องค์กรยุคใหม่เริ่มหันมาใส่ใจในการทำอีเมล์มาร์เก็ตติ้งมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเป็นการสื่อสารกับลูกค้าที่เรามีข้อมูลในมืออย่างตรงจุด สามารถขายสินค้าหรือนำเสนอบริการ แต่ก็มีหลายแบรนด์ที่ตกม้าตายกับกลยุทธ์นี้ ทำให้กลายเป็นเพียงอีเมล์แจ้งข่าวไปจนถึงเป็นสแปมที่คนไม่อยากคลิกอ่าน
วันนี้ thumbsup จึงมีเทคนิคมาแนะนำการทำอีเมล์มาร์เก็ตติ้งให้ประสบความสำเร็จหรืออย่างน้อยก็ถูกใจคนรับและทำให้ผู้รับสนใจอีเมล์มาร์เก็ตติ้งของเรามากขึ้น
เขียนหัวข้อให้อยากคลิกอ่าน
หัวข้อตรงพาดหัวอีเมล (Heading) นับว่าเป็นสิ่งแรกที่ผู้รับพบเห็นหลังจากได้รับอีเมล ดังนั้นนักการตลาดควรมีการตั้งหัวข้อที่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และหลีกเลี่ยงข้อความที่ไร้สาระ รวมถึงควรมีการพาดหัวที่กระตุ้นความสนใจของผู้รับ เช่น ใช้การตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้รับอยากเปิดอ่านมากขึ้น อีกทั้งยังควรมีความยาวที่เหมาะสม ความยาวของหัวข้อก็ไม่ควรมีความยาวที่มากเกินไป เพราะเสี่ยงต่ออัตราการคลิกผ่าน (Click through Rate หรือ CTR) สูงสุด
เนื้อหากระชับเป็นธรรมชาติและอยากอ่านจนจบ
เป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายแต่ทำยากมากเลยนะคะ ขนาดผู้เขียนเองบางบทความที่ตั้งใจทำมากๆ ก็ยังไม่ถูกใจผู้อ่านเลย ยิ่งเราเป็นแบรนด์ยิ่งทำให้ดึงดูดคนให้อยากอ่านยากขึ้น ดังนั้น ความสำคัญในการนำเสนอบนอีเมลนั้น อาจจะต้องประกอบด้วย เนื้อหาที่สอดแทรกอาจต้องมีความบันเทิงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน รวมถึงสั้นกระชับน่าอ่าน และที่ขาดไม่ได้ คือ จะต้องมีความเป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงรูปแบบในการนำเสนอที่คล้ายกับหุ่นยนต์หรือเนื้อหาที่มักพบเห็นได้บ่อยบนอีเมลรบกวน (spam) สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ เนื้อหาที่เขียนออกมาต้องมีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน รวมทั้งควรมีเรื่องราวเรียบง่าย, ไม่ซับซ้อน, สื่อสารได้เข้าใจง่ายและตรงประเด็น
มีปุ่ม Call to action ให้กดง่ายๆ
ด้วยรูปแบบการนำเสนอข่าวสารผ่านอีเมลมาร์เก็ตติ้ง อาจจะดึงดูดใจคนอ่านได้ไม่มากนัก บางคนอ่านแค่พาดหัวหรือสัก 1 พารากราฟที่ดึงดูดใจ ดังนั้น การเพิ่มปุ่ม Call to Action อาจจะช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้รับ หรือหากผู้รับอาจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดตามอ่านบทความอื่นๆ ก็จะช่วยให้ผู้รับรู้สึกว่าเขาได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีความสมบูรณ์อย่างบล็อกและเว็บไซต์ที่ดี และดึงดูดให้ติดตามต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ทั้งเว็บไซต์ บล็อก หรือ Landing Page ก็ต้องทำให้ดีที่สุดทุกหน้าเช่นกัน
ส่งในปริมาณที่เหมาะสมอย่าถี่เกินไป
แน่นอนว่าคนทำคอนเทนต์ต่างก็อยากที่จะส่งต่อเนื้อหาของแบรนด์ให้มากที่สุด จนบางครั้งอาจลืมไปว่าในการส่งอีเมลมาร์เก็ตติ้ง ไม่ควรส่งบ่อยครั้งหรือถี่จนเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้ผู้รับเกิดความเบื่อหน่าย รู้สึกรำคาญ จนหมดความสนใจต่อแบรนด์นั้นไปโดยสิ้นเชิง รวมถึงอาจจะกลายเป็นสแปมในระบบ AI ของแพลตฟอร์มไปเลยก็ได้
ใช้ภาษาให้ถูกต้องทุกครั้ง
การสะกดคำในยุคนี้สำคัญมากเลยนะคะ ถ้าผู้รับพบเห็นความผิดพลาดของเนื้อหาที่เกิดจากการสะกดคำผิดบนอีเมลก็จะรู้สึกไม่น่าสนใจ หรือรู้สึกว่าผู้ส่งไม่ให้ความสำคัญกับการสะกดคำ และนั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเกิดทัศนคติด้านลบต่อแบรนด์ไปได้เลย ดังนั้น ควรระวังให้มาก อ่านทวนแต่ละประโยคให้บ่อย หรือเช็กตัวสะกดให้รอบคอบก่อนส่งออกทุกครั้ง
เนื้อหากระตุ้นให้อยากบอกต่อ (แชร์)
การบอกต่อหรือแชร์เป็นสิ่งท่ีไม่ว่าจะเป็นคนทำคอนเทนต์ทั่วไปหรือแบรนด์ต่างก็ต้องการมากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเลือกนำเสนอคอนเทนต์ในระบบอีเมลมาร์เก็ตติ้งและแพลตฟอร์มโซเชียลให้แตกต่างหรือคล้ายกัน ก็ย่อมเพิ่มโอกาสมองเห็นและเปิดโอกาสในการแชร์มากขึ้น
กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดก่อนส่ง
การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ก็เพื่อป้องกันการไขว้เขวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าอย่างน้อยเรามีการกำหนดเป้าหมายว่าต้องการทำ Email marketing เพื่อสร้างยอดขายให้กับสินค้าของธุรกิจ ก็ควรจะเลือกส่งอีเมลไปหากลุ่มลูกค้าเก่าที่อาจสนใจผลิตภัณฑ์แบรนด์ของเราอยู่แล้ว และพาดหัวอีเมลให้น่าสนใจ จากนั้นก็นำเสนอโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าเก่าจะช่วยดึงดูดให้ลูกค้าอยากเข้าไปดูข้อมูลอื่นๆ ของแบรนด์เราเพิ่ม แต่ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายให้ดี ส่งอีเมลแบบหว่านๆ ให้กับลิสท์รายชื่อที่เรามีทั้งหมด โดยไม่สนใจเลยว่าวัตถุประสงค์ในการทำอีเมลมาร์เก็ตติ้งคืออะไร ก็จะได้ผลตอบรับน้อยแบบไม่คุ้มค่า
นอกจากนี้ การที่เราทราบว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร หากมีการรับพนักงานใหม่หรือเปลี่ยนทีมเขียนคอนเทนต์ คนใหม่เหล่านี้จะมีคัมภีร์ข้อมูลในการทำคอนเทนต์ต่อไปในอนาคตได้ด้วย
ตอกย้ำที่มาของแบรนด์ให้ชัดเจน
การเลือกส่งด้วยอีเมล์ของแบรนด์จะเป็นการตอกย้ำว่าอีเมล์นี้ส่งมาจากแบรนด์ไหน ดังนั้นควรมีการตั้ง url ของแบรนด์ให้ชัดเจน เช่น contact@info.foodpanda.co.th, info@jd.co.th, deals@email.shopback.co.th เป็นต้น ไม่ใช่เพียงแค่อีเมลเพียงอย่างเดียว การทำอินโฟกราฟิกโดยมีโลโก้ของแบรนด์ ของแถมที่มีการสกรีนโลโก้ของแบรนด์เป็นของแถมหรือเป็นของที่เพิ่มคุณค่าสำหรับการจำหน่ายในกรณีพิเศษ ถือเป็นการสะท้อนความเป็นแบรนด์ให้แข็งแรงขึ้นเช่นกัน
อย่าขายของอย่างเดียว ต้องมีประโยชน์ด้วย
จริงอยู่ว่าแบรนด์สนใจทำอีเมล์มาร์เก็ตติ้งก็เพื่อเพิ่มโอกาสการขายสินค้า แต่ทราบหรือไม่ว่าทุกอีเมล์ที่ส่งออกไปหากมีแต่การนำเสนอโปรโมชั่น แจกส่วนลดตลอดทุกครั้ง ในฐานะคนรับก็อาจจะเมินเฉยและรู้สึกไม่อยากคลิกเข้าไปดูด้วยซ้ำ ดังนั้น หากอีเมล์ที่ส่งออกไปมีฮาวทูสนุกๆ มีเกมส์ชิงรางวัล ไปจนถึงมีกิจกรรมให้ร่วมสนุก และบทความที่น่าสนใจ ปะปนไปด้วยกับการแจกโปรโมชั่นก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะเพิ่มความสนใจของแบรนด์ได้ด้วย
ตั้งค่าการติดตามและทำ Split Testing หรือ A/B Testing
สุดท้ายสิ่งที่แบรนด์และคนทำคอนเทนต์ควรทำคือติดตามผลและเก็บสถิติว่าผู้รับสนใจในบทความของเรามากน้อยแค่ไหน เช่น เช่น อัตราการคลิกบนอีเมล, จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์, อัตราการซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้ในการวิเคราะห์ผลลัพธ์ในการทำการตลาด Split Testing หรือ A/B Testing เป็นการทดสอบสิ่งที่เราตั้งเป้าเอาไว้โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบแล้วเอาผลลัพธ์มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นจะเป็นรูปแบบที่สะท้อนความเป็นจริงให้เราทราบว่าบทความของเรานั้นตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแบรนด์ที่มีการทำ A/B Testing จะมีอัตราการเปิดอ่านสูงกว่าปกติ และยังลดอัตราการคลิกผ่านได้ด้วย