Site icon Thumbsup

Expedia Group ระบุเทรนด์เด่นที่จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทศวรรษหน้า

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา การหารือและการคาดการณ์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมไทยได้ฟื้นตัวจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้ยังไม่ทราบถึงวิสัยทัศน์ในระยะยาว

ความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่มากขึ้นนำมาสู่ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ และผลกระทบจากเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น บิตคอยน์ เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกจริง ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง ยังเป็นเรื่องที่นำมาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น

นิค แอนดรูส์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารการตลาดของ Expedia Group กล่าวว่า “ที่ผ่านมาได้เกิดความไร้ทิศทาง กล่าวคือ แม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย  แต่ยังมีการให้ความสำคัญในการหารือเรื่องผลกระทบของความไม่สงบทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ได้ให้ประสบการณ์จริงและเติบโตขึ้น ทั้งยังมีการทำการตลาดอย่างหนัก โดยเชื่อมโยงธุรกิจการค้นหาด้านการเดินทางและการจองเข้ากับระบบผู้ช่วยเสมือนอเล็กซ่า และผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ Google Assistant”

สำหรับทศวรรษใหม่ที่กำลังจะมาถึง Expedia Group ได้คาดการณ์แนวโน้มปัจจัยภายในขององค์กรที่จะช่วยลดอุปสรรคสำหรับทั้งนักเดินทางและผู้ให้บริการการเดินทางดังนี้

การคาดการณ์ถึงปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน

การเปลี่ยนแปลงด้านรุ่นอายุและภูมิเศรษฐศาสตร์

แม้ว่าความคิดเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับคนรุ่น “โอเค บูมเมอร์” (เจนซี) แลดูสุดโต่ง แต่ความคิดดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่มากขึ้นด้านความสนใจและคุณค่าที่นิยามคนแต่ละรุ่น ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและแนวทางที่ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของนักเดินทางในแต่ละช่วงวัย

งานวิจัยของทีม Expedia Group Media Solutions ระบุว่านักเดินทางรุ่นใหม่ที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยต้องการประสบการณ์และการผจญภัยที่ไม่เหมือนใคร โดยคนกลุ่มนี้ถือคติว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ คนรุ่นต่อไปคือเจเนอเรชั่นอัลฟ่า ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ทั้งนี้ข่าวดีสำหรับทศวรรษที่จะมาถึงคือพ่อแม่ของเจนอัลฟ่าคือชาวมิลเลนเนียล ซึ่งไม่รอช้าที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  อย่างไรก็ตามมีความท้าทายประการหนึ่งคือแม้ว่าเจนอัลฟ่าอายุยังน้อย แต่พวกเขากลับมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องการเดินทางแบบครอบครัวเป็นอย่างมาก

ในอีก 10 ปีข้างหน้า ชาวเจนเอ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเจนที่ได้รับการศึกษาในระบบมากที่สุดและร่ำรวยที่สุดจะมีอายุครบ 20 ปี ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรือทำงานก็ตาม คนกลุ่มนี้จะตัดสินใจเรื่องการท่องเที่ยวด้วยตนเองและออกเดินทางไปทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าพวกเขาต้องการประสบการณ์การเดินทางที่ไร้อุปสรรคและใช้ช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ

โดยสามารถสำรวจจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ ได้จากเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ที่บ้าน พร้อม ๆ กับทำการจองทริป พาคนที่พวกเขารักไปท่องโลกเสมือนด้วยกัน รวมถึงใช้งานบอทขั้นสูงที่สามารถเรียกดูแผนการเดินทางที่จองได้ในคลิกเดียว โดยแผนการเดินทางจะออกแบบสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ ตั้งแต่ที่พักไปจนถึงร้านอาหาร จึงแน่นอนว่าคนเจเนอเรชั่นนี้จะเดินทางมากมาย ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน

 

การคาดการณ์ที่ค่อนข้างน่าสนใจ

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน

แม้การทำงานประจำที่ออฟฟิศตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นจะยังคงเป็นวิถีของคนจำนวนมาก แต่การทำงานรูปแบบดังกล่าวนี้จะน้อยลงเรื่อย ๆ  การเดินทางเพื่อธุรกิจจะยังคงมีอยู่ และจะยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อบริษัทเติบโตและต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นโยบายการเดินทางที่สะท้อนวัฒนธรรมขององค์กร พร้อมทั้งการให้ความเชื่อมั่นกับบุคลากรจะเป็นข้อเสนอหลักที่ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถมายังองค์กร

ลองมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการเดินทางแบบเชื่อมโยงการทำงานและการพักผ่อนเข้าด้วยกันในอนาคต  ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถคาดการณ์ทริปเฉพาะบุคคลและแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า เช่น อาจบอกว่า “ใกล้วันหยุดนักขัตฤกษ์แล้ว คุณต้องการจองทริปหรือไม่” “คุณต้องการอยู่เที่ยวต่อกับครอบครัวหลังจบ

ทริปธุรกิจที่เกาหลีเดือนหน้าหรือไม่” เมื่อคุณคลิก ‘ใช่’ ระบบจะออกแบบแผนการเดินทางให้ตามความต้องการและความสนใจของคุณโดยเฉพาะ

ความหลากหลายด้านที่พัก

การเดินทางเพื่อธุรกิจ การเดินทางแบบ ‘เที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย’ (การเดินทางเพื่อธุรกิจและพักผ่อน) การเดินทางเป็นครอบครัว ตลอดจนการเดินทางเพื่อรักษาพยาบาล ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความหลากหลายด้านที่พักมากยิ่งขึ้น และถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากนักเดินทางควรมีตัวเลือกที่ตรงกับความต้องการเดินทางของตนเองมากที่สุด ทั้งนี้โรงแรมที่เป็นเครือขนาดใหญ่และโรงแรมอิสระจะยังคงมีบทบาทสำคัญในธุรกิจด้านที่พัก

ผู้ให้บริการด้านที่พักสามารถทำนายจากพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าได้ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์  ทั้งนี้การเลือกจองที่พักจะไม่แตกต่างกัน  ลองจินตนาการว่าขณะเลือกที่พัก ระบบจะแนะนำโรงแรมเฉพาะแห่งให้กับลูกค้าอัตโนมัติ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการจองที่พักจากการเดินทางคนเดียวในทริปที่ผ่าน ๆ มา

การคาดการณ์ที่เห็นได้ชัด

ในอดีต การพักผ่อนอยู่บ้านเป็นคู่แข่งเงียบ ๆ สำหรับผู้ประกอบการที่พัก แต่ข้อมูลล่าสุดจาก Vrbo ซึ่งเป็นธุรกิจบริการจองที่พักวันหยุดของ Expedia Group ระบุว่านักท่องเที่ยวในไทยหันมาจองที่พักในจังหวัดของตนเองหรือจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหมายความว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้มีการเดินทาง แม้ว่าจะไม่ได้เดินทางไกล

ปัจจุบันคือยุคของนักเดินทางที่ไม่ยึดติดกับสนามบิน กล่าวคือนักเดินทางให้ความสำคัญกับราคาบัตรโดยสารที่คุ้มค่ากว่าและสิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบินที่ดีกว่า เช่น จุดตรวจผู้โดยสารและรักษาความปลอดภัยที่สนามบินที่สั้นกว่า และร้านอาหารที่ดีกว่า ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางกลุ่มนี้ สนามบินต่าง ๆ จะต้องหันมาประเมินบริการที่มอบให้กับนักเดินทางในอนาคตอันใกล้ เช่น ความหลากหลายของเส้นทางบิน ความสะดวกสบายของที่จอดรถ อาหารท้องถิ่น แหล่งช้อปปิ้ง เป็นต้น จึงเป็นการพลิกนิยามประสบการณ์ที่สนามบินอย่างแท้จริง

เมื่อสนามบินกลายมาเป็นจุดหมายปลายทาง สนามบินจะได้ประโยชน์จากการมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคลมากขึ้นผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่นเดียวกับโรงแรม  มีความเป็นไปได้ว่าในทศวรรษถัดไป นักเดินทางอาจซื้อบริการเสริมผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือตามความต้องการและงบประมาณของตนเอง เช่น บริการช่องตรวจความปลอดภัยแบบวีไอพี รถรับส่งจากอาคารผู้โดยสารไปยังประตูขึ้นเครื่อง แพ็คเกจอาหารก่อนขึ้นเครื่อง ความบันเทิงบนเครื่องที่คัดสรรโดยเฉพาะ Wi-Fi บนเครื่อง และจองรถรับส่งจากสนามบินล่วงหน้า

การมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคลนี้ไม่ได้มีแต่สนามบินเท่านั้น ถึงแม้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกจะเป็นสิทธิพิเศษที่อยู่คู่การเข้าพักโรงแรมมาเป็นเวลานาน แต่ขณะนี้ถึงเวลาของการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคตอันใกล้ ประวัติของนักเดินทางจะเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การเข้าพักที่โรงแรมให้สบายเหมือนอยู่บ้าน เช่น ใช้ข้อมูลการเข้าสู่ระบบ Netflix จัดเตรียมรายการโปรดไว้รอต้อนรับเมื่อนักเดินทางมาถึงห้องพัก อุณหภูมิในห้องพักที่นักเดินทางชอบ รวมถึงตัวเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่โปรดปราน

การลองเสี่ยง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสร้างโอกาสมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการในการมอบประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจให้กับนักเดินทาง

คุณแอนดรูส์ได้ย้ำกับผู้ประกอบการโรงแรมไทยว่าความร่วมมือคือหัวใจหลักที่จะทำให้การสร้างความประทับใจให้นักเดินทางเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีความเสี่ยงอยู่บ้าง

“แนวทางความร่วมมือกันยังคงเป็นความมุ่งมั่นหลักของเราต่อผู้ประกอบการโรงแรมไทย การลงทุนเพื่อการวิจัย พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยีแทนผู้ประกอบการโรงแรม ในปี 2561 เราได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนเงินกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) แม้เรายังไม่ได้คาดการณ์ว่าในอนาคตจำนวนเงินนี้จะเพิ่มเป็นเท่าไร แต่เราทราบว่าการลงทุนนี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับโรงแรมพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยในทศวรรษที่จะถึง และเปิดโอกาสในการเติบโตร่วมกันมากยิ่งขึ้น” คุณแอนดรูส์สรุป