iPrice บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สรุปสงครามอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ที่บอกให้รู้ว่าสงครามนี้ยังไม่จบ เพราะ Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซยังคงทุ่มเงินอย่างมหาศาลเพื่อกระตุ้นตลาดในไทยให้โตอย่างต่อเนื่อง
โดยการประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา Alibaba เพิ่มเงินลงทุนใน Lazada กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรุกตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแต่งตั้ง CEO คนใหม่อย่าง Lucy Peng ซึ่งเป็น 1 ใน 18 ผู้ก่อตั้งบริษัท Alibaba ซึ่งเข้ามาแทนที่ CEO คนเก่าอย่าง Max Bittner ซึ่งผันตัวไปดำรงตำแหน่ง Senior Adviser ของ Alibaba
การลงทุนเพิ่มของ Alibaba ในบริษัท Lazada ในครั้งนี้ เป็นการขีดเส้นใต้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทาง Alibaba มองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขึ้นเป็นแถบประเทศที่สำคัญต่อการเติบโตของบริษัท
บริษัท iPrice จึงได้จัดทำการศึกษาเปรียบเทียบการแข่งขันของบริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยชนต่างประเทศขึ้น โดยได้ทำการเก็บข้อมูล Traffic และ Social Media ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2560 ในการศึกษาที่ชื่อว่า The Map of eCommerce หรือ สงครามอีคอมเมิร์ซ และพบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ย traffic ของร้านค้าอีคอมเมิร์ซโตกว่า 70% จากไตรมาสที่ 2 กล่าวคือร้านค้าอีคอมเมิร์ซมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าชมอย่างรวดเร็วในช่วง 9 เดือน ซึ่งในช่วงปลายปีที่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น
Chilindo แบรนด์ไทยหนึ่งเดียวที่หวังงัดข้อ Lazada
Chilindo เป็นแบรนด์อีคอมเมิร์ซที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยโดยคุณ Caspar Bo Jensen ซึ่งบริษัทมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซอื่นๆอย่างสิ้นเชิง โดยมุ่งเน้นการขายสินค้าในรูปแบบประมูล โดยผู้บริโภคนั้นสามารถประมูลสินค้าเริ่มต้นเพียง 1 บาท
Chilindo มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 2 บริษัทอยู่อันดับที่ 4 โดยมี traffic อยู่ที่ 3,056,000 ครั้งต่อเดือน, ไตรมาสที่ 3 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 โดยมี traffic 11,916,883 ต่อเดือน และไตรมาสล่าสุด Chilindo ขึ้นเป็นอันดับที่สอง รองจาก Lazada ยักษ์ใหญ่ โดยมี traffic 13,484,858 ครั้งต่อเดือน
คุณ Caspar CEO บริษัท Chilindo กล่าวว่า “บริษัท Chilindo ได้ประโยชน์จากการกลับมาใช้บริการของลูกค้าเก่าอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราคาดว่าการเติบโตนี้จะสูงขึ้นในปี 2018 โดยแผนการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่ม traffic และจำนวนผู้ใช้งานรายใหม่ สุดท้ายแล้ว ทางบริษัทเชื่อในเรื่องของการพัฒนาสินค้า บริษัทใช้เวลากว่า 4 ปีในการพัฒนาเว็บ Chilindo ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในแผนก็คือการขยายตลาดไปยังประเทศมาเลเซียและเวียดนามในปี 2017”
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเปรียบเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติอย่าง Lazada ที่ครองตำแหน่งที่หนึ่งในด้าน traffic ตลอดปีที่ผ่านมา ล่าสุด Lazada มี traffic สูงถึง 75 ล้านครั้งต่อเดือน จึงถือว่าไม่ง่ายเลยที่บริษัทอื่น ๆ หรือแม้กระทั่ง Chilindo จะตีเสมอในเร็ว ๆ นี้
Shopee ขึ้นที่หนึ่งแซง Lazada บน App Store
สองยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาจากต่างประเทศอย่าง Lazada และ Shopee ก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดตลอดมา แต่ถ้าหากพูดถึง Shopee แล้วนั้น ก็คงจะต้องพูดถึงการโฟกัสในระบบแอพพลิเคชั่นมากกว่าถึงจะแฟร์สำหรับเกมนี้
Shopee ให้ความสำคัญกับระบบแอพพลิเคชั่นมากกว่า เนื่องจากว่าผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ใหม่ๆ นิยมซื้อสินค้าผ่านทางสมาร์ทโฟน จากข้อมูลจาก App Annie ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ถึงแม้ Shopee จะเป็นรอง Lazada ตลอดมา แต่ไตรมาสที่ 4 ก็สามารถขึ้น Rank App Store เป็นอันดับหนึ่งที่มียอดดาวน์โหลดแซงหน้า Lazada ไปได้
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างสองยักษ์ใหญ่นี้คงจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะในปีนี้ ยังมีกิจกรรมการส่งเสริมการขายจากทั้งสองบริษัทที่จะโปรโมทให้บริษัทดังเป็นพลุแตกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครบรอบวันเกิดของแต่ละบริษัท, แคมเปญ 11.11 และ 12.12 เป็นต้น
การแข่งขันในช่องทางโซเชียลมีเดีย
จากที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทางบริษัทใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแต่ละบริษัทมีกลยุทธ์ในการเลือกช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป โดยมีช่องทางหลักๆดังนี้ Facebook, Instagram, LINE
จากการศึกษาในปีที่ผ่านมาพบว่า
- Carnival แบรนด์แฟนชั่นไทยนำแบรนด์เทศใน Instagram
Instagram ไม่ได้รับความนิยมจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซมากนัก เนื่องจาก Instagram เหมาะกับร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ต้องการโชว์ภาพสินค้าแนวแฟชั่นมากกว่า ดังนั้นอีคอมเมิร์ซจึงไม่ให้ความสนใจกับช่องทางนี้
Carnival แบรนด์สตรีทแฟชั่น ให้ความสำคัญกับรูปภาพที่โพสต์บน Instagram โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของรูปภาพทั้งด้านแสง, สี และการวางสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของรองเท้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้แต่ละโพสต์จะมีการบอกรายละเอียดที่ลูกค้าต้องการอย่างชัดเจน อาทิ จำนวนสินค้า, ไซส์ และราคาของสินค้าที่วางขาย รวมถึงช่องทางในการสั่งซื้อที่สะดวก Instagram จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ Carnival ประสบความสำเร็จในการทำตลาดแฟชั่นด้วย Instagram
- Karmart ตีตื้น Lazada ใน LINE
ด้วยเป็นแบรนด์ไทยที่เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งทางด้านสินค้า และทางการรับข้อมูล Karmart เลือกใช้ LINE เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับลูกค้าคนไทย ที่นิยมใช้ LINE เป็นแอพพลิเคชั่นหลัก โดย Karmart มีผู้ติดตามใน LINE กว่า 14 ล้านคน ซึ่ง Lazada ที่มาอันดับหนึ่งนั้นมีผู้ติดตาม 20 ล้านคน
ดังนั้น ปี พ.ศ. 2561 นี้ จึงถือว่าเป็นปีที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีข่าวการลงทุนมากมายที่จะเข้ามาเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศแถบนี้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์คงตกไปอยู่ที่ผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคจะมีตัวเลือกที่มากขึ้นในแง่ของสินค้าและคุณภาพของบริการ และที่สำคัญเงินลงทุนนี้จะเสริมให้ผู้บริโภคหันเข้ามาช้อปออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็กๆ นั่นเอง