ปัจจุบันเราอาจจะได้เห็นรูปแบบใหม่ของการซื้อขายของ ที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อนๆ แทนที่จะต้องไปเดินหาซื้อของที่ต้องการ วันนี้คุณเพียงแค่เปิดคอมพิวเตอร์ แล้วค้นหาสินค้าที่ต้องการ จ่ายเงินผ่านธุรกรรมออนไลน์ จากนั้นแค่นั่งรออยู่บ้านของที่ต้องการก็จะมาส่งให้คุณถึงที่หมายเลย แน่นอนว่าเหล่านี้คือสิ่งที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า E-Commerse ซึ่งในวันนี้ดูเหมือนตัวเลขเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากธุรกิจแนวใหม่จะมีเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ไตรมาส แล้วอย่างนี้ในอนาคตเราจะได้เห็นอะไร…
ตัวเลขของยอดขายจากธุรกิจอีคอมเมิร์สมีแนวโน้มเติบโตสูงสุดขึ้นทุกปี อย่างตัวเลขล่าสุดที่สหรัฐฯ ที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ กวาดเงินไปสูงถึงประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญ (หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท) โดยคิดเป็นการเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.4 เลยทีเดียว ทั้งนี้นี่ถือเป็นปีแรกที่ยอดขายในภาคส่วนออนไลน์นี้ ทำตัวเลขแตะหลัก 5 หมื่นล้านเหรียญ (โดยไม่นับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ที่เป็นช่วงวันหยุดยาว ซึ่งจะมีการใช้จ่ายเยอะที่สุดในรอบปี)
ทั้งนี้หากเทียบกับตัวเลขประมาณการของผู้บริโภคที่อาศัยการซื้อของผ่านช่องทางนี้ประมาณ 2 ล้านราย (เฉพาะที่เก็บข้อมูลได้) ก็เท่ากับมีค่าเฉลี่ยของการซื้อของในไตรมาสที่ผ่านมามากถึงคนละ 25,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 750,000 บาท) เลยทีเดียวครับ
ในบ้านเราเอง ปัจจุบันก็จะพบว่ามีร้านค้าออนไลน์ให้บริการอยู่มากมาย โดยผ่านเว็บไซต์หลักๆ อย่าง Tarad.com หรือ Weloveshopping.com นอกจากนี้ในโลกสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คเอง ก็มีการเปิดหน้าขายสินค้ากันอยู่ให้พบเห็นกันบ่อยครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่าในบ้านเราเองก็ไม่ได้เป็นแค่กระแสที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ทุกคนใช้งานอีคอมเมิร์ซกันอย่างจริงจัง
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ คนไทยนั้นเริ่มมองเห็นช่องทางในการค้าขายผ่านโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย ในทางกลับกัน ผู้บริโภคก็มีทางเลือกในการซื้อหาสินค้ากันได้ง่ายขึ้น คนที่ได้รับผลพลอยได้ไปเต็มๆ คงหนีไม่พ้นกรมไปรษณีย์ไทย ที่แม้ปัจจุบันคนจำนวนหนึ่งเลิกติดต่อกันผ่านช่องทางของจดหมาย แต่การส่งของทางพัสดุกลับมีมากขึ้น
น่าคิดเหลือเกินว่าตลาดออนไลน์จะมาทำลายตลาดจริงๆ ไปได้หรือไม่ หรือจะเป็นการส่งเสริมให้หน้าร้านยิ่งขายดีขึ้น เพราะร้านค้าที่มีหน้าร้านจริงก็มักจะมีร้านค้าบนโลกออนไลน์อยู่แล้วเหมือนกัน …คุณคิดยังไงกันครับ?