มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Ericsson เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่พบว่าโลกดิจิทัลทำให้คนคาดหวังกับ “เทคโนโลยี” มากขึ้น รวมถึงยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้มากขึ้นด้วย โดยแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับผู้บริโภคในปี 2018 ตามการคาดการณ์ครั้งนี้มีประเด็นหลัก ๆ ที่น่าสนใจอยู่ 10 หัวข้อได้แก่
ผู้บริโภคยุคใหม่จะ
- มีการใช้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เสียง หรือท่าทางตามธรรมชาติเป็นตัวสั่งการเทคโนโลยีให้ตอบสนองความต้องการ
- ต้องการหูฟังที่ช่วยแปลภาษาแบบเรียลไทม์เพื่อความสามารถในการสื่อสารที่มากขึ้น
- มีความสนใจที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา และพร้อมจะลืมเรื่องที่เรียนรู้มาแล้วได้ตลอดเวลาเช่นกัน เนื่องจากสามารถกลับเข้ามาค้นหาข้อมูลนั้น ๆ ใหม่ได้ตราบเท่าที่ยังมีอินเทอร์เน็ต
- ยอมรับให้ AI เข้ามาตรวจสอบข้อมูลที่ถูกโพสต์ลงบน Social Network มากขึ้น
- พบว่าการโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นจะชาญฉลาดมากขึ้น
- แยกแยะความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรได้ยากขึ้น
- มองการใช้ชีวิตว่าจะมีหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานสร้างรายได้แทน เพื่อให้ตนเองมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น
- คาดหวังว่า เทคโนโลยี VR จะก้าวล้ำจนทำให้ตนเองสามารถเดินเข้าไปดูรูปแห่งความทรงจำเก่า ๆ ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนได้ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
- คาดหวังการเดินทางในอากาศ เช่น โดรนแท็กซี่ มากขึ้นเนื่องจากเบื่อปัญหาการจราจรในปัจจุบัน
- คาดหวังถึงแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้อย่างยาวนาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องที่ชาร์จอีกต่อไป
จากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะทำให้ “หูฟัง” มีแนวโน้มจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้งานมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปถึงระดับหนึ่ง อุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้จะเป็นฝ่ายเรียนรู้เราแทนที่เราจะต้องไปเรียนรู้อุปกรณ์เหมือนแต่ก่อน และให้การตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติกลับมาภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ มนุษย์จะรู้สึกว่าตนเองล้าหลังได้ง่าย และหลงลืมการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเห็นว่ามีอินเทอร์เน็ตอยู่ และตนเองสามารถกลับเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ข้อมูลในรายงาน 10 แนวโน้มผู้บริโภคปี 2018 เป็นการศึกษาจากห้องปฏิบัติการวิจัยผู้บริโภคของ Ericsson โดยอ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 30 ล้านราย ใน 10 เมืองทั่วโลก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Ericsson