เป็นที่ทราบกันดีว่าโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อผู้ใช้ในวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์กับหลายภาคธุรกิจ อย่างแบรนด์ต่างๆ ก็ใช้เพื่อการตลาด การดูแลจัดการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การวางแผนกลยุทธ์ เป็นต้น และภาคสื่อสารมวลชนก็เช่นเดียวกัน เราอยู่ในยุคที่ข่าวสารต่างๆ ไหลผ่านพรั่งพรูเข้ามาทั้งบน Facebook และ Twitter ข่าวลวง ข่าวหลอก ข่าวจริง ผสมปนเปกันมากมาย สุดท้ายแล้ว “สติ” คือสิ่งที่สำคัญ
วันนี้ทีมงาน thumbsup ได้รับเกียรติจาก 3 นักข่าวดังมาแชร์ประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกในการทำงานภาคสื่อสารมวลชน ทำอย่างไรล่ะ ที่จะทำให้มัน “คุ้มค่า”
- คุณณัฏฐา โกมลวาทิน (@Nattha_ThaiPBS) บรรณาธิการข่าว/ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ ThaiPBS“
- คุณศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ (@sresuda) ผู้จัดการส่วน Social and Digital marketing และ รักษาการผู้จัดการส่วน Digital Content TV and Radio host Technology talk program MCOT
- คุณอศินา พรวศิน (@lekasina) Social Media Editor & IT reporter จาก The Nation และ Former ITPC president (2011-2012)
ทั้ง 3 ท่านเป็นผู้หญิงเก่งในแวดวงสื่อมวลชน ลองไปฟังมุมมองของทั้ง 3 ท่านและคำแนะนำดีๆ สำหรับผู้เสพสื่อ และว่าที่สื่อมวลชนมืออาชีพว่าจะใช้โซเชียลมีเดียอย่างไรให้มีประโยชน์มากที่สุด
thumbsup: โซเชียลมีเดียกับภาคสื่อสารมวลชนมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกันสักพักแล้ว ตั้งแต่ยุคที่ Twitter บูมมากๆ เมื่อหลายปีก่อน หรือ Facebook ก็เช่นเดียวกันเป็นที่เสพข่าวสารที่รวดเร็วและฉับไว ในฐานะคนในวงการสื่อสารมวลชนโดยตรง มองการเปลี่ยนแปลงของโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ที่เริ่มเข้ามาจนถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง
คุณณัฏฐา: นักข่าวใช้กันจำนวนมากขึ้น หลากหลายมากขึ้นกว่าที่เปิดให้บริการช่วงแรกๆ ด้านหนึ่งเป็นด้านดีที่ได้เห็นความเบ่งบาน และสื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญ เข้าใจบทบาทของโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมาใช้ทำงานมากขึ้น แต่เมื่อจำนวนมากขึ้นหมายถึงการแข่งขันสูงขึ้น แต่ละคนต้องสร้างเอกลักษณ์ของตนเพื่อให้เป็นที่จดจำในโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยรวมมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้นของสื่อมวลชนที่จะตัดหน้าที่การงานออกจากโซเชียลมีเดียไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้สื่อข่าว หรือกองบรรณาธิการจะใช้ประโยชน์ และ “มอบ” ประโยชน์แก่คนดู ผู้ติดตาม ได้มากน้อยขนาดไหน ตรงนี้เป็นยุทธศาสตร์ในระดับองค์กร และระดับปัจเจกที่แตกต่างกันออกไป
คุณศรีสุดา: ในตัวของโซเชียลมีเดียมีการเปลี่ยนแปลงคือ มีคนเข้ามาใช้งานมากขึ้น และถูกนำมาใช้ประโยชน์ แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าคือใคร สื่อมวลชนเอง ก็ใช้โซเชียลมีเดียในหลากหลายประโยชน์ ในยุคแรก กลุ่มคนใช้โซเชียลมีเดียคือ กลุ่มคนชอบลองสิ่งใหม่ เมื่อรู้ว่ามีเครื่องมือออนไลน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจึงหยิบมาลองโดยยังไม่รู้ว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิต และงานอย่างไร ต้องขอลองก่อน และเมื่อทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือแล้วเครื่องมือโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Twitter หรือ Facebook ก็จะถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับงานหลักเองโดยอัตโนมัติ เช่น การเปิดอ่านข่าว จากเดิมต้องเข้าเว็บไซต์ของสำนักข่าว หรือ เข้าแอปพลิเคชั่นก็เปลี่ยนมาเป็นเฝ้าติดตามผ่าน Timeline แทน และเลือกได้ที่จะติดตามข่าวจาก แหล่งข่าว, สำนักข่าว, นักข่าว , NGO, เจ้าหน้าที่, หน่วยงานภาครัฐ, หน่วยงานภาคเอกชน ฯลฯ
บางครั้งสื่อมวลชนได้ข่าวโดยเฉพาะภาพข่าวจากโซเชียลมีเดีย เช่น ข่าวไฟไหม้ ตึกถล่ม อุบัติเหตุใหญ่ๆ ที่นักข่าวเองยังไม่สามารถไปถึงสถานที่ได้ทัน แต่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ ผู้ประสบเหตุ มีเครื่องมือโซเชียลมีเดียในมือ ก็ใช้สื่อนี้เผยแพร่กระจายออกไป สื่อมวลชนที่ใช้เครื่องมือเป็นก็จะรู้วิธีการเข้าถึงแหล่งข่าวตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ Hashtag หรือ การ ดู location และ การตรวจสอบ วัน เวลา สถานที่ เกิดเหตุ ทั้งหมดนี้ สื่อมวลชนที่อยู่วงการมา 20-30 ปีก็ยังไม่สามารถใช้งานได้เชี่ยวชาญ เพราะต้องเข้าจการใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียเหล่านี้ก่อน แต่ไม่ใช้เวลามาก หากเปิดใจรับ ไม่กี่วันก็ดึงข้อดีของโซเชียลมีเดียมาใช้ได้
บางครั้งนักข่าวเองก็ใช้โซเชียลมีเดียไปกับเรื่องส่วนตัว ทั้ง การสื่อสาร กับครอบครัว เพื่อฝูง หรือ การ ดำรงชีวิตประจำวัน กิน เที่ยว ดังนั้น โซเชียลมีเดียตอบโจทย์ได้ทุกรูปแบบของชีวิต จะเรียกว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเลยก็ว่าได้ แต่จะเป็นเครื่องมือไหนนั้น มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มสังคมที่เราเกี่ยวข้องด้วย อยู่หรือใช้เครื่องมือนั้นหรือไม่ สังเกตุได้จากการ ใช้โปรแกรมสนทนา ICQ ถัดมาเป็น MSN messanger WhatsApp และ LINE เราไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่สังคมเป็นผู้เลือก คนส่วนใหญ่เป็นผู้เลือก โดยความยากง่ายของการใช้งาน เป็นเพียงปัจจัยส่วนเล็กเท่านั้น อย่างเช่น Google+ ยอมรับว่าคนไทยยังไม่ติด แต่หาก แหล่งข้อมูลอยู่ที่ Google+ เราก็จำเป็นต้องเฝ้าติดตามเพื่อให้ได้ข้อมูลนั้น เป็นต้น ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดเครื่องมือสื่อสารใดใหม่ๆ ออกมา สื่อมวลชนก็เป็นอีก วิชาชีพหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำว่าองค์กรสื่อสารมวลชน ควร จับจองทุกๆ โซเชียลมีเดียไว้ก่อน แล้วเลือกที่จะ Active เครือข่ายไหนที่เหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ
คุณอศินา: เท่าที่จำได้โซเชียลมีเดียเข้ามาในไทย และได้รับความนิยม ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางและคึกคักในแวดวงการตลาดก่อนจะเข้ามามีบทบาทในแวดวงสื่อสารมวลชน การเข้ามาของโซเชียลมีเดียในแวดวงสื่อ เริ่มจากการทดลองใช้แบบ Learning by Doing เรียนรู้ถูกเรียนรู้ผิดจากการใช้งานจริง โดยเริ่มจากนักข่าวภาคสนามมีการใช้ Twitter เพื่อการรายงานสดสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ประกอบกับการใช้ Twitter ของผู้นำประเทศ และอดีตนายฯ ยิ่งทำให้สื่อมวลชนในไทยกระโดดเข้ามาใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ Twitter และ Facebook จนปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยไปแล้ว เฉกเช่นเดียวกับสื่อมวลชนทั่วโลก
อาจกล่าวได้ว่า การประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดียของสื่อมวลชนในไทย มีการใช้เพื่องานข่าวทั้งกระบวนการตั้งแต่การหาข้อมูล การเข้าถึงแหล่งข้อมูล การเข้าถึงแหล่งข่าว การรายงานข่าว (Live tweet) และการโปรโมทข่าว (การทวิตข่าวพร้อมลิงค์ข่าวหรือลิงค์วิดีโอข่าว) รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในภาคส่วนต่างๆ ของระบบนิเวศน์ของข่าว (News Ecosystem) ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคคนรับข่าวและคนให้ข่าว
โซเชียลมีเดียทำให้นักข่าวต้องปรับปลี่ยนวิธีการทำงาน ปรับตัวและเพ่ิมทักษะการทำงานข่าวมากขึ้น เพราะโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในฐานะสื่อที่นำเสนอ ข่าวสั้นทันเหตุการณ์ หรือ Breaking News ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มใด (หนังสือพิมพ์ ทีวี หรือเว็บไซต์) จำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวเชิงลึก และนเสนอประเด็นข่าวที่มีความหลากหลายและรอบด้านครบถ้วนมากขึ้น
โซเชียลมีเดียเป็นทั้ง Opportunity และ Threat สำหรับสื่อมวลชน หากสื่อมวลชนสามารถนำโซเชียลมีเดียมาปรับใช้ในการทำงานข่าวได้อย่างเหมาะสมตลอดทั้งกระบวนการทำงานข่าวโซเชียลมีเดียก็จะเป็นเครื่องมือที่เพ่ิมประสิทธิภาพของการทำงานข่าวของสื่อมวลชนได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันไม่เฉพาะสื่อมวลชนอาชีพเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียแต่ประชาชน คนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียได้เช่นกัน ทำให้คนทั่วไปสามารถเป็น “นักข่าวพลเมือง” ได้ ในการรายงานข้อมูลจากที่เกิดเหตุ รายงานข้อมูลจากองค์ความรู้ของตน ซึ่งตรงจุดนี้ สื่อมวลชนอาชีพสามารถทำงานร่วมกับสื่อพลเมืองเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ดี โซเชียลมีเดียยังคงเป็นความท้าทายสำหรับสื่อมวลชนอยู่ เพราะความเร็วของโซเชียลมีเดียกดดันให้สื่อมวลชนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวผ่านช่องทางนี้อย่างรอบคอบ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างรอบคอบเช่นกัน
thumbsup: ปัจจุบันใช้สื่อโซเชียลมีเดียเครื่องมือใดบ้างในการทำงาน และแยกตามจุดประสงค์การใช้งานอย่างไร
คุณณัฏฐา: สำหรับดิฉันช่วงแรกเน้นการรายงานข่าว ความเคลื่อนไหวของประเด็นข่าวต่างๆ และ Retweet ผ่านทาง Twitter ทุกวันนี้ยังใช้อยู่ แต่อาจจะเป็นเพราะช่วงหลังมีผู้สื่อข่าวหลายสำนักมากขึ้น ทำให้บทบาทของเราในฐานะผู้ทวิตลดลง เน้น Retweet มากขึ้น และหาข้อมูลจาก Breaking News ของสำนักข่าวต่างประเทศมากขึ้น การรายงานช่วงหลังใช้ facebook มากขึ้น ในแง่ที่ว่าเขียนรายละเอียดได้มากขึ้น และเป็นพื้นที่พูดคุย สนทนาในประเด็นข่าวได้มากขึ้นด้วย สำหรับบทความยาวๆ ยังเขียน Blog อยู่ ก่อนจะแบ่งปันผ่านทวิตเตอร์ และ Facebook // YouTube ยังใช้อย่างสม่ำเสมอเพื่ออัพโหลดรายงาน การสัมภาษณ์ต่างๆ Instagram และ Google+ มีไว้เพื่อแชร์รูป และเนื้อหาข่าวต่างๆ
คุณศรีสุดา: ใช้ Twitter สำหรับติดตามข่าวสาร ทุกหมวดหมู่ของข่าวสาร และใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่งาน และ ข่าวสารออกไปเช่นกัน / ติดต่อแหล่งข่าวบางครั้ง
ใช้ Facebook fanpage สำหรับ เผยแพร่ข่าวสาร และ พูดคุยกับ คนดู คนฟัง หรือ คนทั่วไปที่สอบถาม เข้ามา พร้อมเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์งานอื่นๆด้วย / เป็นช่องทางรับงานด้านโซเชียลมีเดียทั่วไป ตามความเหมาะสม
– Facebook profile สำหรับ คุยกับเพื่อน ญาติ และ สิ่งที่ไม่ใช่งาน หลักๆ จะใช้สำหรับเรื่องส่วนตัว / ติดต่อแหล่งข่าว บางครั้ง
– ใช้ Instagram สำหรับประชาสัมพันธ์ และ บอกเล่าเรื่องราวด้วยรูปภาพเป็นหลัก บางครั้งใช้ส่วนตัวบ้างแต่ไม่มากเท่าการประชาสัมพันธ์ สิ่งดี มีประโยชน์และ งานประชาสัมพันธ์ ตามความเหมาะสม
– ใช้ Google+ สำหรับ ติดตามข้อมูล ข่าวสาร และ ประชาสัมพันธ์ (เหมือน Twitter+ Facebook page)
– ใช้ YouTube สำหรับ ประชาสัมพันธ์ งานที่เป็นวิดีโอทั้งหมด
– นอกจากนี้ยังมี Sound Cloud, Storify ซึ่ง ใช้สำหรับเผยแพร่คอนเทนต์
คุณอศินา: ปัจจุบันใช้ Twitter, Facebook, Instagram, Pinterest, LinkedIn, Google+, Slideshare, Storify, YouTube เพื่องานข่าว โดยมีการใช้ร่วมกันและใช้ผสมาผสานกัน
ใช้ Twitter Facebook และ Google+ เพื่อหาข้อมูลข่าว สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในระบบนิเวศน์ข่าว หาแหล่งข่าว รายงานข่าว และโปรโมทข่าว
ใช้ Instagram เพื่อ เพื่อหาข้อมูลข่าว และแหล่งข่าว
ใช้ Pinterest และ LinkedIn เพื่อโปรโมทข่าว
ใช้ Slideshare เพื่อหาข่าว และโปรโมทข่าว
ใช้ Storify เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวจาก Social Media อื่นๆ โดยเฉพาะ Twitter และ Instagram
ใช้ YouTube เพื่อหาข่าว และเพื่อรายงานข่าวในรูปแบบของคลิปวีดีโอ ทั้งรายงานสดจากเหตุการณ์ และคลิปสัมภาษณ์
thumbsup: มองอนาคตของโซเชียลมีเดียที่มีต่อภาคสื่อสารมวลชนในอีก 2-3ปี ข้างหน้าไว้อย่างไร
คุณณัฏฐา: คงจะได้เห็นนวัตกรรมที่แปลกๆ แบบคาดไม่ถึงมากขึ้น เช่น รายงานข่าวสั้นๆ เป็นคลิปเสียงภาพ ภายใน 15 วินาที อย่างที่กำลังเกิดขึ้นใน Instagram คิดว่าโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทสูงขึ้น ไม่หายไปไหน และผู้สื่อข่าว สำนักข่าว ต้องมีจินตนาการที่กว้างไกลมากขึ้น กับการใช้โซเชียลที่สำคัญที่สุดที่จะอยู่ได้นาน และเป็นเครื่องวัดความแตกต่างของแต่ละสำนักข่าว คือคุณภาพ เนื้อหา และความ “ไม่เหมือนใคร” “Original” ในงานข่าว เมื่อปริมาณนักข่าวมากขึ้น งานที่จะโดดเด่นคือความมีคุณภาพ การลงพื้นที่ และรายงานจากภาคสนาม แบบที่นักข่าวภาคสนามจะ “แจ้งเกิด” ได้ด้วยการใช้โซเชียลมีเดียให้เต็มประสิทธิภาพ โดยมีรูปแบบการรายงานที่โดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง และแสดงความเป็น “มืออาชีพ”
คุณศรีสุดา: สื่อสารมวลชนอาจมีการผลิตเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลออกมา เพื่อให้ นักข่าว บรรณาธิการ ผู้ประกาศ ฯลฯ นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง มีระบบจัดหมวดหมู่ ระบบตรวจสอบแหล่งข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลดิจิตอล ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล พวก ภาพ retouch อะไรพวกนี้เป็นต้น เมื่อข้อมูลมีมาก เครื่องมือดีๆ จะช่วยอำนวยความสะดวกได้ แต่สื่อมวลชนกับวงการอื่น อาจต้องการนำข้อมูลมาใช้คนละมุมกันดังนั้น อนาคตก็อาจจะมี เครื่องมือกรองข้อมูลบนโซเชียลเน็ตเวิร์คซึ่ง สำนักข่าวผลิตเอง จะว่าไปสำนักข่าวควรผลิตเครื่องมือพวกนี้ออกมาบ้างโดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะของวิชาชีพสื่อมวลชน
คุณอศินา: คิดว่าในอนาคตการใช้โซเชียลมีเดียในงานข่าวจะมีความเข้มข้นมากขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานข่าว และคาดว่าจะเกิดรูปแบบการใช้งานโซเชียลมีเดียในงานข่าวที่หลากหลาย และรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับตัวโซเชียลมีเดียเองด้วยว่า จะมีฟีเจอร์อะไรบ้าง และจะมีโซเชียลมีเดียตัวใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง
thumbsup: เมื่อข่าวสารบนโลกโซเชียลมีเดียถูกกระจายไปอย่างรวดเร็ว หลายครั้งมีทั้งเรื่องจริง และลวง เราต่างเห็นบทเรียนที่ผ่านเข้ามามากมาย ในฐานะสื่อมีคำแนะนำสำหรับผู้อ่าน และคนที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นอาชีพนักข่าวอย่างไรบ้าง
คุณณัฏฐา: อยากให้ใจเย็นๆ ค่ะ อย่าใจร้อนคิดว่าเราต้องทวิตเป็นคนแรก หรือเสนอผ่าน Facebook เป็นคนแรก ถ้าไม่แน่ใจข้อมูลขอให้ใจเย็นๆ ยึดหลัก ช้าแต่ถูกต้องและแม่นยำ ดีกว่าเร็วแล้วพลาด ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อรูป ข้อความ ชื่อคน ตำแหน่งต่างๆ ตรวจสอบก่อน ให้แน่ใจก่อนแล้วค่อยส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียนักข่าวต้องเพิ่มความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูล ความเร็ว และการฝึกจับประเด็นให้แม่นยำมากขึ้น คนดูก็ต้องเพิ่มความรู้เท่าทันในการรับและส่งต่อข้อมูล อย่าตื่นเต้น ตูมตาม แล้วส่งต่อข้อมูล หรือรูปภาพ แล้วกลายเป็นเพิ่มกระแส Viral โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
โดยรวมเห็นข้อดีค่ะ ที่โซเชียลมีเดียทำให้โลกของข้อมูลข่าวสารเปิดเผย กว้าง และไกลมากขึ้น แต่อีกด้านทำให้เรารู้ว่าเราจะมองโลกด้านเดียวไม่ได้อีกต่อไป เพราะมีมุมมองที่แตกต่าง หลากหลาย โซเชียลมีเดียเตือนว่าโลกของเรายุ่งเหยิง วุ่นวาย มากขึ้น ท่วมท้นไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร ความเห็นต่างๆ ขอให้ตั้งสติให้ดี และเปิดรับความเห็นให้มากที่สุด แต่เมื่อจะต้องตัดสินใจเรื่องใดขอให้ทำด้วยความนิ่ง และสงบมากที่สุดค่ะ
คุณศรีสุดา: นี่แหละคือเหตุผลของการตอบคำถามข้อที่แล้ว ทุกคนรู้ว่านี่คือปัญหา แต่ปัจจุบันนี้เราทำได้คือ การกรอง การใช้วิจารณาญาณและ สื่อดั้งเดิม เป็นที่พึ่งสำคัญ คือสื่อดั้งเดิมต้องไม่ผิด ต้องตรวจสอบได้ ต้องไม่เผยแพร่ข่าวลือต่างๆ ที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ แต่ในความเป็นจริงวันนี้การแข่งขันในธุรกิจสื่อสูงมาก สื่อดั้งเดิมบางทีก็เลือกนำข่าวบนโซเชียลมีเดียมาเผยแพร่ซ้ำ โดยไม่ตรวจสอบ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความผิดลงไปอีก อีกวิธีคือช่วยกันรณรงค์ไม่เผยแพร่ข้อมูลที่เราไม่มั่นใจว่าจริงหรือไม่จะช่วยได้ แต่ก็ยากมา เรื่องนี้มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง บางคนมีรสนิยมชอบแชร์ ต่อให้ไม่รู้อย่างไรก็อยากแชร์อันนี้ห้ามยากค่ะ
คุณอศินา: คำแนะนำสำหรับทั้งผู้อ่านและว่าที่สื่อมวลชนอาชีพ คือ คิดและไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารทั้ง “ก่อนเสพ” และ “ก่อนสร้าง” “ข่าวสาร” บนโซเชียลมีเดีย อย่างรอบคอบเสมอ ในฐานะผู้เสพ อยากให้อ่านเพื่อเป็นข้อมูล แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด อยากให้อ่านจากหลายๆ แหล่ง แล้วพิจารณาไตร่ตรองข่าวนั้นๆ อย่างรอบคอบ หากอยากจะแชร์ข้อมูลข่าว อยากให้พิจารณาข้อมูลนั้นอย่างรอบคอบก่อนค่อยกดแชร์ อย่ากดแชร์เพียงเพราะว่ามันโดนใจ ตรงกับที่เราคิด โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะอาจจะผิดพลาดได้
สำหรับว่าที่สื่อมวลชนอาชีพ อยากแนะนำว่า จะต้องยึดหลักจริยธรรมการทำงานข่าวของสื่อมวลชนอาชีพไว้ให้ม่ัน ที่สำคัญ ไม่นำเสนอข่าวที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ ไม่นำเสนอข้อเท็จจริงที่ยังคงคลุมเครือ ไม่ใส่ความคิดเห็นลงใน “ข่าว” ที่นำเสนอ แต่นักข่าวยังคงสามารถทวิตความคิดเห็นได้ เพียงแต่ต้องแยกให้ชัดเจนรหว่างทวิตความเห็นกับทวิตข่าว ไม่ทวิตดราม่า เป็นต้น ค่ะ
เครดิตภาพ: thedailybytetwentytwelve, blurgroup, unmsp