Black Friday เป็นช่วงที่ร้านค้าปลีกชื่อคุ้นหูต่างพากันนำเสนอสินค้าราคาถูกจนบัตรเครดิตในมือมันสั่นไปหมด แต่ร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่ชื่อ Everlane ทำในสิ่งที่ต่างออกไป
ร้านนี้ไม่มีอะไรลดราคา เสื้อผ้าในร้านจะถูกขายภายใต้เงื่อนไขที่ทางร้านเห็นสมควร ไม่มีการเอาแบนเนอร์ Sale ตัวเป้งๆ มาดึงดูดใจผู้ซื้อ แต่กำไรทุกบาททุกสตางค์ที่ทางร้านได้รับ จะไปถึงมือลูกจ้างในโรงงานที่ L.A. โดยตรง
Michael Preysman ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งธุรกิจกล่าวว่า “นี่คือโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือผู้คนในช่วง Black Friday เพราะถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง นโยบายของเราจะช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยมีความหมายมากขึ้น เพราะได้สร้างสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของผู้อื่น นี่คือวิธีการสร้างบาลานซ์ระหว่างการค้าและการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งมันเป็นวิถีของเรา”
ก่อนหน้านี้ Everlane เคยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมมหกรรมลดกระหน่ำในช่วง Black Friday มาแล้ว และปิดเว็บไซต์ของตัวเองไปในช่วงนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “มันเป็นแค่เกมของร้านค้าปลีกพยายามจะเอาชนะกัน” นับว่าเป็นร้านที่ใจกล้ามาก
อย่างไรก็ตาม Everlane ไม่ใช่รายแรกที่เคยปิดเว็บไซต์ในช่วงนี้ เพราะ REI ก็เคยทำเช่นกัน เหตุผลคือพวกเขาต้องการให้ผู้บริโภคออกไปข้างนอกมากกว่าที่จะเอาแต่ช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ในท้ายที่สุด Everlane ก็ตระหนักว่า การปิดแบบนี้ไม่ทำให้เกิดผลที่ตั้งใจไว้ เพราะไม่ว่าอย่างไร คนก็ยังตั้งหน้าตั้งตาช้อปอยู่ดี ถึงไม่ซื้อที่นี่ก็ต้องเป็นที่อื่น
เมื่อผู้บริโภคยังอยากช้อป Everlane ก็เลยต้องเปิดหน้าเว็บ แต่แทนที่จะเอาแต่ขายเหมือนรายอื่นๆ พวกเขากลับบริจาคกำไรกลับคืนสู่ลูกจ้าง นอกจากคนซื้อจะได้ภูมิใจกับการจับจ่ายของตัวเองแล้ว มันยังเป็นการตอกย้ำคุณค่าและจุดยืนของทางร้านด้วย
ทางบริษัทคาดว่าจะระดมทุนได้เกือบ 4 ล้านบาท ผ่านกองทุน Black Friday โดยจะนำเงินจำนวนนี้มาสร้างโปรแกรมการดูแลสุขภาพสำหรับคนทำงานในโรงงาน อาหารฟรี และคลาสสอนภาษาอังกฤษ
สำหรับอาหารฟรีของโรงงานที่นี่จะไม่เหมือนอาหารกลางวันฟรีของ Google ที่เราพอจะรู้กันบ้าง เพราะคนงานของที่นี่จะนำข้าวกล่องมาจากที่บ้าน ดังนั้น สิ่งที่ Everlane มอบให้จึงเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารแบบฟรีๆ
ปี 2014 คือปีแรกที่ Everlane เริ่มใช้นโยบายนี้ โดยเป็นการระดมเงินให้กับโรงงานผ้าไหมในหังโจว ประเทศจีน ซึ่งเป็นโรงงานที่บริษัททำสัญญาด้วย ผลที่ได้จากนโยบายนี้ก็คือ แผงโซลาร์เซลล์สำหรับอพาร์ทเมนต์ของคนงาน
“ทุกๆ ปี เราจะได้สร้างสิ่งที่ดีขึ้น มาดูกันเถอะว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน” ซีอีโอ Preysman กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : Fast Company