ในช่วงโควิด-19 แบบนี้ แน่นอนว่าทุกธุรกิจย่อมเจอผลกระทบทั้งนั้น ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งธุรกิจอีเว้นท์ คือการชักชวนให้คนออกมามีส่วนร่วม แต่เจอภาวะที่คนออกจากบ้านไม่ได้แบบนี้ ก็ต้องปรับตัวและเพิ่มกิจกรรมอยากให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทดแทนการออกจากบ้าน
ทีมงาน thumbsup ได้คุยกับ คุณแม็กซ์-ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO & Founder บริษัท eventpop สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มครบวงจรสำหรับอีเว้นท์ ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานบริหารจัดการระบบแบบครบวงจร ตั้งแต่การจำหน่ายบัตร ลงทะเบียนเข้างาน ไปจนถึงการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด เกี่ยวกับธุรกิจอีเว้นท์และการปรับตัวหลังเจอวิกฤตโควิดทำให้ไม่สามารถจัดงานได้ จนต้องหาทางรอดได้อย่างน่าสนใจ
ภาพรวมอุตสาหกรรมอีเว้นท์ในปีที่ผ่านมา
คุณภัทรพร : ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่ากรุงเทพเป็นเมืองคอนเสิร์ต งานเยอะมาก มีศิลปินมาค่อนข้างเยอะ ผลตอบรับกับคนที่ร่วมงานก็ดี ส่วนเรื่องของงานอินเตอร์เนชั่นแนลก็มีผู้ร่วมงานเยอะขึ้น งานสัมมนาก็เติบโต สำหรับเราเพิ่มขึ้น 40-50% เลย และยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผลกระทบจากโควิด-19
คุณภัทรพร : เริ่มจากงานอินเตอร์เนชั่นแนลก่อน เพราะฐานลูกค้ากลุ่มหนึ่งของเราจะเป็นชาวจีนซึ่งอันนี้กระทบตั้งแต่ต้นปีละจากปัญหาที่เป็นกันทั่วโลก ทำให้การเข้าร่วมกิจกรรมจากฝั่งจีนลดลงไปตั้งแต่ต้นปี จนมาถึงช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ปกติช่วงมีนาคม-เมษายน งานของเราจะเยอะสุดเพราะเป็นวันหยุดยาว แต่ก็มีหลายกิจกรรมที่ต้องยกเลิกกันไป ทำให้หลายงานที่มีแผนจะจัดช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคมนี้ มีการยกเลิกไปค่อนข้างเยอะตอนนี้ก็น่าจะเป็นอุปสรรคที่หนักสุด สำหรับสถานการณ์นี้นะครับ
การปรับตัวของอุตสาหกรรมอีเว้นท์
คุณภัทรพร : ในกลุ่มของผู้จัดงานเอง ก็มีการปรับตัวกันครับ โดยมีความสนใจในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการจัดกิจกรรมมากขึ้น เช่นการไลฟ์สตรีมที่มีการใช้ภาพและเสียงเป็นสื่อตัวกลาง แทนที่จะให้ทุกคนมารวมตัวอยู่ที่เดียวกัน ก็ให้อยู่บ้านกัน
โดยการปรับตัวนี้ เริ่มกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ส่วนเราก็ยังทำหน้าที่เดิม คือเมื่อลูกค้าปรับตัวเราก็ทำระบบให้ลูกค้าจัดออนไลน์อีเว้นท์ได้ง่ายขึ้น โดยที่เราเริ่มจัดงานที่เป็นกลุ่มคอนเฟอร์เรนซ์ก่อน แล้วก็มีการทดลองกับงานที่เป็นเอนเตอร์เทนเม้นท์ ผลตอบรับกลับมาค่อนข้างดี และผู้จัดงานที่ปรับตัวมาทำออนไลน์อีเว้นท์ ก็สามารถนำครีเอทีฟอีเว้นท์จากเดิมที่ต้องเน้นกิจกรรมออฟไลน์ก็เอาความครีเอทีฟนั้นมาใส่บนออนไลน์ได้มากขึ้น
ทำไมผู้จัดอีเว้นท์บางคนยังไม่ปรับตัว
เมื่อธุรกิจหยุดชะงัก การปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้านั่งรอโอกาสเข้ามาก็คงต้องยาวไปถึงปีหน้า อาจส่งผลให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมอีเว้นท์เจอปัญหาใหญ่
คุณภัทรพร : ช่วงที่ผ่านมาเราคุยกับผู้จัดงานหลายร้อยราย พบว่า70% ต้องการทำออนไลน์แต่ปัญหาใหญ่ของเขาคือไม่มีคน ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับอีกอันคือไม่รู้ว่าต้องใช้งบเท่าไหร่ในการบริหารจัดการอีเว้นท์บนช่องทางออนไลน์เหล่านี้ ก็เลยยังไม่เห็นภาพการปรับตัวมากนัก
แต่ในความเป็นจริงเรื่องออนไลน์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่กล้าที่จะลงมือทำ
เอาจริงๆ ถ้ามองออนไลน์อีเว้นท์แค่เราเปิด Zoom กันแล้วเล่าเรื่องต่างๆ คุยกัน มันก็เหมือนอีเว้นท์ละ ผมว่าอุปสรรคหลักๆ ที่ผู้จัดงานเจอคือยังไม่มั่นใจว่าเราจะทำออนไลน์อีเว้นท์เพื่อบรรลุเป้าหมายได้หรือเปล่า
คุณภัทรพร : ในความคิดของผม อยากแนะนำให้เริ่มลองทำดูครับ ไลฟ์มันจะยากแค่ครั้งแรกเท่านั้นครับ พอเริ่มใช้งานเครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ที่มีเป็นเนี่ยก็จะเริ่มง่ายขึ้นแล้ว อาจจะง่ายกว่าการทำโปรดักชั่นด้วยซ้ำ
เพราะถ้าเราต้องถ่ายทำวีดีโอจริงจัง อาจต้องเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ แต่พอเป็นไลฟ์แล้วเนี่ยมันค่อนข้างยืดหยุ่นในการออกอากาศไปแล้วก็ชักชวนให้คนมาดูไปด้วย เพราะไม่มีการ take ก็แค่ปล่อยให้เรื่องราวเดินไปตามสคริปต์ที่วางไว้ ทุกอย่างอยู่ที่การจัดการหน้างานแล้ว
ประสบการณ์ทำออนไลน์ที่ไม่ลืม
คุณภัทรพร : ช่วงปรับตัวใหม่ๆ เราได้ทำ kolour on the net เป็นการทำงานร่วมกับ kolour in the park ที่เค้าจัดเฟสติวัลอยู่แล้ว โดยทำสตูดิโอในเครือของเรา
ตัวงานที่ทำออกมาโดยใช้โปรดักชั่นก็จะเป็น green screen จัดแสง ไฟเต็มที่เลย สิ่งที่พบคือเรื่องโปรดักส์ชั่นที่สื่อออกไปจะไม่เหมือนออฟไลน์อีเว้นท์ แต่เรื่องที่นำกลับมาคือการ engagement เรามีการเชิญชวนให้คนทางบ้าน VDO call เข้ามาแล้วก็ดึงภาพมาขึ้นจอ
ซึ่ง engagement ที่ได้จากคนทางบ้าน ไปในทางค่อนข้างสนุก คนที่ดูอยู่ก็ลุ้น เพราะทั้งเราและคนดูจะไม่รู้เลยว่าทีมโปรดิวซ์จะดึงอะไรขึ้นมา และภาพที่ดึงขึ้นมานั้นเขากำลังทำอะไรอยู่
การจัดกิจกรรมแบบนี้ ผมคิดว่า engagement หายไม่เยอะ แต่สิ่งที่หายไปเยอะๆ คือคุณภาพเสียงและ group experience อันนี้อาจจะหายไป แต่คิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็ทดแทนได้ด้วยลูกเล่นต่างๆ ที่เราทำกับออนไลน์อีเว้นท์ได้ครับ
ตอนนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ eventpop กำลังจะเริ่มทดลองทำ คือสิ่งที่เรียกว่า online experience เพื่อแก้ปัญหาจากโจทย์ที่เราเคยเจอก่อนหน้านี้ว่า “พอเป็นออนไลน์แล้วอาจจะไม่เหมือนกับประสบการณ์ที่เคยเจอกัน”
เราจึงเริ่มทดลองทำคอร์สสอนทำอาหาร ร่วมกับคุณ ไทกิ ที่เป็นเจ้าของ Bun Meet & Cheese และก็ Homeburg เขาจะเป็น geek เรื่องเบอเกอร์ โดยการนำวิทยาศาสตร์กับเบอเกอร์มาเจอกัน
โดยรูปแบบที่เราทำก็คือ session สอนทำอาหารพร้อมกัน 1 ชั่วโมง ก่อนเริ่ม เราจะส่งวัตถุดิบไปให้คนที่จองคอร์สเข้ามาไปส่งที่บ้านให้ครบทุกอย่างเลย พอถึงเวลาเรียนก็มาเริ่มเรียนออนไลน์พร้อมกัน
ประสบการณ์ที่เราอยากให้เกิดขึ้นเป็น two way ซึ่งตัวรูปแบบจะมีคนไม่เยอะ เต็มที่ไม่เกิน 20 คน ให้ทุกคนได้เริ่มต้นทำไปด้วยกัน เตรียมวัตถุดิบด้วยกันและกินพร้อมกัน เราจะปล่อยออกมาหลายคอร์สเลย ไม่ว่าจะเป็น สอนทำอาหาร ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้เราผ่านช่วงนี้อย่างเหน็ดเหนื่อยไปด้วยกันได้นะครับ
อีคอมเมิร์ซก็ลองทำได้แล้ว
คุณภัทรพร : นอกจากคอนเสิร์ตหรืออีเว้นท์ เรายังได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ อีกอย่างหนึ่งที่บางคนเห็นแล้ว คือ เราจับมือกับ Penguin eat shabu ขายเซ็ทชาบูพร้อมหม้อต้ม ซึ่งทางเพนกวินชาบูเอง เขาเคยทำเองแล้วเจอปัญหา inbox ถล่ม
แต่พอจัดแคมเปญโดยใช้ระบบของ eventpop แล้ว ก็ลดการเกิดปัญหาเข้าจองไม่ได้ลงไป เพราะหลังบ้านของเรารองรับการเข้ามาจองในเวลาเดียวกันได้ รวมถึงมีสื่ออื่นๆของเราที่ support ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่เห็นธุรกิจชาบูขายหมด (sold out) หลายร้อยหม้อ ภายใน 4 นาที ถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เช่นกันครับ
ทิศทางอุตสาหกรรม event ในอนาคต
คุณภัทรพร : อุตสาหกรรมอีเว้นท์เดิม เราจัดงานเพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่าง อาจจะเพื่อโปรโมทสินค้าหรือสร้างเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คือถ้าเรามองเป็นเหมือนสื่อหนึ่งรูปแบบที่ต้องการสื่อสารแมสเสจ อะไรสักอย่าง ที่ผ่านมาเราทำบนช่องทางออฟไลน์
โจทย์ที่เรามองคือ engagement คนที่เข้ามาจะมีส่วนร่วมกับงานอีเว้นท์เยอะไหม คนที่มีส่วนร่วมก็จะไม่ได้มีแค่คนจัดงาน จะมีทั้งสปอนเซอร์และคนที่ออกบูธขายของอะไรพวกนี้ครับ ซึ่งในอุตสาหกรรมเดิม เราทำเรื่องนี้ได้ค่อนข้างง่าย เพราะทุกคนมารวมตัวอยู่ในที่เดียวกัน
แต่ ณ ตอนนี้เราปรับมาเป็นออนไลน์แล้ว สิ่งที่มันยากคือทำยังไงให้เป้าหมายเดิมสามารถทำได้บนออนไลน์ ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่เราเห็นก็คือ เรื่องของประสบการณ์ หรือ engagement เอง เรายัง achieve ได้ไม่เหมือนออฟไลน์อีเว้นท์ ก็เลยทำให้การทำออนไลน์อีเว้นท์วันนี้ยังมีจุดด้อยอยู่หลายจุด
แต่ผู้จัดงานหลายคนก็เริ่มปรับตัว หาโอกาสใหม่ๆ ลูกเล่นใหม่ๆ ในการทำออนไลน์อีเว้นท์ให้น่าสนใจมากขึ้น
ปีหน้าคิดว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
คุณภัทรพร : สำหรับปีหน้านะครับ เราก็คาดว่าต้นปีทุกอย่างจะรีสตาร์ทกลับมา คาดการณ์ว่าคนจะค่อนข้างโหยหาที่จะไปร่วมงานเยอะ อยากเข้าไปอยู่ในบรรยากาศสนุกสนานอีก อยากมีส่วนร่วม คิดว่า demand ในส่วนนี้น่าจะโตขึ้นตลาดก็น่าจะฟูขึ้นมาใหม่
นอกเหนือจากนั้น ที่เรามองคือเรื่องของ new normal แล้ว เพราะว่าพฤติกรรมคนรับได้กับการเจอกันผ่านออนไลน์ ตรงนี้คิดว่าน่าจะเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง พอคนทำอีเว้นท์ออนไลน์เป็นแล้วเยอะขึ้น คอนเทนต์เรื่องการเรียนรู้ออนไลน์ หรือไลฟ์สตรีมมิ่งก็จะเยอะขึ้น
ส่วนเรื่องที่เคยเป็นอุปสรรคของบ้านเราเช่น การเดินทางที่ต้องเผชิญกับรถติด บ้านไกล หาที่จอดยากหรือรอคิวนาน คนน่าจะยอมรับและเปลี่ยนตรงนี้มากขึ้น
ต่อไปคนอาจจะเจอกันน้อยลง การประชุมถ้าไม่สำคัญจริงๆ ก็อาจจะประชุมออนไลน์ได้ น่าจะทำให้บ้านเรา productive ค่อนข้างเยอะขึ้นครับ แต่ถ้าคิดไม่ออก eventpop อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้กับผู้จัดงานได้ เพื่อ Achieve เป้าหมายของผู้จัดงานครับ
ชมคลิป
บทความนี้เป็น Advertorial
#TheZeroContentAgency