ประเทศไทยเรียกว่าเป็น Destination ที่ไม่ว่าใครก็อยากเดินทางมาสักครั้ง แต่ส่วนใหญ่การมาเที่ยวในหัวเมืองหลัก ทำให้ไม่สามารถกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าภาครัฐจะมีการส่งเสริมมากแค่ไหนก็ตาม
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทางกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท. จึงได้มีความร่วมมือกับทาง Expedia แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ในการช่วยเหลือจังหวัดเมืองรอง ในการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักแห่งใหม่ๆ แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก แน่นอนว่าย่อมเป็นโอกาสอันดีงามแก่ทั้งคนไทยในฐานะเจ้าบ้านและชาวต่างชาติที่กำลังมองหาสถานที่ใหม่ๆ ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ทาง Thumnsup ได้รับเกียรติร่วมสัมภาษณ์ คุณพิมพ์ปวีณ นพกิจกำจร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาด Expedia Group ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาตอบสนองการใช้งานของโรงแรม การเข้ามาไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการใช้งานเครื่องมือต่างๆ
ทั้งนี้ Expedia ยังคงยืนยันว่าเป็นบริษัทเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการจองการเดินทางชั้นนำของโลก จากกระแสข่าวเชิงลบเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนที่แอนตี้การเดินทางมาไทยช่วงปลายปี จนกระทบถึงภาพเศรษฐกิจและเงินสะพัดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น ทางผู้บริหารเล่าว่า ไม่สามารถเอาไปวัดเรื่องของภาพรวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศได้ เพราะการจองที่พักและสายการบินยังดีอยู่
“ทางเราไม่สามารถวัดเรื่องปริมาณภาพรวมการเข้ามาไทยได้ขนาดนั้น แต่ยืนยันว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยในรูปแบบของ FIT ตัวเลขของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงดีอย่างต่อเนื่อง เป็นเลขสองหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจองแบบห้องพักพร้อมสายการบิน โดยเป็นการเดินทางมาทั้งแบบกลุ่มเพื่อนและครอบครัว”
ฟีเจอร์ที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น
สำหรับพาร์ทเนอร์ในกลุ่มของโรงแรมที่เข้าร่วมธุรกิจกับทาง Expedia Group ไม่ว่าจะเป็น Expedia, Trivago, Hotel.com เป็นต้น ต่างก็สามารถเข้ามาใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Co-Browse และ Adaptive Landing PAge บนระบบ Expedia Group Partner Central ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับพาร์ทเนอร์ที่มาพร้อมเครื่องมือและข้อมูลเชิงลึกต่างๆ
การเข้าให้ความช่วยเหลือพาร์ทเนอร์ผ่านทั้งสองฟีเจอร์นั้น เป็นเพราะยังมีโรงแรมอีกมาก ที่เพิ่งเข้าสู่โลกดิจิทัลและต้องการความช่วยเหลือ แต่เดิมจะเป็นการสื่อสารผ่านระบบคอลล์เซ็นเตอร์ ซึ่งการพูดคุยแบบไม่เห็นภาพอาจจะช่วยทำได้ไม่เต็มที่นัก การทำฟีเจอร์ใหม่นี้ออกมาถือว่าเป็นการตอบสนองด้านการช่วยเหลือที่ชัดเจนขึ้น
สิ่งสำคัญสองเรื่องสำหรับฟีเจอร์ดังกล่าว คือ มั่นใจได้ว่า Expedia Group จะไม่เข้าไปแทรกแซงด้านธุรกิจ เพราะการเข้าไปช่วยจัดการนั้น ทีมงานของเอ็กซ์พีเดียจะต้องได้รับอนุญาตจากแอดมินของโรงแรมก่อน และไม่มีสิทธิ์ช่วยพาร์ทเนอร์คลิกเลือกเครื่องมือใดๆ ทั้งสิ้น มีหน้าที่แค่ช่วยนำทางเท่านั้น
ทั้งนี้ ฟีเจอร์ใหม่นี้ จะช่วยเหลือโรงแรมที่เพิ่งปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ให้ใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ลด่องว่างและความกังวลของผู้ประกอบการโรงแรมเกี่ยวกับความยุ่งยากในการใช้เครื่องมือ
ความร่วมมือกับภาครัฐ
จากการวิจัยของบริษัทยังชี้ให้เห็นด้วยว่า นักเดินทางจำนวนมากกว่าครึ่งใช้ตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์หรือ OTA ในการวางแผนการเดินทาง และ OTA เป็นช่องทางท่ีทำยอดจองได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ ดังนั้น ทางเอ็กซ์พีเดียกรุ๊ปและททท.จึงมีข้อตกลง 4 เรื่องดังนี้
Data Insight : จะเปิดให้มีการแชร์ข้อมูลจากศูนย์กลางเพื่อนำไปวิเคราะห์และปรับใช้กับธุรกิจให้เหมาะสม
Digital Skill : เข้าไปให้ข้อมูลและสอนทักษะการใช้เครื่องมือต่างๆ บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์พีเดีย เพื่อช่วยให้เมืองรองสามารถสร้างโอกาสในการทำงานได้ดีขึ้น
Destination Marketing : ร่วมวางแผนด้านการตลาดกับเมืองท่องเที่ยวและสร้างแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ
CSR : มีกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน คือการรณรงค์ให้งดใช้พลาสติก หรือนำกลับมาใช้ซ้ำเพื่อลดปัญหามลภาวะให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ เครื่องมือที่เอ็กซ์พีเดียกรุ๊ปเปิดให้ใช้งานนั้น สามารถทำงานได้ทุกประเทศ เพียงแต่เปิดให้ใช้งานในไทยเป็นที่แรก ถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมและโฮสเทลของคนไทย ในการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลแบบเต็มตัวเสียที