จ๊อบส์ ดีบี รายงานสถิติข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า ข้อมูล อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 สูงสุดในประเทศไทยเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด อยู่ที่ 1.96% จากการลดจำนวนแรงงานและฤดูกาลโยกย้ายประจำปี ในทางกลับกันความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 กลับฟื้นขึ้นมา 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 โดยมีอัตราการแข่งขันที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน
โดยกลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดยังคงเป็น
- สายงานขาย บริการลูกค้าและพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3%
- สายงานไอที คิดเป็น 14.8%
- สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0%
ในด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- กลุ่มธุรกิจประกันภัย
- กลุ่มธุรกิจการผลิต
ในขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว คิดเป็น 51%
- กลุ่มธุรกิจบริการเฉพาะกิจ คิดเป็น 22%
- กลุ่มธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็น 21%
นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยหลังวิกฤตการณ์โควิดระลอกที่ 3 และ 4 ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 พบว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อัตราการว่างงานรายไตรมาสในประเทศไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด อยู่ที่ 1.96%
ในขณะที่จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 ฟื้นขึ้นมา 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 โดยจากข้อมูลจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
- สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3%
- สายงานไอที คิดเป็น 14.8%
- สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0%
ในขณะที่กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่
- สายงานการจัดซื้อ คิดเป็น +43.0%
- สายงานขนส่ง คิดเป็น +37.4%
- สายงานประกันภัย คิดเป็น +36.4%
ในด้านการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 9.6%
- กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 6.2%
- กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 5.5%
และธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น +52.6%
- กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น +48.0%
- กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น +41.7%
นอกจากนี้ ยังพบว่า อัตราการแข่งขันลดลงในเชิงจำนวนอยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน และยอดจำนวนใบสมัครงานเพิ่มขึ้น 12%
จ๊อบส์ ดีบี ยังได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ได้ทำแบบสำรวจ “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทางานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ซึ่งมีบทสรุปรายงานด้วยกัน 3 ฉบับ ได้แก่
- “รายงานฉบับที่ 1 : Where – สถานที่ทำงานแบบไหนที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการ และการทำงานแบบเวอร์ชวล”
- “รายงานฉบับที่ 2 : How – วิถีชีวิตเปลี่ยน พนักงานต้องการทำงานแบบไหน”
- “รายงานฉบับที่ 3 : What – เจาะลึกความต้องการ งานอะไรที่คนทำงานอยากทำมากที่สุด”
โดยสำรวจความคิดเห็นคนทำงานกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ จัดทำขึ้นในช่วงปลายปี 2020 เพื่อศึกษาเทรนด์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปในหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19
จากรายงานพบว่า หลังวิกฤตโควิด คนทำงานเปลี่ยนความคิดเรื่องวิถีในการเลือกสถานที่ทำงาน โดยคนทำงานสามารถปรับตัวกับการทำงานระยะไกลได้ดีขึ้น โดยกว่า 73% ของคนทำงานเลือกที่จะทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศสลับกับการทำงานระยะไกล และความต้องการในการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา ลดลงเหลือเพียงแค่ 7%
นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยหลักที่คนทำงานให้ความสำคัญมากที่สุดในการเข้าทำงานหลังวิกฤตโควิด-19 ได้แก่
- อัตราเงินเดือนและผลตอบแทน
- ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน
- ความรู้สึกภาคภูมิใจกับงาน
ในส่วนของการเปิดรับต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่เพิ่มเติม พบว่า 71% ของคนไทยในช่วงอายุ 21 – 40 ปี มีความพร้อมในการพัฒนาทักษะเดิมและการสร้างทักษะสำหรับบทบาทงานใหม่ โดยสายงานที่ต้องการฝึกอบรมทักษะใหม่ อาทิ สายงานช่างและการผลิต สายงานสื่อและสารสนเทศ สายงานขาย ในด้านช่องทางการเรียนรู้ที่คนทำงานในประเทศไทยใช้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพมากที่สุด ได้แก่
- การสอนงานขณะปฏิบัติงาน
- การเรียนรู้ด้วยตัวเอง
- สถาบันการศึกษาออนไลน์
ยิ่งไปกว่านั้นจากวิกฤตโควิด-19 ยังได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนดัชนีเชิงบวกในการทำงาน ได้แก่
- การใช้เครื่องมือดิจิทัล อยู่ในระดับ 0.80 คะแนน
- ความร่วมมือภายในทีม อยู่ในระดับ 0.46 คะแนน
- ความยืดหยุ่นในการทำงาน อยู่ในระดับ 0.44 คะแนน
ซึ่งดีกว่าค่าคะแนนทั่วโลก รวมถึงยังพบว่าคนทำงานรุ่นใหม่จำนวน 53% จะไม่เลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่ไม่มีค่านิยมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามที่คาดหวัง และคนทำงานในภาพรวมจำนวน 63% จะไม่เลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่ไม่สนับสนุนเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศและวัฒนธรรมความเชื่อ