ใครที่ได้ยินชื่อซีรี่ส์เรื่อง Emily in Paris บน Netflix อาจจะมองว่าเป็นเหมือนชีวิตของสาวอเมริกันคนหนึ่งที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ปารีส เมืองแห่งแฟชั่นตามสไตล์ของ Sex and the City และวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นนักเมื่อเทียบกับชีวิตอิสระแบบคนอเมริกัน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เอมิลี่อินปารีสนั้น ทำให้เราได้เห็นถึงชีวิตการดีลงานของเอเจนซี่กับลูกค้า (ที่ไม่ได้มาง่ายๆ) รวมทั้งการปั้นโซเชียลมีเดียให้กับแบรนด์นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน
ลิลลี่ คอลลินส์ (Lily Collins) ได้ตีแผ่ชีวิตการทำงานวงการเอเจนซี่ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว แม้ว่าจุดเริ่มต้นของการมาปารีสของเธอนั้น คือการมา “แทน” หัวหน้างานที่ติดปัญหาใหญ่ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างบริษัทได้
และการมาทำงานแทนในครั้งนี้ เธอตัดสินใจแบบไม่คิดหน้าคิดหลังแค่อยากคว้าโอกาสใหม่ๆ โดยไม่ได้คิดเรื่องภาษา การปรับตัวและความสัมพันธ์เลย เพียงแค่คิดว่าอยากมาหาความก้าวหน้าและการย้ายไปอยู่ปารีสแบบไม่ได้ทำความเข้าใจอะไรมาก่อนทั้งภาษา วัฒนธรรม การใช้ชีวิตและสังคมการทำงาน ทำให้เราได้เห็นภาพการใช้ชีวิตแบบของคนทำงานแบบฝรั่งเศสและอเมริกันอย่างน่าสนใจ
หากเปรียบเทียบชีวิตการทำงานที่กิลเบิร์ตกรุ๊ปเอเจนซี่สัญชาติอเมริกันนั้น เหมือนจะเปิดกว้างเรื่องการแชร์ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกเกี่ยวกับงาน การเลื่อนตำแหน่งจากความสามารถหลังจากได้ไปทำงานในต่างประเทศมาแล้ว รวมถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าก็ตาม ดูเหมือนชีวิตเอเจนซี่ของเอมิลี่จะแฮปปี้มาก
แต่เมื่อเธอเข้าสู่การทำงานที่ซาวัวร์ เอเจนซี่สัญชาติฝรั่งเศสนั้น ทำให้เห็นชัดว่าเพื่อนร่วมงานที่นี่ไม่พร้อมต้อนรับ สาวอเมริกันจ๋าที่การแต่งตัวก็จัดเต็มทุกครั้ง และการที่เธอไม่ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการคุยกับเพื่อนร่วมงาน ยิ่งทำให้เธอกลายเป็นของแปลกในฝรั่งเศส
นั่นจึงทำให้ชีวิตการทำงานของเอมิลี่ในฝรั่งเศสไม่ใช่เรื่องง่าย และเธอต้องพยายามปั้นตัวเองให้มีตัวตนต่อหัวหน้างานที่ไม่เป็นมิตรกับเธอ ท่ีถูกมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบแสดงความคิดเห็นแบบเกินหน้าเกินตา จนไม่รับฟังความคิดของคนอื่น
รวมทั้งไม่รับฟังธรรมเนียมและวิถีการทำงานของเขา (พูดง่ายๆ คือไม่ปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน) และนั่นทำให้เอมิลี่กับหัวหน้างานในวันแรกจนถึงกลางเรื่อง ยังมีการจิกกัดกันถึงความเป็นอเมริกาที่ไม่น่ารักในสายตาของคนฝรั่งเศส
นอกจากนี้ วันแรกของการเหยียบฝรั่งเศสนั้น บัญชีอินสตาแกรมของเอมิลี่ คูเปอร์ มีผู้ติดตามเพียง 48 คนเท่านั้น แต่หลังจากเปลี่ยนชื่อบัญชีเป็น @emilyinparis แล้ว ชีวิตโซเชียลของเธอก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
วัตถุประสงค์ของการมาทำงานที่ฝรั่งเศสของเอมิลี่นั้น เน้นหนักไปที่การปั้นกลยุทธ์โซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมให้เป็นที่รู้จักและสร้างแบรนด์ผ่านอินสตาแกรม เพราะที่ฝรั่งเศสนั้นรู้จักโซเชียลมีเดียในอเมริกาอย่างทวิตเตอร์และสแนปแชทเป็นอย่างดี แต่พวกเขายังนึกภาพไม่ออกว่าการสร้างแบรนด์ผ่านอินสตาแกรมนั้นจะทำได้อย่างไรบ้าง
การสร้างแบรนด์แบบเอมิลี่นั้น คือการทำสื่อประชาสัมพันธ์และสื่อสารการตลาดให้เป็นที่รู้จักทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่ความคิดของเอมิลี่คือการทำตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ เพราะการสร้างแบรนด์ที่ดีคือการสร้างความเชื่อมโยงของโซเชียลมีเดียที่มีความหมายไม่ใช่แค่โพสต์ภาพเพื่อหวังจำนวนผู้ติดตามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงเนื้อหา ความน่าสนใจ และความมีส่วนร่วมด้วย
หากดูวิธีการโพสต์โซเชียลมีเดียของเอมิลี่นั้น จะเป็นการโพสต์ที่ค่อนข้างถี่ และแสดงความเป็นตัวตนที่แตกต่างในฝรั่งเศส ทั้งที่ในฝรั่งเศสนั้นจะมีไวน์ที่ดี อาหารที่อร่อย หรือดอกไม้ที่สวยงาม ที่การโพสต์ออกมานั้นชี้ให้เห็นว่าเธอยังมีความเป็นอเมริกันที่ตื่นเต้นกับสิ่งรอบตัวและรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ในชีวิต จนผู้ติดตามก็อยากรู้ว่าชีวิตของเธอจะไปพบเจอกับสิ่งต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน
เช่นเดียวกับการสื่อสารแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดียที่แม้ว่าคุณจะรู้ดีว่าสินค้าของคุณนั้น จุดเด่นอยู่ตรงไหน ข้อดีคืออะไร ต้นทุนสินค้าและความคุ้มค่าเมื่อซื้อมาใช้งานคืออะไร แต่ผู้บริโภคไม่ได้รับรู้สิ่งเหล่านี้กับคุณด้วย และผู้บริโภคก็ไม่ได้อยากจะรู้ข้อดีเหล่านั้นไปกับคุณ เพราะเขาจะมองว่าคุณนั้นก็เป็นเพียงแค่เจ้าของสินค้าที่อยากขายของ แต่ผู้บริโภคอยากจะรู้แค่ว่าสินค้าของคุณนั้น ดีจริงสมราคาคุยหรือเปล่า
นอกจากนี้ มีหลาย ep ที่ให้เอมิลี่ได้แสดงความสามารถและความคิดเห็นแบบอเมริกันได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายทำโฆษณาน้ำหอมให้แก่ลูกค้าโดยให้นางแบบเดินเปลือยกายผ่านหน้าหนุ่มหล่อกลางสะพานของกรุงปารีส นั่นจึงเป็นประโยคคำถามในหัวของเอมิลี่ที่ถูกสื่อออกมาว่า การทำชิ้นงานโฆษณาแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องเซ็กซี่หรือเหยียดเพศ (Sexy or Sexist) ที่สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับการแสดงออกด้านเพศ
หรือการรับรู้เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของแต่ละคน อาจมีหลายแง่มุมและสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างกันได้และการทำเป็นโพลผ่านทางโซเชียลมีเดียก็น่าจะสะท้อนแนวคิดและการมีส่วนร่วมของผู้ติดตามกับแบรนด์ได้ (แม้จะไม่ได้เห็นข้อสรุปว่าผู้ติดตามแบรนด์นำ้หอมนั้นเลือกข้อไหนก็ตาม)
ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อที่ดีสำหรับแบรนด์ที่เปิดมานานและต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ การรับฟังเสียงของลูกค้าบนโลกออนไลน์บ้าง จะช่วยให้เราทราบว่าสินค้าของเรามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงแก้ไขแม้ความคิดเห็นที่ได้มาจะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ตลาดได้ดีขึ้นว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์ยังคงตรงกับสิ่งที่เราสื่อสารไปตั้งแต่แรกหรือไม่ รวมทั้งยังช่วยให้เราได้ข้อมูลในการไปพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดได้อีกด้วย
อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่เอมิลี่ได้เข้าไปร่วมงานลิปสติก ดูเร คอสเมติก ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ แต่มีผู้ติดตามไม่มากพอที่จะได้รับสินค้าราคาแพงกลับไปใช้ในการรีวิว (ขณะนั้นมีผู้ติดตามแตะ 2 หมื่นรายแล้ว) และต้องมีการโพสต์ขั้นต่ำอย่างน้อย 5 รูปถึงจะคุ้มค่ากับราคาลิปสติก
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของแบรนด์ในการโปรโมทสินค้าแบบไม่ต้องควักเงินจ่ายแพงๆ แต่สามารถจุดกระแสในโลกออนไลน์ได้ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่จะเชื่อคำพูดจากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าเจ้าของแบรนด์
โดย เอมิลี่ ฉีกกรอบในการทำคอนเทนต์ให้แตกต่างกับคนอื่น อย่างเช่น จังหวะที่ทุกคนกำลังพรีเซนต์ความสวยงามของสีสัน แต่เอมิลี่กลับเลือกที่จะนำเสนอในประโยคที่ว่า
“ด้วยแมคคาเดเมียบัตเตอร์กับโจโจบาออยล์ ดูเร ไม่เลอะ แม้ว่าคุณจะหิวเบอรี่แค่ไหน”
จากนั้นก็โชว์การกินผลไม้ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรก็จะไม่เจอปัญหาลิปสติกเลอะมากวนใจ ถือว่าเป็นการดึงข้อดีของสินค้าอีกแง่มุมได้ดีทีเดียว เพราะจุดเล็กๆ แบบนี้ ถ้าเป็นแบรนด์สื่อสารอาจจะไม่ดึงดูดให้ลูกค้าหันมามอง
แต่ในมุมของอินฟลูเอนเซอร์ที่เปรียบเสมือนผู้ทดลองสินค้าและรู้จักดึงข้อดีของสินค้าออกมาเป็นคนพูดกลับ เป็นการนำเสนอที่ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค และช่วยให้แบรนด์ปิดการขายได้ง่ายขึ้น
ปิดท้ายด้วยเคสใหญ่อย่าง ปารีส แฟชั่นวีค ที่แน่นอนว่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของแฟชั่นที่มีมาอย่างยาวนาน ผ่านตัวละครที่ชื่อ ปิแอร์ คาดูลต์ ดีไซเนอร์รุ่นเก่าแก่ที่มีความเชื่อว่าตนเองเป็นตำนานและเป็นไอคอนสำคัญของวงการแฟชั่น ซึ่งเขามีความมั่นใจในเอกลักษณ์ของตนเองและไม่พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัย
การทำงานกับลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่หัวโบราณนั้น ไม่ควรที่จะ “เอาเรือไปขวาง” เพราะนั่นยิ่งทำให้การขัดแย้งกับลูกค้ารุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียลูกค้าไปได้ง่ายๆ แต่ควรชักแม่น้ำทั้งห้าหรือมีเหตุผลรอบด้านมารองรับ (คือต้องมีความแม่นยำเรื่องข้อมูลชัดเจนอะนะ) แสดงความเข้าอกเข้าใจและจริงใจ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราอยู่ข้างเดียวกัน
จากนั้นก็ทำการสร้างประเด็นใหม่โดยใช้จุดเด่นของลูกค้าเป็นแกนและนำเสนอแนวคิดที่ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ขัดแย้งกับแนวคิดเดิม แต่ควรเดินมาเจอกันตรงกลางและบอกข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน ถือว่าเป็นการวางแผนกลยุทธ์แบบรอบด้าน
เพราะคนหัวโบราณหรือผู้ใหญ่วัยบริหารจะเจอปัญหามาก่อนหลายมุม ดังนั้นเขาจึงต้องการความมั่นใจ และไม่อยากผิดพลาด เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อล้มแล้วลุกยาก บางคนอาจถึงขั้นเสียศูนย์ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเป็นเอเจนซี่ที่เข้าอกเข้าใจและเป็นพวกเดียวกับลูกค้า
ถึงแม้ว่าเรื่องราวของเอมิลี่จะดำเนินมาถึง ep.10 ที่มีผู้ติดตามจากหลักสิบ มาเป็นหลักหมื่น (25.3K ในภาพคู่บนเรือกับแมทธิวหนุ่มหล่อหลานชายของปิแอร์) แต่เรื่องราวความรักของเอมิลี่ก็ยังไม่จบ ชีวิตการทำงานเอเจนซี่ก็ยังมีเรื่องราวให้ต้องแก้ไขตลอดเวลา
ใครที่อยากเปิดมุมมองการทำงานใหม่ๆ ลองหามาดูกันได้ค่ะ