ในไทยว่ามีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก จึงเริ่มบุกเข้ามามากขึ้น โดยการเปิดร้านค้าขายใน Shopee, Lazada ใช้เวลาส่งประมาณ 14 วันหลังจากสั่งซื้อ
ถึงแม้เราจะได้ข้อดีจากการร่วมมือครั้งนี้เป็นอย่างมากในเรื่องของการพัฒนาตลาดและขนส่ง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ขายที่รับสินค้าจีนมาขายต่ออีกทีนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะแหล่งส่งมาเปิดขายปลีกเองอย่างนี้สามารถหั่นราคาลงไปได้กว่าครึ่ง ยิ่งตลาดพรีออเดอร์เองแทบจะมีแสงริบหรี่ลงทุกวัน เพราะลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าราคาโรงงานได้เอง ไม่ต้องผ่านพรีออเดอร์แล้ว เรียกว่าความร้ายแรงนี้เริ่มเห็นได้ชัดในช่วงกลางปีที่ผ่านมาทันที
กลยุทธ์ทางราคามีผลต่อ E-Commerce อย่างมาก
ต้องเข้าใจว่าการขายบน E-Commerce จุดเด่นหลักๆ คือเรื่องของราคาที่จะถูกกว่าซื้อตามร้านทั่วไป จนเกิดอินไซต์ว่าลูกค้าจะดูของหน้าร้านแต่เลือกจะสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพราะราคาถูกกว่า มีโปรโมชั่นดีกว่า ราคาจึงเป็นปัจจัยที่อ่อนไหวอย่างมากต่อการซื้อของออนไลน์บนตลาด E-Commerce
ซึ่งการที่จีนมาเปิดช่องทางขายเอง เหมือนมาพังตลาดในไทยเช่นกัน ซึ่งถ้าให้มองง่ายๆ คือร้านขายปลีกแข่งกับร้านขายส่ง หรือถ้าจะคิดถึงต้นทุนคือ
- ร้านค้าในไทยต้นทุนคิดจาก : ราคาสินค้า + ค่านำเข้า + กำไร
- ร้านจีนที่มาเปิดช่องทางขายในไทย : ราคาสินค้า
เห็นได้ชัดว่าร้านค้าไทยเสียเปรียบทันที ถึงร้านค้าจีนจะมีค่านำเข้านิดหน่อยหรือฟรีและรอแค่ 15 วัน ทำให้แย่งตลาดผู้ขายในไทยไปได้เกือบสมบูรณ์ หรือบางคนอาจมีคำถามว่า ก็ไม่แตกต่างจากไทยนำสินค้าไปขายต่างประเทศ จริงๆ แล้วต่างนะคะ เพราะส่วนใหญ่ที่ไปขายจะเป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองหรือเฉพาะที่ไทยเท่านั้นที่ผลิตได้ แต่นี่คือบริษัทแหล่งส่งมาขายเอง เรียกว่าตอนนี้ ผู้ค้าใน E-Commerce บาดเจ็บกันระนาว
ผู้ค้าในไทยจะปรับตัวได้อย่างไร
ปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นก็คืออุปสรรคหนึ่งของการค้าขาย แค่เป็นหินก้อนใหญ่มากเท่านั้นเอง การจะหลบหลีกปัญหาร้านค้าจีนมาเปิดชนวิธีแก้อย่างแรกที่ง่ายที่สุดคือ
- ต้องสร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์ตัวเองหรือติดแบรนด์ให้สินค้า เพื่อไม่ให้ลูกค้ามองว่าสินค้านำเข้ามาจากจีน เพราะคนจะหันไปซื้อกับผู้ขายชาวจีนทันที เช่น สร้างโลโก้ สร้างดีไซน์ มี CI เป็นของตัวเอง
- ชูจุดเด่นที่แตกต่างกว่าทุกเจ้า การสร้างความแตกต่างนี้คือจุดขายหลักในทุกๆ ตลาดค้าขายอยู่แล้ว เราแค่มาเน้นย้ำให้ชัดเพื่อสร้างความน่าซื้อมากกว่าร้านจีนหรือร้านอื่นๆ เพราะจุดอ่อนของร้านค้าจีนคือ คนยังมองว่าเป็นสินค้าที่คุณภาพอาจไม่สูงมากเน้นราคาถูก เราจึงต้องชุจุดเด่นออกมาให้ชัดเพื่อให้การตัดสินใจซื้อของลูกค้าไม่ใช่ราคา วิธีง่ายๆ คือ ทำ SWOT
- อย่าใช้ภาพสินค้าจากร้านค้าจีน เพราะร้านค้าจีนก็ใช้ภาพนั้น เมื่อภาพชนกันลูกค้าจะรู้ทันทีว่าเรานำเข้ามา แล้วปสั่งจากจีนที่เป็นแหล่งส่งจะดีกว่า หรือหากจะใช้ภาพจากร้านค้าจีนพยายามไม่ให้ซ้ำร้านอื่นเยอะ
ที่กล่าวนี้เป็นวิธีหลบหลีกเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ลูกค้ามองเรื่องราคาเป็นหลักในการตัดสินใจแรกๆ แต่มองถึงจุดเด่นฟังก์ชั่นการใช้ที่เราจะนำเสนอมากกว่า
สัญญาณร้ายส่งผล
E-Commerce ในไทยปีนี้ถือว่าขึ้นสุดลงสุด กราฟสลับไปมาจนน่าตกใจแทนผู้ขายกันเลย แต่ถือว่าเป็นสัญญาณว่า E-Commerce ของไทยเติบโตขึ้นกว่าปีที่แล้วมากจริงๆ สรุปมูลค่าตลาดช่วงสิ้นปีน่าจะกระโดดกว่าปีที่แล้วเกือบสองเท่า และอาจจะมองภาพใหญ่ในระดับประเทศในส่วนของรายรับประชากรได้เช่นกันเพราะปีนี้คนหันมาเล่นตลาด E-Commerce มากขึ้นจริงๆ
ตอนนี้สเกลของ E-Commerce มีบทบาทสำคัญแล้วทิศทางของ E-Commerce จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ฉะนั้นพ่อค้าแม่ค้าทุกคนต้องติดตามข่าวสารเศรษฐกิจหรือการค้าเกี่ยวกับจีนให้มากขึ้น เพื่อวางแผนรับมือได้ทันก่อนปัญหาจะชิดตัว