Site icon Thumbsup

รูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจ หลังวิกฤตโควิด-19

หลายคนน่าจะเข้าใจแล้วว่าสถานการณ์ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก IMF คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบ 7.7% และเศรษฐกิจโลกติดลบ 4.9% แต่คำถามส่วนใหญ่คือแล้วเมื่อไหร่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวและธุรกิจจะฟื้นฟูได้เร็วแค่ไหนจากภาวะชะลอตัว

การฟื้นตัวของวิกฤตเศรษฐกิจในอดีตแบ่งได้ 3 รูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบเกิดจากหลายปัจจัย อาทิเช่น อัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่ ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน พื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

1. V-Shape

แบบ V-Shape “ลงเร็ว ฟื้นเร็ว” นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะลงดิ่งต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นที่สุดจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในระยะแรกและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังจากนั้น แต่การฟื้นตัวในลักษณ์นี้มีความเป็นไปได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป บราซิล และจีนยังคงมีการแพร่ระบาดหนัก รวมถึงการยึดโยงของเศรษฐกิจหลายประเทศที่พึ่งพาการผลิต นำเข้า-ส่งออก และการท่องเที่ยว

2. U-Shape

แบบ U-Shape “หดตัวนาน ฟื้นตัวช้า” คล้ายกับรูปแบบที่หนึ่งและเป็นรูปแบบที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่ต่างกันตรงที่ระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า ทำให้ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ภายในปีนี้ และคงใช้เวลาอีกนานเพราะความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคยังไม่กลับมาโดยง่าย ผู้คนยังลังเลกับกิจกรรมนอกบ้านที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่งผลกระทบกับอุปทานเนื่องจากกำลังซื้อหายไป

3. L-Shape

แบบ L-Shape “หดตัวยาวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว” เป็นกรณีเลวร้ายสุด ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ อ้างอิงจากเหตุการณ์ในอดีตวิกฤตการเงินใช้เวลาเฉลี่ย 4 ปี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤต ขณะที่ Great Depression ใช้เวลานานถึง 10 ปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าวิกฤตการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และการผลิตวัคซีนจะสำเร็จในตอนไหน

แล้วภาคธุรกิจจะฟื้นตัวในรูปแบบไหน

โดยรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส และนโยบายจำกัดการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ สำหรับธุรกิจอื่นๆ เริ่มกลับมาเปิดบริการตามมาตรการผ่อนคลานของรัฐ แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่กลับมาเต็มที่จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลิตวัคซีนได้

1. ธุรกิจอาหาร, สินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ธุรกิจเหล่านี้จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น ผู้บริโภคสามารถปรับตัวจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์ได้

ด้านอุปทานเริ่มฟื้นตัวทั้งการผลิตและการจ้างงาน ด้านอุปสงค์ผู้บริโภคมีกำลังซื้อและความเชื่อมั่ยเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจัดการกับการแพร่ระบาดได้ดี

2. ธุรกิจยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจดังกล่าวมีการฟื้นตัวที่ช้ากว่าธุรกิจก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคกำลังฟื้นตัว จึงมองว่าเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ด้านอุปทานเองก็กระทบหนัก โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัว ซึ่งกระทบการผลิตและการจ้างงานต่อไปอีก

3. ธุรกิจการบินและท่องเที่ยว

แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนให้สามารถกลับมาให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศได้ แต่ในช่วงล็อกดาวน์ธุรกิจเหล่านี้แบกรับต้นทุนค่าเช่าสนามบิน หนี้เครื่องบิน ค่าจ้างพนักงาน ขณะที่ขาดรายได้และสภาพคล่อง กระทบต่อโครงสร้างธุรกิจอย่างหนัก

ด้านธุรกิจท่องเที่ยวแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่าง เราเที่ยวด้วยกัน(เที่ยวปันสุข) ส่งผลให้คนท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น แต่รายได้หลักจากการท่องเที่ยวก่อนหน้านี้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยวต้องปิดตัวและหลายคนต้องว่างงาน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันคือการรักษาสภาพคล่อง ลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชั่น พัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ การลงทุนในเทรนต์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่าง ซื้อขายออนไลน์ รักสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

อ้างอิง Mckinsey, BOT, Inc.