ผ่านมาถึงช่วงปลายปีแล้ว แน่นอนว่าหลายผลสำรวจก็ยังคงบอกให้ทราบว่าธุรกิจค้าปลีกออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซนั้น ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และแย่งส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มค้าปลีกมาได้ต่อเนื่อง จากมูลค่ารวมกว่า 2,812 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาดหลักยังคงมาจากกลุ่ม B2B อยู่ที่ 59.56% ส่วน B2C มีส่วนแบ่งตลาดที่ 28.89% หรือ 812,612.68 ล้านบาท แต่ตัวเลขในกลุ่ม B2C นั้น มีมูลค่าเติบโตขึ้นถึง 15.54%
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังครองส่วนแบ่งสูงสุด คือ กลุ่มค้าปลีกและค้าส่ง ที่สูงถึง 869,618.40 ล้านบาท (ที่มา : ETDA) ซึ่งการเติบโตที่มีทิศทางดีอย่างต่อเนื่องนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการกระหน่ำจัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเกมชิงรางวัล ส่วนลดค่าส่ง หรือแม้แต่การจัด Flash Sale ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อได้ไวขึ้น
คุยกับ Shopee
โดยเมื่อช่วงกันยายนที่ผ่านมา ทาง Thumbsup ได้พูดคุยกับทาง อากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดช้อปปี้ เกี่ยวกับการเข้ามาของ JD Central และกลยุทธ์ในด้านการตลาดของเขา
ทั้งนี้ อากาธา เล่าว่า “Shopee” คาดการณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ซึ่งทำให้หลากหลายแบรนด์ส่งแคมเปญการตลาด และโปรโมชั่นต่างๆ ออกมากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงนี้
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ “Shopee” ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งของผู้บริโภคให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่าย ควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ขายของเราให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น แคมเปญส่งเสริมการขายตลอดทั้งปี จัดดีลร่วมกับแบรนด์พันธมิตรและตัวแทนจำหน่าย อย่าง Super Brand, Shopee Mall หรือ Official Shop รวมทั้งกิจกรรมร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการส่งเสริมการขายต่างๆ ไปจนถึงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันผู้ประกอบการทุกระดับ
คิดเห็นอย่างไร กับการเข้ามาของ JD Central
การเติบโตอย่างรวดเร็วของของตลาดอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ จึงทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มที่สูงขึ้น
ซึ่ง “Shopee” ยินดีต้อนรับผู้เล่นหน้าใหม่ทุกรายที่จะเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของไทยให้พัฒนายิ่งขึ้น
โดยนอกจากผู้ใช้งานจะได้รับประโยชน์จากการมีตัวเลือกที่หลากหลายที่สามารถเลือกสรรให้ตรงกับความต้องการแล้ว
การแข่งขันยังจะช่วยผลักดันให้ผู้เล่นแต่ละรายไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองทั้งในแง่ของเทคโนโลยี Feature การใช้งาน ตลอดจนดีลพิเศษต่างๆ อีกด้วย
คาดการณ์ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร
ประเทศไทยส่งสัญญาณบวกต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซด้วยอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การใช้งานมือถือที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างทวีคูณอย่างแน่นอน
จากรายงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยจะเติบโตถึง 3.06 ล้านล้านบาทในปีนี้ เติบโตกว่า 8.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของ “โซเชียลคอมเมิร์ซ”
แคมเปญที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นตลาดอีคอมเมิร์ซได้ดีแค่ไหนอย่างไร
จากความสำเร็จของมหกรรมลดราคาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี Shopee 9.9 Super Shopping Day ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย
ซึ่งเราได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สะเทือนวงการอีคอมเมิร์ซของเมืองไทยอีกครั้ง กับยอดคำสั่งซื้อจากทั่วทั้งภูมิภาครวมทั้งสิ้นกว่า 5.8 ล้านออเดอร์ ภายใน 24 ชั่วโมง
อาจกล่าวได้ว่าแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จในแง่ของการช่วยขับเคลื่อนการช้อปปิ้งออนไลน์ให้เป็นที่แพร่หลาย นี่คือแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของไทยอีกด้วย
ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ช้อปปี้ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ยอดดาวน์โหลดที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยในปัจจุบัน เฉพาะประเทศไทยมียอดดาวน์โหลดรวมแล้วกว่า 23 ล้านดาวน์โหลด
เทรนด์ของผู้ใช้งาน
“สมาร์ทโฟน” ในประเทศไทย นับเป็นสื่อกลางที่ทรงอิทธิพลสำหรับกิจกรรมบนโลกออนไลน์ โดยในประเทศไทย คำสั่งซื้อ (Order) ของ “Shopee” ถึง 95% มาจาก “สมาร์ทโฟน” สอดคล้องกับเทรนด์การจับจ่ายของทั้งภูมิภาค โดยมากกว่า 90% ของยอดคำสั่งซื้อ (Order) ใน 7 ประเทศ มาจาก “สมาร์ทโฟน” เช่นกัน ซึ่งเราเชื่อว่าเทรนด์นี้ยังจะคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต
เมื่อเปรียบกับปีก่อน เราจะเห็นได้ว่าจำนวนนักช้อปเพศชายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนแอพพลิเคชั่น Shopee โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์ กีฬาและกิจกรรมกลางแจ้ง และเสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย
จากผลการสำรวจโดยนีลเส็น พบว่าผู้ชายไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในความถี่ที่สูงกว่าและมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงกว่าผู้หญิงราว 15% ด้วยเหตุนี้ เรามั่นใจว่าสัดส่วนของปริมาณการจับจ่ายของนักช้อปเพศชายในประเทศจะยังคงมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น
เป้าหมายของ Shopee
เป้าหมายของเรา คือ การมุ่งมั่นสู่การเป็นจุดหมายที่ครองใจนักช้อปออนไลน์ในประเทศไทย และทั่วทั้งภูมิภาค และต่อจากนี้ เรายังจะคงมุ่นมั่นในการพัฒนาแพลตฟอร์มของเราให้สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักช้อปทุกเทศทุกวัย ตลอดจนทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ซื้อ ผู้ขาย และพันธมิตร เพื่อมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีที่สุดให้กับนักช้อปทุกคน
บทสรุปจาก Thumbsup
สำหรับ Shopee นั้น ในสายตาของผู้เขียนมองว่า มีการทำตลาดจัดโปรโมชั่นที่ต่อเนื่อง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงร้านค้ารายย่อยหน้าใหม่ได้ดี เพราะการกวาดร้านค้าหรือ SME มาไว้ในระบบมากที่สุดนั้น ย่อมเป็นโอกาสที่จะเกิดการเข้ามาซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มได้มากขึ้น
รวมทั้ง Shopee เอง ก็เป็นคนริเริ่มเปิดประตูวงการ Payment ของไทย ไม่ว่าจะเป็น COD (Cash on Delivery) สู่ Wallet ที่ผูกกับบัญชีบัตรเครดิตและเดบิต จากกราฟิกด้านล่างจะเห็นว่า การจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้านั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ซื้อ หากได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพก็สามารถปฏิเสธสินค้าชิ้นนั้นได้ ทำให้ร้านค้าต้องแพ็คของและหาสินค้าที่ได้คุณภาพ ส่งมอบให้ลูกค้า
แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลให้ผู้ขาย เพราะมีหลายเคสที่ลูกค้าจะมี “ข้ออ้าง” ในการที่จะไม่รับสินค้าหลังจากเห็นหรือทดลองแล้ว ทำให้มีการตีคืนของจำนวนมาก ผู้ขายบางรายก็มองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง แต่ก็พร้อมจะพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีขึ้นเช่นกัน
อาจมีบางแพลตฟอร์มค้านว่า Shopee “ลอก” หลายกลยุทธ์มาจาก Alibaba และ JD แต่ส่วนตัวมองว่า ช่องทางหลายอย่างมีอยู่ในตลาด แค่ Shopee กล้าเสี่ยงมาเล่นก่อนเท่านั้น พอหลายบริการเกิด “บูม” ขึ้นมา คนที่เคยมีเครื่องมือเหล่านี้ ก็ย่อม “เคลม” ว่าตนเองมาก่อน เป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซของไทย ก็ค่อนข้างได้รับการยอมรับในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมากขึ้น อาจเป็นเพราะความสะดวกที่ไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อสินค้าเอง ซึ่งพื้นที่นอกเมืองหรือต่างจังหวัดเอง การเดินทางอาจไม่สะดวก จากช่วงเริ่มต้นที่ Shopee เคยบอกว่า มีผู้ซื้อกระจุกตัวในกรุงเทพมากถึง 70% ในช่วงเปิดให้บริการระยะแรกนั้น ผ่านมา 5 ปี สัดส่วนต่างจังหวัดมีแนวโน้มที่จะโตกว่าในกรุงเทพฯ เสียแล้ว
คุยกับ LAZADA
เจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ lazada ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวงการอีคอมเมิร์ซไทย ไว้อย่างน่าสนใจ
เขามองว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย ยังคงร้อนแรงและมีศักยภาพในการเติบโต ลูกค้าส่วนใหญ่ ช้อปผ่านมือถือขณะเดินทางกันมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดียยังเป็นโอกาสท่ีน่าสนใจ
เขาซึ่งมาจาก Alibaba Group พบว่า สินค้าจากไทยก็ยังคงเป็นที่รักของชาวจีนเสมอ จากการสั่งซื้อผ่านระบบของ tmall พบว่า สินค้าไทยในกลุ่มเครื่องสำอาง อาหาร ยาและพระเครื่องยังคงเป็นที่นิยมต่อเนื่อง
ช่วงที่ LAZADA หยุดทำกิจกรรมทางการตลาดในไทยไปนั้น เป็นเพราะมีการปรับโครงสร้างภายในให้เข้ากับระบบหลังบ้านของ Alibaba มากขึ้น เพื่อให้การรับส่งข้อมูลและสินค้าทำได้อย่างราบรื่น รวมทั้งมีการลงทุนเพิ่มเติมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง เพื่อช่วยเหลือร้านค้าดั้งเดิมในการเข้ามาสู่ระบบซื้อขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซได้สะดวกขึ้น
โดยปีนี้ LAZADA จะเปิดบริการ Wallet อย่างเป็นทางการให้แก่ลูกค้าใช้จ่ายได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องยึดติดกับการมีบัตรเครดิตหรือเดบิตแบบเดิม ซึ่งปีหน้าจะเห็นการโปรโมทร่วมกับพาร์ทเนอร์มากขึ้น
แม้จะยังใช้ได้ภายในแอพ LAZADA เพียงอย่างเดียว แต่ก็หวังให้มีการขยายไปใช้งานในช่องทางต่างๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้ LAZADA ยังมั่นใจว่าตนเอง ยังคงเป็นเบอร์ 1 หรือท็อปแบรนด์ในใจของลูกค้า ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วง Early Stage ที่ LAZADA เองจะพยายาม Follow Market ให้เร็วมากขึ้น
การที่ LAZADA เข้ามาในไทย 6 ปีนั้น เรื่องของการทำกำไรยังต้องใช้เวลาผลักดันต่อเนื่องและลงทุนในสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น ทำให้ยังคงลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและกลุ่มออฟไลน์ทั้งลูกค้าและร้านค้า ให้เข้าสู่แพลตฟอร์มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในอนาคต
“สิ่งที่เรารอตอนนี้ คือ ความพร้อมทุกอย่างก่อน ทั้ง Infrastructure, Logistics, Payment เมื่อครบแล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นช่วงของการทำกำไร ซึ่งคาดว่าเมื่อแตะ 10 ปีก็ต้องได้กำไรแล้ว เช่นเดียวกับ Alibaba ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง”
บทสรุปจาก Thumbsup
การหยุดทำตลาดไปช่วงไตรมาสแรกของ LAZADA ถือว่าเป็นการเพลี่ยงพล้ำอย่างหนักหน่วง เพราะก่อนหน้านี้ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากทีมบริหารเดิม ซึ่งเน้นเรื่องการจัดโปรโมชั่นและทำตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์มาต่อเนื่อง ถือว่ารักษาฐานลูกค้าได้ดีระดับหนึ่ง
แต่หลังจากเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนทีมบริหารมาเป็นลูกหม้อ Alibaba ช่วงไตรมาสสุดท้าย เกิดช่วงเว้นว่างของการสื่อสารตลาดในไตรมาส 2 ก็ไม่มีตัวเปรียบเทียบในตลาด ทำให้ผู้ใช้งานหันหน้าไปใช้บริการ Shopee มากขึ้น รวมทั้งตอนช่วงทดลองนำสินค้าจาก Taobao เข้ามาขาย คะแนนรีวิวก็ตกต่ำมาก
ยิ่งสินค้ากลุ่มแฟชั่น เป็นสินค้าที่คนซื้อออนไลน์มากที่สุด แต่กลับเจอปัญหา “สินค้าไม่ตรงปก” ทำให้นักช้อปเปลี่ยนใจไปใช้ Shopee กันมากขึ้น ทั้งที่ข้อเสียของ Shopee คือการใช้กลยุทธ์ประกาศว่าส่งสินค้าฟรี แต่พอกดสั่งจริงกลับต้องเสียเงินค่าส่งให้ EMS ของไปรษณีย์ไทย หรือ ค่ารับสินค้าผ่าน Kerry ไปซะอย่างนั้น
คุยกับ JD.com
นอกจากนี้ Thumbsup เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับ เฉินข่าย หลิง รองประธานฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการลงทุน ผู้อำนวยการ JD.com International ซึ่งเขาเล่าเกี่ยวกับการเติบโตของ JD.com ว่า
รายได้ของบริษัทในปีที่แล้ว ทำไปได้กว่า 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างการเติบโตในปี 2017 มากกว่า 30% ถือว่าโตดีกว่า Amazon ของประเทศสหรัฐอเมริกาเสียอีก
ทั้งนี้ JD.com ตั้งมากว่า 15 ปี มีอัตราการเติบโตมากกว่า 150% ในช่วง 2 ปีหลัง มียอดผู้ใช้งานประจำ (Active User) ทุกเดือน เกิน 300 ล้านคน มีร้านค้าในระบบกว่า 1.7 แสนร้านค้า และพนักงานมากกว่า 1.7 แสนคน
ด้านโลจิสติกส์ครอบคลุม ร้อยละ 99% และจัดส่งสินค้าได้ภายในวันเดียวกันหลังกดสั่งซื้อ มีแวร์เฮ้ามากกว่า 500 แห่ง (มี 1 แห่งเป็นระบบอัจฉริยะ ไม่มีคนเลย) ซึ่งการขยายบริการให้ครอบคลุมท่ัวโลกเป็นสิ่งที่น่าสนใจและตอนนี้ไทยก็เป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญ
เช่น อินโดนีเซีย มีความร่วมมือกับทาง Go-Jek และเวียดนามร่วมกับ Viki ส่วนไทยร่วมมือกับ Central และยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งต้องการที่จะมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องกลยุทธ์ หรือการทำตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยนั้น ทางทีม JD.com จะเป็นคนจัดการทั้งหมด ส่วน JD.com จะเข้ามาเสริมในด้านของระบบหลังบ้าน เทคโนโลยีต่างๆ และสินค้าจากไทยไปขายในจีน
ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซในไทย คืออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้รูปแบบธุรกิจ จากทุกอย่างอยู่ที่ศูนย์กลาง กลายเป็นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นมากขึ้น นั่นคือ ในอนาคตค้าปลีก จะไม่มีพรมแดน
รวมทั้งวงการค้าปลีก จะมีหลายรูปแบบมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Conversation Commerce, Content Commerce , vr/ar เป็นต้น
บทสรุปจาก Thumbsup
ยอมรับตามตรงว่ายังไม่เคยลองสั่งสินค้าจาก JD Central เพราะแม้จะมีเครื่องมือหลายอย่างคล้ายกับเจ้าตลาดเดิม อย่าง Flash Sale, Coupon หรือนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย
แต่ราคาของสินค้าก็ยังนับว่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งก็ต้องลุ้นว่า จะสลัดภาพของการเป็นค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Central ออกจากช่องทางอีคอมเมิร์ซนี้ได้หรือไม่ เพราะปัญหาเดิมของ Delivery ที่ลูกค้าเคยเจอ ยังคงเป็นเรื่องเล่าขาน
เพราะแม้ว่าจะเกาะกระแสเข้ามาตอนอีคอมเมิร์ซบูมแล้ว แต่การจะดึงผู้ใช้งานให้เข้าไปสั่งซื้อหรือเลือกใช้แพลตฟอร์มไหน ก็ต้องลงทุนหนักไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ Thumbsup ยังดึงข้อมูลจาก Priceza เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของวงการอีคอมเมิร์ซ มาสรุปในกราฟิกนี้ด้วย
บทวิเคราะห์จากคน IT
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้บริหารเว็บไซต์ Blognone และ Brand Inside ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับภาพรวมอีคอมเมิร์ซของปี 2018-2019 ไว้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ซึ่ง Thumbsup จะสรุปความน่าสนใจของวงการอีคอมเมิร์ซ ผ่านสายตาของผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยี ที่กล้าตอบคำถามแบบที่คนในวงการอีคอมเมิร์ซไม่กล้าฟันธงชัดๆ
ภาพรวมอีคอมเมิร์ซ ปี 2018 ที่ผ่านมา
อิสริยะ : ปี 2018 ที่เราเห็นชัดๆ คงเป็นสองเรื่องสำคัญ คือการเข้ามาของ JD Central ซึ่งเปิดตัวปีนี้ ถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ รายที่ 3 ที่ก้าวเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซอีกรายหนึ่ง หลังจากที่ 11 Street จากเกาหลี ถอนตัวไป
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ สงครามระหว่างผู้เล่นสองรายเดิม ก็คือ LAZADA กับ Shopee ที่ต่อสู้กันดุเดือดมาก โดยเฉพาะเรื่องของค่าธรรมเนียมการขาย ซึ่งทาง Shopee มีการเปิดฟรีให้ก่อน ส่งผลต่อ LAZADA ต้องประกาศฟรีตาม ก็ทำให้การแข่งขันของอีคอมเมิร์ซปีนี้ ดุเดือดขึ้นเยอะมาก
และเมื่อบวกกับการเข้ามาของ JD Central ยิ่งทำให้กลายเป็น 3 ฝ่าย ก็ยิ่งดุเดือดขึ้นไปอีก สิ่งที่เราจับต้องได้ชัดเจนเลยเนี่ย ก็คือว่า จากเดิมเรามีเทศกาลเรื่องการลดราคาอยู่แค่ไม่กี่ครั้ง หลักๆ เลยที่เริ่มมาจากเมืองจีนคือ 11.11 แต่ว่าพอปีนี้ แทบจะทุกเดือน 8.8 9.9 10.10 11.11 และล่าสุดที่ผ่านไป 12.12 ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าอีคอมเมิร์ซต่อสู้กันดุเดือดมาก
ตลาดอีคอมเมิร์ซยังมาแรงไหม
ผมคิดว่ายังโตเรื่อยๆนะครับแน่นอนว่าตลาดใหญ่ขึ้นอัตราการเติบโตก็อาจจะช้ากว่าเดิมแต่ว่าตลาดก็ยังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆในอนาคตอันใกล้ซึ่งเราก็จะเห็นว่าเทศกาลขายของออนไลน์ยังมีสถิติใหม่เกิดขึ้นทุกปีไม่มีจุดที่มันช้าลงเลย
ปัญหาที่อาจส่งผลให้อีคอมเมิร์ซโตช้า
อิสริยะ : หลักๆเลยผมคิดว่าเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ ผมคิดว่าต้นทุนโลจิสติกส์ในเมืองไทยยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับค่าสินค้าหรือค่าใช้จ่ายโดยรวมของการสั่งสินค้าเนี่ยค่าส่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงเราคงต้องมีการจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ที่ดีกว่านี้
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีบริษัทโลจิสติกส์เกิดใหม่เยอะมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งการแข่งขันก็สูง ต้นทุนก็อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไปทางเดียวกันเราอาจต้องใช้รถขนส่ง 3-4 เจ้าเพื่อแข่งกัน พอไปถึงระยะหนึ่งตลาดเกิดการ consolidated เราอาจจะเห็นการรวมแพคเกจในเส้นทางเดียวกันเพื่อลดต้นทุนได้มากขึ้น
ทางด้านของไปรษณีย์ไทยเอง ตอนนี้ก็ประกาศแล้วว่าจะเปิดทุกวัน ก็ต้องเป็นการปรับตัวของไปรษณีย์ไทยในการแข่งขันกับบริษัทโลจิสติกส์ ที่เขาเปิด 7 วันอยู่แล้ว
อีกเรื่องหนึ่งก็คงเป็นเรื่องเพย์เม้นท์ ถ้าเทียบกับเมืองจีนอย่างที่ทราบเนี่ย โมบายเพย์เม้นท์ค่อนข้างไปได้ทุกที่จะใช้ Alipay หรือ Wechat ก็ตาม จ่ายได้แทบจะทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองจีนแล้ว
แต่ในไทยมันไม่ได้เป็นแบบนั้น คือในมุมของ User เนี่ยก็จะมี Frictionในการใช้ค่อนข้างเยอะ คือไม่สามารถใช้เพย์เม้นท์ค่ายนี้ ไปจ่ายเงินสินค้าฝ่ายตรงข้ามได้ ตอนหลังเรามีระบบอื่นๆ ที่ภาครัฐออกแบบมาให้ เช่น พร้อมเพย์เข้ามาก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ว่าภาพรวมของตลาดแล้วเนี่ย User ยังต้องลง Wallet จำนวนมากอยู่ในการซื้อสินค้าของแต่ละค่ายที่ต่างกัน คิดว่าเคสนี้ก็เป็นเคสที่ต้องพัฒนาไปอีกนะครับ
วิเคราะห์ 3 ยักษ์ อีคอมเมิร์ซ
อิสริยะ : เจ้าที่มาแรงปีนี้คือ Shopee นะครับ ซึ่งเคสของช้อปปี้เนี่ยจะเน้นแม่ค้ารายย่อยค่อนข้างเยอะ ยุทธศาสตร์ของเขา คือพยายามกวาดแม่ค้าออนไลน์ที่เคยอยู่ในช่องทางโซเชียล ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram หรือช่องทางอื่นๆ เข้ามาขายบนช่องทางของ Shopee แทน ก็เป็นยุทธศาสตร์ใช้แล้วก็ค่อนข้างเวิร์ค
ในขณะที่ LAZADA เอง หลังจากไปอยู่กับ Alibaba แล้ว ก็ไปเด่นเรื่องสินค้าจากจีน ซึ่งเขาก็จะมี Taobao Collection ซึ่งตรงนี้น่าสนใจตรงที่แม่ค้าออนไลน์จากไทยจำนวนไม่น้อยใช้วิธี Sourcing สินค้าจาก taobao อยู่แล้ว
หิ้วมาจากเมืองจีนด้วยวิธีการต่างๆ แต่ว่าพอเคสนี้ปุ๊บ มันกลายเป็นว่าพ่อค้าแม่ค้าจากเมืองจีนที่เคยขายบน Taobao อยู่แล้ว สามารถกระจายสินค้าเข้ามาผ่าน LAZADA โดยตรง ทำให้ตลาดนี้ถูก Shift มาอยู่บนแพลตฟอร์มแทน
ความน่าสนใจของ JD Central
JD Central จะโดดเด่นในเรื่องตลาดอิเลคทรอนิคส์ โดยเฉพาะในเรื่องของมือถือ พูดง่ายๆ คือในเมืองจีนคนส่วนใหญ่ซื้อมือถือใน JD แต่เมืองไทยมีช่องทางการขายอื่นๆ เยอะมาก ทั้งขายตาม Shop เอง หรือมาบุญครอง ก็เป็นความท้าทายเหมือนกันว่า JD จะสามารถใช้จุดเด่นเหมือนที่ทำในจีนกับเมืองไทยได้หรือเปล่า
โมเดลของ JD.com ที่น่าสนใจในเมืองจีน ซึ่งจะถูกยกมาใช้งานที่ไทยนั้น เด่นๆ เลยคือเรื่อง Logistics ซึ่งจะรันระบบโลจิสติกส์ของเขาเองทั้งหมด พูดง่ายๆ คือพนักงานส่งของเป็นของเขา ซึ่งเขาก็การันตีว่าจะให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าในการสั่งซื้อสินค้า เพราะว่าหลังจากสั่งซื้อสินค้าไม่ต้องลุ้นว่า ของจะมาเมื่อไหร่ สภาพดีแค่ไหน
ซึ่งผมเคยคุยกับทีม JD ที่เขายอมรับว่าก็อาจต้องใช้เวลา ช่วงแรกก็อาจจะใช้ขนส่งที่เป็นพาร์ทเนอร์กันก่อน แต่ว่าในระยะยาวก็อยากจะไปให้ถึงจุดนั้น
เป้าหมายหลักของแพลตฟอร์ม
วิธีคิดของบริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มแบบนี้เนี่ยคือ “ผู้ชนะกินรวบ”
เพราะฉะนั้น ช่วงแรกเนี่ยเขาจะไม่ต้องการทำกำไรเลย แต่สิ่งที่เขาต้องการทำคือ ขจัดคู่แข่งให้ออกจากตลาดเพื่อให้เหลือหลายเดียว พอเหลือรายเดียวปุ๊บ เขาก็จะสามารถทำกำไรชดเชยเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ
ในฝั่งของอีคอมเมิร์ซก็เหมือนกัน พูดง่ายๆ ว่าทุกคนต้องการเป็น Grab แต่ว่าสงครามยังไม่จบตอนนี้ก็ต้องประหัดประหารกันไปก่อน จนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอนตัวออกไป
ช่วงนี้ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์กับสงครามโปรโมชั่นของแต่ละฝ่ายที่ออกมาสู้กัน แต่ว่าก็อยากให้ระลึกกันไว้ว่า สงครามมีวันจบ เพราะว่าเงินมีจำกัด ถึงแม้จะมีเยอะ แต่ก็มีจำกัด ไม่มีใครสามารถทนสภาวะขาดทุนได้ตลอดกาล พูดง่ายๆ ว่าสงครามสิ้นสุดก็อาจจะเหลือเพียง 1-2 รายก็ตามตอนนั้นเนี่ยโอกาสของผู้บริโภคก็จะน้อยลงสิทธิ์เสียงก็จะลดลง
เทรนด์โมบายคอมเมิร์ซจะเกิดในไทยได้ไหม
อย่างที่เห็นกันตามข่าวว่า ในจีนโมบายเพย์เม้นท์เติบโตมากและสามารถจ่ายได้ทุกอย่างเลย หลายเคสไม่รับเงินสดด้วย ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าคนจีนสามารถปรับตัวจากสังคม Cash มาเป็น Cashless ได้เร็วมาก
ซึ่งแบงค์ไทยหลายๆ แห่งก็พยายามทำเรื่องนี้กันอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะผลักดันได้สำเร็จแค่ไหน พฤติกรรมผู้บริโภคที่ผ่านมาๆ ก็ดีขึ้น แต่จะเปลี่ยนได้เร็วเหมือนในจีนหรือเปล่าก็คงไม่ขนาดนั้น
เห็นการผลักดันการใช้งาน QR Code กันมา 3-4 ปีแล้ว ปีต่อๆไป คงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าจะไปเห็นตามร้านค้าตามย่านช้อปปิ้งต่างๆ จะมีป้าย QR Code หมดแล้ว
แสดงว่าในฝั่งของ Merchant เอง ส่วนใหญ่ก็ยอมรับแล้วล่ะแต่ในทางปฏิบัติเอง อาจจะไม่มีใครมาจ่ายเงินจนเขาต้องเอาป้ายออกหรือเปล่า ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคเองว่าจะมีพฤติกรรมอย่างไร ในการใช้จ่ายเงินผ่านโมบายคอมเมิร์ซให้แพร่หลายมากกว่านี้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเหมือนกันครับ
ภาษีออนไลน์
อยากฝากประเด็นที่สำคัญไว้คือเรื่องการเก็บภาษีแม่ค้ารายย่อยที่เป็นอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีสองด้าน คือ รัฐเองก็อยากได้ภาษี อันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ก็ตรงไปตรงมา
แต่ในอีกทางหนึ่งแม่ค้ารายย่อยที่ไม่เคยเสียภาษีมาก่อน หรือไม่เคยทำบัญชีมาก่อนแล้วพอจะเอาเข้ามาในระบบอิเลคทรอนิคส์ที่มี Record ชัดเจน ก็มีความขัดแย้งตามมา เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็คงต้องหาจุดบาลานซ์อยู่ตรงไหน ที่รัฐเองก็เก็บภาษีได้ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยก็อยู่ได้เหมือนกัน
รับชมคลิปสัมภาษณ์