ผมมีโอกาสได้นั่งพูดคุยลึกๆ กับ “ปัญญา วอนเผื่อน” Country Manager ประจำประเทศไทย, “Nina Teng” Regional Business Development และ “วรานุช เจษฎาพรชัย” Marketing Associate แห่งบริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต GRABTAXI แอพพลิเคชั่นสำหรับจองรถแท็กซี่ที่กำลังเป็นที่นิยมของคนกรุงเทพฯ อยู่ในขณะนี้ (จากซ้ายไปขวา Nina, วรานุช และปัญญา)
ผมกล่าวทักทายปัญญา ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบตามสมควร เพราะวันก่อนเพิ่งได้เจอเขาในงาน Start it Up, Power it Up ครั้งที่ 5 ปัญญาก็คุยให้ฟังว่า “วันนี้วุ่นทั้งวันเลยครับ ผม คุณ Nina กับคุณเอ๋ (วรานุช) เพิ่งกลับกันมาจากกองบัญชาตำรวจนครบาล (บชน.) ครับ ทาง GRABTAXI เข้าไปคุยกับทางบชน. เพราะอยากหารือกับทางการเรื่องทำอย่างไรให้คนไทยนั่งแท็กซี่แล้วปลอดภัยมากขึ้น (เพราะใน GRABTAXI มีฟังก์ชั่น Track My Ride ที่มีไว้แชร์ข้อมูลการเดินทางเพื่อความปลอดภัย) อ้อ! วันนี้ผมขอแนะนำคุณ Nina Teng ครับ มาจากทาง Regional ของผม” ว่าแล้วก็ผายมือแนะนำเพื่อนร่วมงานเป็นสาวสวยที่จะมาให้ข้อมูลในภาพรวมของ GRABTAXI กับ thumbsup
ผมบอกกับปัญญาไปว่าผมพอรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับ GRABTAXI ว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีไว้จองรถแท็กซี่ เพราะก่อนหน้านี้มีการเปิดตัวในรอบสื่อมวลชนและ Blogger ไปแล้ว แต่อยากจะรู้ที่มาที่ไปของคนทำงานก่อน จึงทราบว่า Nina นั้นปกติจะทำงานที่มาเลเซียและสิงคโปร์ดูในระดับภูมิภาควันนี้เลยมาด้วยกันเพราะเผื่อ thumbsup ต้องการทราบข้อมูลระดับภูมิภาค แต่สำหรับประเทศไทยก็มีผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอย่าง “จุฑาศรี คูวินิชกุล” และล่าสุดก็ได้ปัญญามาร่วมบริษัท โดยบริษัทมีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ทาง Nina ก็เริ่มเล่าให้ฟังว่า
“ตอนนี้ในเมืองไทยเรามีทีมงาน GRABTAXI ทั้งหมด 30 คนค่ะ ตอนแรกเราเริ่มต้น มาจากคุณ Anthony Tan และคุณ Hooi Ling ผู้ก่อตั้งบริษัทจากมาเลเซีย ซึ่งตอนนั้นทุกคนที่เริ่มโครงการนี้เป็นนักเรียนที่ Harvard Business School และทางมหาวิทยาลัยก็ส่งเสริมให้นักศึกษาทุกคนหัดแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในโลก Anthony เค้าเลยมีไอเดียทำธุรกิจเพื่อสังคม เพราะมีอยู่วันนึง มีเพื่อนของ Anthony บินมาจากอินโดนีเซียนั่งรถแท็กซี่ไปที่บ้านของ Anthony ซึ่งทุกคนในมาเลเซียจะรู้กันดีว่าบริการรถแท็กซี่ในมาเลเซียนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มันจะมีปัญหาหลายอย่าง เช่น คนขับรถเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสารแบบไม่เป็นธรรม และยังมีเรื่องของปัญหาความปลอดภัยสำหรับทั้งผู้โดยสารและคนขับรถ ตอนนั้น Anthony กับ Hooi Ling ก็เลยคิดวิธีการแก้ไขปัญหานี้ แล้วเอาไอเดียไปแข่งขันแผนธุรกิจที่ Harvard Business School และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งซึ่งเป็นครั้งแรกสำหรับทีมที่มาจากเอเชียค่ะ” Nina ซึ่งจบมาจากสถาบันเดียวกันเล่าให้ผมฟังถึงที่มาที่ไป จนผมอดจะถามนักเรียน Harvard ไม่ได้ว่า
thumbsup: ถามกันอย่างตรงไปตรงมา พวกคุณจบจาก Harvard Business School มหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าดังที่สุดในโลก ถ้าจะทำธุรกิจของตัวเอง หรือทำงานบริษัทใหญ่ๆ ก็ไม่ต้องพูดถึงสวัสดิการเลยว่ามันมหาศาล ทำไมจะต้องมาทำ Social Business พวกคุณคิดอย่างไรถึงมาทำ
Nina: เหตุผลลึกๆ สำหรับ Anthony คือเมื่อหลายสิบปีก่อนคุณปู่ทวดของเขาเคยเป็นคนขับรถแท็กซี่ที่มาเลเซียมาก่อน เลยทำให้ Anthony รู้สึกลึกๆ ว่าอยากจะทำอะไรให้กับคนขับแท็กซี่บ้าง คนขับแท็กซี่เป็นกลุ่มคนที่ถ้าพูดกันตรงๆ คือหาเช้ากินค่ำ ชีวิตไม่ได้สะดวกสบาย ถ้าเราตั้งใจทำกำไรที่สุดมันคงไม่ใช่เป้าหมายของเรา เราเลยทำเป็น Social Business หรือธุรกิจเพื่อสังคมค่ะ
thumbsup: แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ
Nina: ใช่ค่ะ GRABTAXI คือธุรกิจ แต่เป็นธุรกิจเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีเป้าหมายหลักเป็นผลกำไรสูงสุด แต่เป้าหมายที่ใหญ่ไปกว่านั้นก็คือการทำให้ชีวิตของคนขับแท็กซี่ดีขึ้น เมื่อคนขับแท็กซี่ได้รับค่าตอบแทนที่ดีเหมาะสม ผู้โดยสารได้โดยสารแท็กซี่ได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และ GRABTAXI เองก็อยู่ได้ เรียกได้ว่าทุกคนชนะหมด มันเลยออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น GRABTAXI และในระยะยาวเราต้องการให้ GRABTAXI เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน เราก็เลยไปหาที่ปรึกษาเก่งๆ อย่างคุณ Andy Mills ที่เป็น อดีต CEO ของ Thomson Financial, คุณ Brent Hurley สมาชิกผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการด้านการเงินและการดำเนินงานของ YouTube, คุณ Steven Chen ผู้ร่วมก่อตั้งของ YouTube และคุณ Suresh Thiru – COO ของ JobStreet เป็นเกียรติของพวกเราที่ได้ทั้ง 4 ท่านมาให้ vision ในระยะยาวค่ะ
thumbsup: ตอนนี้ธุรกิจพวกคุณไปถึงไหนแล้ว มียอดคนดาวน์โหลดเท่าไหร่ มีรถแท็กซี่ร่วมกับคุณกี่คนแล้ว
Nina: สำหรับทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีคนดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 500,000 ครั้ง สำหรับเมืองไทยคุณดูได้ใน Play Store, App Store, Windows Store ค่ะ ส่วนตัวเลขแท็กซี่เราขอเก็บไว้จริงๆ ขอโทษนะคะบอกตัวเลขไม่ได้จริงๆ
thumbsup: ผมเข้าใจว่าธุรกิจเพื่อสังคมไม่ทำกำไรสูงสุดก็จริง แต่มันก็ต้องสร้างรายได้ ไม่เช่นนั้นคงเป็นธุรกิจไม่ได้อยู่ดี แล้วสรุปพวกคุณมีแนวทางการสร้างรายได้อย่างไรบ้าง คุณได้เก็บเงินคนขับแท็กซี่หรือเปล่า
Nina กับ ปัญญา: ตอนนี้เราจะยังไม่เก็บเงิน แต่ในอีกระยะหนึ่งถึงจะเริ่มเก็บ โดยทาง GRABTAXI จะเรียกว่า Commission โดยแนวทางการทำงานก็คือ คนขับแท็กซี่ทุกคนที่จะได้รับงานผ่าน GRABTAXI จะได้รับบัตรชนิดหนึ่ง โดยคนขับแท็กซี่จำเป็นที่จะต้องเติมเงินผ่านร้านสะดวกซื้อซึ่งดูแล้วว่าง่ายต่อคนขับแท็กซี่ที่สุด
ผมเข้าใจว่า Nina น่าจะไม่อยากบอกชัดๆ เพราะในเมืองไทย GRABTAXI มีคู่แข่งตัวยงอย่าง Easy Taxi ของกลุ่มธุรกิจจอมโคลนอย่าง Rocket Internet ซึ่งทันทีที่ GRABTAXI มีฟังก์ชั่นหรือฟีเจอร์อะไร ทางคู่แข่งก็จะไม่หยุดที่จะพัฒนาฟีเจอร์ออกมาแข่งตลอดเวลา เรื่องตัวเลขจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แต่เท่าที่ผมดูเองตอนนี้ก็มีคนดาวน์โหลดไปกว่า 50,000 คนในประเทศไทย ถ้ารวม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และในอนาคตกำลังจะมีเวียดนามก็เดาได้เลยว่ามีแนวโน้มเติบโตได้สูง
และถ้าให้ผมเดา ตอนนี้ทาง GRABTAXI น่าจะอยู่ในช่วงการหาเงินทุนระดับ Series A ซึ่งถ้าจะว่าไปคงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะความที่ GRABTAXI เป็นธุรกิจเพื่อสังคมเต็มตัว ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาหารายได้สูงสุด ซึ่งนักลงทุนที่จะมาลงทุนกับพวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจปรัชญาทางธุรกิจเพื่อสังคมนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขจากกรมขนส่งทางบกที่ระบุว่าวันหนึ่งๆ มีคนจองรถแท็กซี่ผ่านระบบ Call Center แบบเดิมมีสูงถึงวันละ 2 ล้านครั้งต่อคันต่อวัน ในขณะที่แท็กซี่มีอยู่เพียง 80,000 คัน ซึ่งในเชิงธุรกิจแล้วมันเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มหาศาล
หลังจากที่เราคุยกับเรื่องธุรกิจหนักๆ มาแล้ว เราก็แปรประเด็นมาที่เรื่องการทำงานของตัวแอพพลิเคชั่น ที่จะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้บ้าง
thumbsup: อยากให้คุณปัญญาเจาะลงมาถึงรายละเอียดและคอนเซ็ปต์ของ GRABTAXI หน่อยครับ
ปัญญา: GRABTAXI คือแอพพลิเคชั่นที่ทำให้เราทุกคนสามารถจองรถแท็กซี่ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ตอนนี้เรารองรับระบบปฎิบัติการ iOS, Android, Windows Phone ดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีครับ เราเน้นใช้แพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนแทนวิธีแบบเดิมๆ ที่ใช้วิทยุในการเรียกรถ ซึ่งการใช้วิทยุสื่อสารมันจะมีความยุ่งยากหลายอย่าง รวมถึงข้อผิดพลาดและความชัดเจนของข้อมูล และการแย่งงานระหว่างคนขับรถแท็กซี่ด้วยกันเพื่อจะตอบรับงานรับผู้โดยสาร โดยระบบดั้งเดิมมันส่งผลถึงประสิทธิภาพที่ลดลงในแง่ของเวลา และน้ำมันหรือแก๊สของคนขับรถ รวมถึงอาจทำให้มีการขับรถอย่างรีบร้อน ขาดความระมัดระวังซึ่งท้ายสุดมันก็จะกลายเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น อีกทั้งผู้โดยสารยังไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควรจากระบบวิทยุดังกล่าว ซึ่งรถแท็กซี่อาจจะมาจากทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยผู้โดยสารจะไม่รู้เลยว่าจะต้องรอรถนานแค่ไหน
thumbsup: ช่วยเล่าเป็นภาพออกมาเลยได้ไหมครับว่ามันแก้ปัญหาในแต่ละวันของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างไร
ปัญญา: ใน GRABTAXI นอกจากเราจะสามารถเรียกแท็กซี่ได้สะดวกขึ้นแล้ว มันยังมีประโยชน์ตรงที่เราเรียกรถได้แม้กระทั่งช่วงเวลาที่เรียกรถยาก อย่างเช่น ช่วงเวลาเร่งด่วน ช่วงรถแท็กซี่เปลี่ยนกะ ช่วงฝนตก ซึ่งตรงนี้การจองแท็กซี่ผ่าน GRABTAXI จะทำให้ชีวิตคนไทยง่ายขึ้นเยอะ อย่างเช่นตอนฝนตก ผมจะกดปุ่ม “ให้ทิป” คนขับไปเลย 50 บาทเพราะต้องการให้เขาเข้ามารับในซอย และเราเองก็ไม่ต้องวิ่งออกไปข้างนอกเพื่อโบกรถ พอเราให้ทิป คนขับก็มีกำลังใจครับ เขาก็อยากรับงานมากขึ้น เรียกได้ว่า Win-Win กันทั้งคู่ อย่างผู้โดยสารเดี๋ยวนี้หลายคนก็ติด GRABTAXI มากขึ้นไปไหนถ่ายรูปแชร์ขึ้น Facebook มาให้ GRABTAXI ดูด้วยครับ
thumbsup: แล้วคนขับแท็กซี่นี่เขาให้การตอบรับอย่างไรบ้าง
ปัญญา: ผมบอกได้ว่าตอนนี้หลังจากที่พี่ๆ น้องๆ คนขับแท็กซี่ได้ใช้ GRABTAXI แล้วแต่ละคนได้งานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30% (เดี๋ยวตรงนี้ผมจะพาคุณไปทดสอบของจริง!)
thumbsup: ในฐานะ GM ของบริษัทน้องใหม่ด้านเทคโนโลยี คุณรู้สึกว่าอะไรที่มันเป็นอุปสรรคหรือความท้าทายของคุณที่สุดในเวลานี้
ปัญญา: GRABTAXI เป็นสิ่งใหม่ทำให้มีความท้าทายทั้ง 2 ฝั่งคือคนขับแท็กซี่และฝั่งลูกค้าผู้โดยสาร แต่ผมว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดตอนนี้คือการคุยกับพี่ๆ น้องๆ คนขับแท็กซี่ ทำอย่างไรที่จะเราจะเข้าใจคนทำงานแท็กซี่ได้มากที่สุด กลุ่มคนขับกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มคนมีอายุ เราจำเป็นต้องสอนการใช้งานสมาร์ทโฟนให้เขา และให้บริการที่ดีที่สุด อย่างตอนนี้เราจะมี Call Center ทำงาน 7 วัน 24 ชั่วโมง เวลาลูกค้าคนไหนเรียกรถไม่ได้ เราจะรีบ follow up บอกสาเหตุและชี้แจง ส่วนความท้าทายในฝั่งผู้โดยสาร ผมก็อยากจะฝากกราบเรียนถึงผู้ใช้ทุกคนว่า เราดีใจที่คุณใช้แอพฯ GRABTAXI พอใช้แล้วอยากรบกวนให้ช่วยรอพี่ๆ น้องๆ คนขับแท็กซี่หน่อย เพราะบางทีผมเข้าใจครับว่ารีบ แต่พอผู้โดยสารเจอรถแท็กซี่คันอื่นข้างถนนก็จะไม่รอรถที่เพิ่งเรียกไป แต่แท็กซี่เขาวิ่งรถมาแล้วไงครับ ระหว่างทางเขาก็รับคนอื่นไม่ได้เช่นกัน เลยอยากจะขอความเห็นใจมาตรงนี้
thumbsup: มีปัญหาด้านเทคนิคบ้างไหม
ปัญญา: ตอนนี้เรามีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องการจับ POI (Point of Interest) ครับ แต่เราก็ปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ การจับ POI เป็นเรื่องจำเป็นเพราะทำให้พี่น้องคนขับแท็กซี่สามารถไปรับผู้โดยสารได้ถูกต้องและตรงเวลา
thumbsup: แล้วคุณมีแผนการขยายแท็กซี่ที่จะมาใช้ GRABTAXI อย่างไรบ้าง
ปัญญา: เราทำหลายแบบครับ เรามีฝ่ายขายทำหน้าที่หาลูกค้าที่เป็นแท็กซี่ ทั้งกลางวันกลางคืน ทำทั้งแบบเคาะกระจกถามแท็กซี่ทีละคันหรือติดต่อสหกรณ์ตรงๆ เลยก็มี อย่างตอนนี้เราก็คุยกับสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ โดยเราจะตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่าแท็กซี่ที่จะมาอยู่ใน GRABTAXI จะต้องมีทำตามระเบียบปฎิบัติของเรา เช่น ต้องรับผู้โดยสารตรงเวลา ณ จุดรับผู้โดยสาร คอยเช็คดูว่าผู้โดยสารเป็นคนเดียวกับคนที่เรียกรถหรือเปล่า รวมทั้งโทรแจ้งผู้โดยสาร หากไม่สามารถมารับได้ตรงเวลา รวมถึงพวกข้อห้ามว่าห้ามหยาบคาย ห้ามเปลี่ยนเส้นทางถ้าไม่ได้แจ้งผู้โดยสาร ซึ่งพี่ๆ น้องๆ แท็กซี่ทุกคนก็มักจะให้ความร่วมมือดีมากครับเพราะผู้โดยสารที่พอใจกับการเดินทาง จะกลับมาใช้บริการบ่อยขึ้น นั่นหมายความว่าเขาก็จะได้รับงานมากขึ้นนั่นเอง ตอนนี้เวลาไปเจอพี่ๆ แท็กซี่หลายคนซื้อแท็บเล็ตกับสมาร์ทโฟนมาใช้ในรถเองเลย
thumbsup: คนขับแท็กซี่จะใช้พวกสมาร์ทดีไวซ์จริงๆ หรือ เครื่องหนึ่งไม่ใช่ถูกๆ คุณทำอย่างไรบ้างที่จะให้เขาใช้กัน
ปัญญา: ตอนแรกผมก็เคยคิดว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ แต่พอมีกลุ่มแรกที่ใช้แล้วได้รับงานเพิ่มขึ้น ทุกคนก็จะบอกต่อกันว่าตรงนี้มันเป็นการลงทุนที่ทำให้คนขับแท็กซี่ได้งานเพิ่มขึ้น ทาง GRABTAXI เองก็จะจัดหาสมาร์ทโฟนมาให้อยู่แล้ว โดยรวมผมว่าพี่ๆ น้องๆ คนขับเขาเข้าใจตรงนี้ครับ
thumbsup: กิจกรรมทางการตลาดของคุณดูเหมือนเน้นเพิ่มจำนวนแท็กซี่ และเพิ่มจำนวนคนใช้ไปด้วยกัน
ปัญญา: ใช่ครับ ในฝั่งคนขับเราจะมี Incentive ให้เพิ่มเติมด้วย เช่น ใครรับงานมากสุดในเดือนนั้นๆ รับไปเลย 5,000 บาท ในส่วนฝั่งผู้โดยสารอย่างเราๆ ท่านๆ ใครที่ใช้บริการ GRABTAXI ก็จะมีลุ้นได้รับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ไปเลย ตรงนี้จะทำให้ทุกๆ คนสนุกไปกับการใช้ GRABTAXI
สำหรับการสัมภาษณ์ทีมงาน GRABTAXI ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ ใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติมโพสต์ลงมาได้ตรงส่วน comment นะครับ แต่ในขั้นตอนถัดไป ผมอยากแน่ใจว่าสิ่งที่ปัญญา, Nina, และวรานุชบอกเรามาไม่ได้เป็นแค่ “Just PR” ผมเลยลองใช้ GRABTAXI ด้วยตัวเองดูประมาณ 4 รอบ ก็พบว่าไม่เลวครับ และนี่คือประสบการณ์การใช้งานของผมครับ
พอดีวันที่ผมกำลังจะลองใช้ ก็เห็น สิทธิพล พรรณวิไล หรือ @nuuneoi ผู้ก่อตั้ง MOLOME แชร์ออกมาเปรียบเทียบกับ Easy Taxi แล้วก็เลยตัดสินใจลอง GRABTAXI ดูก่อน วันไหนว่างจะลอง Easy Taxi อีกทีนะครับ
ผมลองเรียกแท็กซี่จากที่บ้านตรงย่านพหลโยธิน เพื่อจะเดินทางไป BTS หมอชิตเพื่อนั่งรถไฟฟ้าต่อ ก็ลองกดค้นหาดู ปรากฏว่ามีรถอยู่พอสมควร แต่ติดผู้โดยสารเสียส่วนใหญ่ แต่อย่างไร เขาบอกว่าให้เราลองดูก็จะลองครับ
ปรากฏว่าผ่านไป 1 นาที ไม่มีรถจริงๆ นี่คือสิ่งที่ผมได้มา
เมื่อไม่ได้จริงๆ ผมก็เลยลองใหม่ครับ ปรากฏว่าคราวนี้เราได้รถล่ะครับ ระบบก็จะส่งอีเมลมายืนยันด้วยว่าเราได้รถแล้ว พร้อมบอกว่ารถที่จะมารับเรา คนขับชื่ออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ห่างไกลจากเราแค่ไหน และจะมารับเราภายในกี่นาที
ทันใดนั้นทางคนขับแท็กซี่ก็จะโทรมายืนยันกับเราว่าตอนนี้อยู่ตรงไหน และคาดว่าจะมาถึงในกี่นาที อย่างกรณีผมนี่ได้คุณพี่ณัฐฐา ทะเบียนรถ ทล 5951 ที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่งคือมีการประมาณด้วยว่าจะต้องใช้เงินสำหรับการเดินทางครั้งนี้ประมาณ 80-120 บาท ซึ่งต้องบอกตรงๆ นะครับว่าจริงๆ ก็ไม่ใช่ถูก เพราะลองนึกดูว่า เราจะต้องจ่ายเงิน 25 บาทเป็นค่าเรียก จากนั้นจ่ายค่าแท็กซี่ และถ้าหากว่าเรียกในช่วงที่เรียกรถยากต้อง “ให้ทิป” อีก ก็คงไม่ใช่ถูกๆ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับต้องยืนรอข้างถนนอย่างไร้จุดหมาย เงินค่าทิป และค่า surcharge อีก 25 บาทก็ไม่แพงจนเกินไปครับ
จากนั้นพี่ณัฐฐาก็มาถึงจริงๆ ครับ รอทั้งหมดประมาณ 15 นาที พอขึ้นรถมาก็เจอป้ายโฆษณาติดไว้ทันที ผมก็คุยกับพี่ณัฐฐาตลอดทาง จึงสามารถยืนยันได้ว่าวันหนึ่งๆ พี่ณัฐฐามีงานเพิ่มขึ้นจริงๆ เพราะปกติสมมุติว่าวันหนึ่งได้สัก 10 เที่ยว ก็จะเพิ่มมาเป็น 13-14 เที่ยว แต่ถามว่าถึงขั้นไม่ต้องวิ่งรถเลยไหม ก็ไม่ขนาดนั้น อย่างไรก็ยังต้องวิ่งรถหาผู้โดยสารปกติอยู่ ส่วนเครื่องมือในรถก็จะมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตใช้อยู่เพื่อมองหาจุดที่ผู้โดยสารรอรถอยู่
จากนั้นผมก็ถึงที่หมายโดยปลอดภัยด้วยเงิน 120 บาท (ซึ่งจริงๆ ผมควรจะจ่ายแค่ 95 บาทโดยประมาณ) แต่ก็คุ้มระดับหนึ่งเลยล่ะครับ หลังจากวันนั้นผมก็เลยลองใช้ GRABTAXI อยู่อีก 3-4 ครั้ง ความพอใจผมประมาณ 80% เพราะบางทีรถแท็กซี่ก็มาไม่ได้ตรงเวลาอย่างที่เราอยากได้นัก เพราะสภาพการจราจร หรือบางทีคนขับแย่งกันกดเพื่อมารับผม แต่บางทีอยู่ไกลมากๆ 30-40 กิโลก็กดทั้งที่ไม่ควรจะกดเลย ก็ทำให้หงุดหงิดเล็กน้อย บางทีต้องรอนาน 30-40 นาทีเพราะไม่ยอมโทรมายืนยันก็มี แต่อย่างไรผมก็นับว่าอันนี้มันเป็นความผิดพลาดของคนทำงานฝั่งรถแท็กซี่ ไม่ใช่ความผิดของเจ้าของแอพฯ แต่อย่างใด
ท้ายนี้ผมอยากจะตบท้ายด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อีกอย่างก็คือเรื่องความปลอดภัย เพราะเราสามารถแชร์ทริปของเรากับคนที่บ้านได้ด้วยว่านั่งรถคันไหน ไปอย่างไร โดยการกดปุ่ม “Share this ride” อันนี้ถ้าหากเราใช้กันจริงๆ มันก็จะช่วยให้เราปลอดภัยมากขึ้นครับ
สรุปประโยชน์
– พอใจประมาณ 80% ระบบทำงานได้ดี
– เห็นจำนวนและตำแหน่งของรถแท็กซี่ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่เรียกรถ
– แสดงสถานที่ปลายทางให้คนขับทราบทันทีเพื่อการจับคู่ผู้โดยสารกับรถให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
– ติดตามตำแหน่งของรถแท็กซี่ที่รับงานได้ตลอดเวลา (ในขณะที่กำลังมารับผู้โดยสาร)
– ผู้โดยสารและคนขับรถมีความปลอดภัยในการใช้รถแท็กซี่
– รับทราบข้อมูลของคนขับรถแท็กซี่ (ชื่อ ทะเบียนรถ หมายเลขโทรศัพท์ ภาพถ่าย)
– แชร์ข้อมูลการเดินทางให้ครอบครัวของเราได้ เพื่อการติดตามการโดยสารแบบ Real-Time
– รู้ว่าได้รถหรือไม่ได้รถไวพอตัว ถ้าเป็นพวก Call Center บางทีนึกจะ Cancel ก็ไม่โทรมาบอกเลยก็มี
– ติดต่อคุยกับคนขับผ่านมือถือได้โดยตรงซึ่งสะดวกมากๆ
ใครสนใจ GRABTAXI ก็ลองไปดาวน์โหลดมาใช้กันได้ทุกระบบหลักๆ ครับ ตามไปให้กำลังใจทีมงานได้ที่ https://www.facebook.com/GrabTaxiTH