Site icon Thumbsup

“ภาวุธ” ชี้เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2019 SME ไทยควรเร่งปรับตัวรับกระแสออนไลน์ งัดความเป็นไทยสู้

แม้ว่าจะยังไม่มีตัวเลขสรุปภาพรวมรายได้ของวงการอีคอมเมิร์ซในปี 2018 แต่ภาพรวมวงการอีคอมเมิร์ซปีนี้คงหนีไม่พ้นการแข่งขันจาก 3 ยักษ์อย่าง LAZADA, Shoppee, JD Central รวมทั้งการใช้จ่ายแบบวอลเลตก็จะเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานมากขึ้น แม้ว่าการเก็บภาษีออนไลน์จะเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้คนชะลอการยืนยันตัวตนและเข้าถึงการใช้จ่ายออนไลน์ก็ตาม แต่หากเอกชนยังคงทำตลาดต่อเนื่องก็อาจจะทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังเป็นไปได้ดีต่อเนื่อง เพราะ ecosystems ค่อนข้างพร้อมเกือบสมบูรณ์แบบแล้ว

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO and Founder Tarad Dot Com Group และ อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยได้ขึ้นกล่าวในงานสัมมนาหัวข้อก้าวทันก่อนใคร E-Commerce trends 2019ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกรุงเทพ เพื่อช่วยต่อยอดและขยายศักยภาพธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคที่ธุรกิจ ECommerce กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด และเป็นหนึ่งในกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และนี่คือข้อสรุปสำหรับทิศทางอีคอมเมิร์ซของปีนี้

แม้แพลตฟอร์มจะเป็นต่างชาติ แต่สินค้าไทยยังดีเสมอ

อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตขึ้น เป็นเพราะผู้ให้บริการจากต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดไทย และใช้เม็ดเงินหาศาล ซึ่งหากพวกเขาไม่เข้ามา ก็เป็นเรื่องยากที่อีคอมเมิร์ซไทยจะเกิด เพราะตลาดนี้การแข่งขันสูง ต้องใช้เงินทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐานและสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้คุ้นชินถึงจะเกิดได้จริง

เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศท่ีมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโตเป็นอันดับ 1 แต่ถ้าเอาเม็ดเงินไปหารเฉลี่ยต่อหัวต่อคนจะพบว่าประเทศสิงคโปร์ มีมูลค่าการใช้จ่ายมากสุด เพราะประชากรน้อยและใช้จ่ายสูง รองลงมา คือ ประเทศมาเลเซีย ส่วนไทยเป็นอันดับ 3

นอกจากนี้ คนไทยนิยมขายของผ่าน เว็บไซต์ตนเอง (brand.com), marketplace อย่าง Shopee และ LAZADA , รวมทั้ง Social Commerce อย่าง Facebook และ Instagram

ทำให้แนวโน้มมาร์เก็ตเพลสที่โดดเด่นตอนนี้ แบ่งเป็น 3 ค่าย เชิงการแข่งขัน J (JD Central) S (Shopee) L (Lazada) = JSL 

เมื่ออีคอมเมิร์ซบุกเต็มที่ แต่ละค่ายก็จะงัดโปรโมชั่นมาแข่งขันกัน โดยสร้างการจดจำผ่านพรีเซนเตอร์เชื่อดัง ตอนนี้มีทั้ง Blackpink, เต๋อ ฉันทวิชญ์ และ แบมแบม ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีแบบนี้

เผางบการตลาดยังไม่จบ

การทำซุปเปอร์โปรโมชั่น โดยกระตุ้นผ่านตัวเลขคู่และใช้งบมหาศาลมาช่วยกระตุ้นตลาด ยังคงมีอยู่อย่างมหาศาล เห็นได้จากตัวเลขยอดขายของ Shopee และ LAZADA เพียงวันเดียวสามารถทำเม็ดเงินการใช้จ่ายเกือบเทียบเท่ารายได้ของบริษัทใหญ่เลยทีเดียว ทำให้กลายเป็นกลยุทธ์ที่มาร์เก็ตเพลสยังคงใช้กัน แต่ 2 วันที่ไม่มีการขายเลขเบิ้ลแน่นอนคือ 1.1 กับ 3.3

ดังนั้น หากคุณเป็นเจ้าของสินค้าควรเข้าไปศึกษากลยุทธ์และใช้แพลตฟอร์มต่างๆ มาช่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อสร้างโอกาส

วอลเลตกลายเป็นช่องทางจ่ายเงินใหม่ที่ทุกค่ายต้องมีทุกแบรนด์แข่งกันเรื่องวอลเลต

เจดี เซ็นทรัล เพิ่งเปิดตัว “ดอลฟิน วอลเล็ท” ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้บริการแก่นักช้อปและผู้ใช้งานทั่วไปดยมีแผนขยายการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ได้ ณ จุดชำระเงินพร้อมเพย์ทั่วไทย พร้อมสะสมคะแนน The1 ทุกครั้งที่ใช้จ่ายผ่านดอลฟิน วอลเล็ท รวมทั้งการทำระบบสะสมแต้ม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นให้คนอยากช้อปออนไลน์มากขึ้น

ดังนั้น ปีนี้ เจดี เซ็นทรัลอาจทำตลาดดุเดือดมากขึ้นเพื่อตามคู่แข่งในตลาดให้ทัน เห็นได้จากการเข้าไปลงทุนใน Grab อาจจะตั้งเป้าเป็น ซูเปอร์ อี-วอลเล็ท’ ที่ครบรอบการใช้จ่ายผ่านแอพเดียวให้มากขึ้นก็เป็นได้

ผู้ประกอบการจีนขายตัดราคาสินค้าไทย

ผู้ประกอบการจีนเอง มองหาช่องทางในการนำสินค้าออกมาขายต่างประเทศมากขึ้น โดยมีสินค้าจีนในแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสของไทยมากถึง 80% ที่เหลือเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตเป็นชาวไทยเพียง 20% อาจกล่าวได้ว่า หากสินค้าบนแพลตฟอร์มมีทั้งหมด 50 ล้านชิ้น ของไทยมีเพียง 10 ล้านชิ้นเท่านั้น

โดยสมัยก่อนคนไทยที่ขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์เอง ก็เป็นการสต็อกของจากจีนมาขายทอดคนไทยอยู่แล้ว การที่ผู้ผลิตชาวจีนเข้ามาเล่นเองผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซของไทยเหล่านี้ อาจส่งผลเรื่องการขายตัดราคากันมากขึ้น ผู้ขายออนไลน์อาจลำบาก

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นโอกาสของผู้ผลิตสินค้าไทย หากอยากส่งสินค้าออกนอกประเทศ บนลาซาด้าหรือเจดีดอทคอมเอง ก็กำลังมองหาสินค้าไทย เข้าไปเติมเต็มความต้องการของนักช้อปชาวจีน โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ยังคงเป็นเครื่องสำอางค์ ขนมขบเคี้ยว และอาหารสด เป็นต้น

นักช้อปอยู่ที่ไหน

ผู้ขายหลายคนอาจคิดว่า นักช้อปออนไลน์ อยู่ที่ไหนกันบ้าง ผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสได้บอกว่า นักช้อปที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมีสัดส่วนอยู่ที่ 44% ที่เหลืออีก 55.9% อยู่ต่างจังหวัด ชี้ให้เห็นว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเข้าถึงสินค้าออนไลน์มากกว่า อาจเพราะเรื่องความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางเข้ามาหาซื้อสินค้าในเมืองให้ยุ่งยาก

ดังนั้น ผู้ให้บริการร้านค้าปลีกในชุมชนต้องปรับตัว เพราะตอนนี้ธุรกิจในชุมชนเริ่มอยู่ยาก หากไม่นำสินค้าเข้าไปขายบนแพลตฟอร์มอาจจะกระทบกับรายได้เดิม ซึ่งชุมชนในตอนนี้ยังคงปรับตัวไม่ทัน ก็หวังว่าภาครัฐจะเข้าไปให้ความรู้เป็นตัวกลางในการนำร้านค้าชุมชนเข้ามารู้จักกับตลาดกลางอย่างอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้น สร้างอีโคซิสเต็มส์ให้รองรับการใช้งานมากกว่าที่เป็นอยู่

ขนส่งก็แข่งดุ

นอกจากไปรษณีย์ไทยที่คนไทยนิยมใช้งานกันแล้ว มีเอกชนรายย่อยทั้งจากไทยและต่างชาติเข้ามาหาโอกาสเยอะขึ้น และปรับรูปแบบการให้บริการเป็นแบบ One Stop Service กันมากขึ้น โดยร้านค้านำสินค้าไปสต็อกไว้ที่ Warehouse เมื่อมียอดสั่งซื้อเข้ามา ระบบจะแจ้งไปที่ Fullfillment และทำการแพคของ จัดส่งสินค้าให้ปลายทางได้ทันที โดยผู้ผลิตไม่ต้องเตรียมการจัดส่งให้ยุ่งยากเพราะทางระบบจะจัดการให้เรียบร้อยทุกอย่าง ให้ผู้ผลิตโฟกัสแต่เรื่องการผลิตสินค้าให้ดีก็พอ

เว็บไซต์ตัวกลางที่เข้ามาช่วยขายของจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยปีนี้เว็บไซต์ประเภท Cash Back จะกลายมาเป็นช่องทางการช่วยขาย ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่เว็บประเภทนี้ต้องใช้งบการตลาดช่วยให้เข้าถึง ทำให้แบรนด์ขนาดเล็กและขนาดกลางยังเข้ามาใช้งานน้อย

นอกจากนี้ เว็บไซต์ตัวกลางขายสินค้าอย่าง (Dropship) กำลังมาแรงโดยธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตสามารถเข้าไปในเว็บดรอปชิพและแปะสินค้าไว้เมื่อมีการกดสั่งซื้อก็ค่อยทำการส่งสินค้าผู้ขายแทบไม่ต้องสต็อกสินค้าเลยและกำลังมีเพิ่มมากขึ้นในไทยตอนนี้ดรอปชิพสินค้าจีนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าจะมีเรื่องของภาษีออนไลน์เข้ามาเป็นตัวฉุดกระแสการเติบโตของวงการอีคอมเมิร์ซ แต่ก็มีแง่มุมที่ดีหากคนไทยจดทะเบียนเข้าระบบอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยลดการขายตัดราคาสินค้าอย่างรุนแรงและเม็ดเงินก็จะเข้าประเทศไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสม การค้าขายก็จะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เพียงแต่ภาครัฐก็ควรที่จะมีการอบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการในการนำไปใช้ต่อยอดและสร้างโอกาสทางการค้าอย่างเหมาะสมด้วย

ดังนั้น ธุรกิจไม่ว่าจะระดับใด ก็ไม่ควรประมาทเรื่องออนไลน์ เพราะโอกาสใหม่กำลังเข้ามาสู่ประเทศไทย และทุกคนก็ควรให้ความสนใจ เพราะที่ใดมีโอกาสที่นั่นย่อมมีคู่แข่ง