เรื่องของปัญหาแรงงานยังคงมีความน่าสนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะหลายสำนัก หลายโพลยังคงฟันธงกันอย่างต่อเนื่องว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่แรงงานคน นั่นยิ่งทำให้แรงงานหลายคนที่ควรจะฮึกเหิมกลับท้อและรอวันที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ วันนี้ทาง Thumbsup ได้เข้าร่วมงานสัมภาษณ์กลุ่มของ Manpower ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมแรงงานระดับโลก ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลสำรวจและความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
คุณสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทได้จัดทำผลวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการใช้เงิน การดำเนินชีวิตและความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 มีผู้ตอบกว่า 1,515 ราย และมีความถี่ร่วม (Crosstabs) ในเจนเนอเรชั่นต่างๆ ทั้ง Gen B (Baby Boomer) อายุ 54-72 ปี Gen X อายุ 39-53 ปี Gen M อายุ 21-38 ปี Gen Z อายุ 20 ปีลงไป
คนรุ่นใหม่อยากทำงานอิสระ
ทั้งนี้ พบว่า ประเภทขององค์กรที่สนใจอยากทำงานของคนยุค 4.0 คือ กิจการเจ้าของคนเดียว 49% บริษัทมหาชนจำกัด 30% ธุรกิจสตาร์ทอัพ 27%
ส่วนประเภทของธุรกิจท่ีสนใจ คือ นวัตกรรมและเทคโนโลยี 33% บริการด้านสุขภาพและสังคม 23% การศึกษา โรงแรมและภัตตาคารมีสัดส่วนที่เท่ากันคือ 20%
ทางด้านของปัจจัยที่แรงงานยุคใหม่พิจารณาก่อนเข้าร่วมงานกับองค์กร คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ 72% ลักษณะงาน 57% ชื่อเสียงองค์กรและความมั่นคง 56% ความก้าวหน้าและโอกาสในการเรียนรู้ 46% และวันหยุดหรือเวลาทำงาน 41%
นอกจากนี้ ในเรื่องของสภาพแวดล้อมด้านกายภาพที่ต้องการทำงานของคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 คงหนีไม่พ้นเรื่องของสภาพแวดล้อมที่สะอาด มีระเบียบและทันสมัยถึง 79% ตามมาด้วยความปลอดภัย 66% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ อยากให้ที่ทำงานมีสถานที่พักผ่อน ทำกิจกรรมยามว่างถึง 50% มีเครื่องดื่มให้รับประทาน 44%
ด้านอัตราเงินเดือนที่คาดหวังของคนรุ่นใหม่ จะอยู่ที่ระดับ 20,000-30,000 บาท โดยค่าเฉลี่ยของคนที่ต้องการเงินเดือนระดับนี้มากที่สุดจะเป็นช่วง Gen M ที่มีประสบการณ์ในการทำงานระดับหนึ่งแล้ว และมั่นใจในทักษะการทำงานของตนว่าจะต่อยอดและมีโอกาสเติบโตได้
ทางด้านของสวัสดอการที่ต้องการสัดส่วนหลักยังคงเป็นเรื่องของโบนัสและการปรับเงินเดือนประจำปี อยู่ที่ 87% รองลงมาคือเรื่องของประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ 81% และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 77%
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการเป็นตัวเลขสูงถึง 64% โดยเหตุผลที่พวกเขาอยากเป็นสตาร์ทอัพเพราะอยากจะมีรายได้เพิ่ม มีอิสระในการทำงาน เป็นนายตนเอง ต้องการประสบความสำเร็จ มีเวลาให้แก่ครอบครัวมากขึ้น และมีความท้าทาย โดยประเภทของธุรกิจที่พวกเขาอยากทำมากที่สุดคือ ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี ธุรกิจท่องเที่ยวและเว็บไซต์รีวิวสินค้า
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเหล่านี้ยังไม่รู้จักเรื่องของการออมเงิน ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคนยุคใหม่ เฉลี่ยที่ 10,001-15,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เพราะต้องการทำงานในเมืองจึงมีการลงทุนซื้อหรือเช่าอยู่อสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพื่อสะดวกในการเดินทาง
นอกจากนี้ การวางแผนด้านการเงิน กว่า 76% เป็นการวางแผนการออมด้วยตนเอง แต่จะออมก็ต่อเมื่อเหลือจากการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ทำให้เม็ดเงินในการออมเงินไม่ได้กำหนดแน่นอน โดยรูปแบบการออมกว่า 50% จะเป็นการออมด้วยเงินฝากประจำ ตามมาด้วยการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แต่อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่มีความใฝ่รู้ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดย 87% จะค้นคว้าข้อมูลใหม่ๆ จากอินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือ 64% และเข้าอบรมคอร์สต่างๆ ถึง 39% นี่จึงเป็นเหตุผลว่าคนรุ่นใหม่เริ่มปรับตัวและรู้ว่าควรจะหาความรู้และทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อสู้กับการแข่งขันด้านอาชีพ
เนื่องจากว่า บริษัทยุคใหม่ก็ต้องการพนักงานที่มีทักษะรอบด้าน เพื่อการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่ใช่ยึดติดกับแค่หน้าที่เดียว ส่วนตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะเดิมก็จะมองหาคนที่มีความรู้ลดลงเพื่อค่าใช้จ่ายถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานของไทยตลอดทั้งปียังมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.08% หรือ 4 แสนคนจากภาพรวมของประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานทั้งระบบกว่า 38 ล้านคน ส่วนแรงงานนอกระบบ ยังมีอีกกว่า 20 ล้านคน รวมทั้งแรงงานต่างด้าวอีก 2 ล้านคน
เมื่อถามว่า อัตราการว่างงานของไทยจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับธุรกิจเช่นภาคการผลิตเจอผลกระทบด้านเทคโนโลยี จะมีทักษะบางอย่างที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ ทำให้ต้องเพิ่มทักษะและศักยภาพรายบุคคล
โดยแรงงานยุคใหม่ ต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่ขั้นของการศึกษา เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาวางแผนอนาคตและแนวทางในการประกอบอาชีพรวมทั้งหาความรู้เสริม เพราะการแข่งขันในตลาดงานจะสูงมาก หากต้องการไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องมีทักษะและความสามารถทัดเทียมกับต่างชาติที่มีระบบการศึกษาและความสามารถรอบด้าน รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการทำงานตั้งแต่อยู่ในระดับการศึกษา
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการปรับค่าแรงจากวันละ 300 เป็นวันละ 360 บาทนั้น อาจกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่มีงบในการจ้างงานราคาสูง ยิ่งไม่ใช่งานเฉพาะด้านก็ยิ่งยากที่จะปรับอัตราค่าจ้างให้สูงขึ้น และอาจต้องให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนในด้านความช่วยเหลือต่างๆ ที่เหมาะสม เพราะหากเงินเดือนหรือค่าจ้างรายวันปรับสูงขึ้นก็ย่อมกระทบต่อภาพรวมค่าใช้จ่ายของประชาชนด้วย