Site icon Thumbsup

ถ้าเจ้านายออกกฏให้กลับมาเข้าออฟฟิศอีกครั้ง คุณจะทำอย่างไร

หากสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คุณกำลังคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน เข้าออฟิศเพียง 3-4 วันต่อสัปดาห์ หรือทำงานนอกสถานที่ หากวันนี้เจ้านายบอกคุณว่า “ต้องกลับเข้าออฟฟิศวันละ 8 ชั่วโมงเหมือนเดิม” คุณคิดจะวางแผนชีวิตอย่างไร

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณอยู่ในสถานะของการเป็น “พนักงานหรือลูกจ้าง” ก็ย่อมอยากจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตหรือเลือกอยู่บ้าน เพื่อลดการเดินทาง ค่าใช้จ่ายระหว่างวัน หรือลดการเข้าสังคมลง เพราะบางครั้ง คนเราก็มีความรู้สึกอยากทำงานมากกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายทางสังคมจนไม่เหลือเงินในกระเป๋า

แต่หากเป็นในมุมมองของ “เจ้านายหรือเจ้าของธุรกิจ” นั้น พวกเขาย่อมอยากเห็นประสิทธิภาพของพนักงานในการทำงาน หรือ “สื่อสาร” ได้ทุกเวลาที่ต้องการ กับบางลักษณะงานมากกว่าการ “คุย” ผ่านสายโทรศัพท์หรือแชทผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่า

ยกตัวอย่าง เคสล่าสุดของ อีลอน มัสก์ ที่ประกาศชัดเจนว่า เขาอยากให้พนักงานของ Tesla / Space X กลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศหรือใช้เวลาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเป็นในส่วนของโรงงานต้องอยู่มากกว่านั้น ถ้าใครทำไม่ได้ก็ขอให้ลาออกจากบริษัท

ส่วนหนึ่งเพราะ มัสก์ มองว่า การเจอหน้ากัน การระดมสมองร่วมกันหรือแม้แต่การสื่อสารแบบเจอหน้ากันจะช่วยให้พวกเขาได้ไอเดีย ผลงาน และมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการคุยผ่านสายโทรศัพท์

มีหลายโพสต์บนทวิตเตอร์ของมัสก์ ที่บ่งบอกว่าเขากำลังโหยหาการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ และต้องการที่สร้างนวัตกรรมผ่านการสื่อสารแบบเจอตัวมากกว่าช่องทางออนไลน์ อย่างเช่น หากเหตุผลในการสร้างสินค้าจะทำให้คนนับล้านมีความสุข

หรืออีกเหตุผลคือ มัสก์รู้สึกไม่โอเคกับการเจอเด็กฝึกงานของออฟฟิศไปซื้อกาแฟในเวลางาน หรือติดกล้องวงจรปิดเพื่อจับตาดูพนักงานใช้เวลาไปกับเรื่องส่วนตัว

ขณะที่ BANPU บริษัทของไทยที่ทำงานกับทั่วโลก ปรับรูปแบบการทำงานแบบ Work-Life Harmony คือให้พนักงานเลือกจัดสรรเวลาทำงานได้เอง และยืดหยุ่นการทำงานได้ทุกที่ด้วยนโยบายแบบ Work Anywhere ที่หลายองค์กรในไทยเริ่มใช้แนวคิดนี้ เพื่อสอดรับกับเทรนด์การทำงานของคนยุคใหม่มากขึ้น

หรือแม้แต่บริษัทสตาร์ทอัปของไทยมากมายที่มีการทำงานแบบ Work Anywhere เพื่อให้พนักงานออกไปใช้ชีวิตอย่าง JITTA Wealth ที่โพสต์รูปแบบการทำงานขององค์กรที่มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่

บางทีสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดว่า การจับตามองพนักงานทุกฝีก้าว กับ การตัดสินคนจากผลงาน แบบใดถึงจะเรียกว่าเป็นการทำงานที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง