ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคยุคดิจิทัลปี 2558 (เอเชีย) เผยผู้บริโภครู้สึกว่าคอนเทนท์ทางการตลาดในปัจจุบันยังไม่ตรงจุด ส่วนคนไทยครองแชมป์ช้อปผ่านโซเชียลมีเดีย เชิญอ่านรายละเอียด
จากผลสำรวจ “มุมมองของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล (เอเชีย) 2558” ล่าสุดของ เอ็กซ์พีเรียน (Experian) มาร์เก็ตติ้งเซอร์วิส เอเชีย แปซิฟิค พบว่า ผู้บริโภคชาวเอเชียได้รับอีเมล Personalised กว่า 74% จากแบรนด์ต่างๆ และ 3 ใน 4 หรือกว่า 70% ของผู้ที่ได้รับอีเมลนั้น เห็นว่าเนื้อหาที่ได้รับไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่ตนเองสนใจเลย ดังนั้น นักการตลาดควรรู้ว่าการใช้กลยุทธ์ ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสร้างเนื้อหาที่ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจได้เสมอไป
เมื่อได้ทำการสำรวจโดยวิเคราะห์เชิงลึกในภาพรวมตลาดของผู้บริโภคยุคดิจิทัลในทวีปเอเชียเพื่อให้นักการตลาดกลับมาพิจารณาวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคโดยให้การลงทุนได้รับประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้เลือกช่องทางสื่อสาร, อุปกรณ์การสื่อสาร และเนื้อหาเพื่อตอบโจทย์ในการสื่อสาร โดยบทสรุปที่สำคัญ มีดังนี้
· กว่า 88% ของผู้บริโภคชาวเอเชียใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลา โดย 83% ใช้แชทแอพพลิเคชั่นผ่านโซเชียลมีเดีย และ 77% ใช้สำหรับเล่นอินเทอร์เน็ต
· ช่องทางที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายสูงสุดของชาวเอเชีย คืออีเมล 64% ตามมาด้วยโซเชียลมีเดีย 53%
· ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างเคยได้รับ Personalised content ผ่านทางอีเมล 74%, โซเชียล มีเดีย 69%, และ SMS 69% แต่คิดว่าคอนเทนท์ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ทางอีเมล 70%, โซเชียลมีเดีย 57%, และ SMS 56%
· เนื้อหาที่ใช้ในช่องทางต่างๆควรปรับปรุงให้สอดคล้องกัน โดย 29-44% ของผู้บริโภค พบว่าเนื้อหาที่ได้รับจากช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อีเมล, SMS, และ แอปพลิเคชั่น ขัดแย้งกัน
· ผู้บริโภคชาวเอเชียยังคงพอใจอย่างมาก จากการได้รับการนำเสนอสินค้า โดยดูจากยอดใช้จ่ายกว่า 59%
สถิติที่น่าสนใจของคนไทย
· ช่องทางที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายสูงสุด คืออีเมล 62% และ โซเชียลมีเดีย 65%
· 51% ของคนไทยคิดว่าคอนเทนท์ในแชทแอพฯ น่าเบื่อและซ้ำไปซ้ำมา
· คนไทยยังพอใจกับการได้รับข่าวสารจากแบรนด์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่องทางดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย โดยคอนเทนท์ 3 อันดับแรกที่อยากได้รับ ได้แก่ โปรโมชั่น 75%, ข่าวอัพเดทเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่หรือกิจกรรมทางการตลาด 63%, และข่าวเกี่ยวกับบริษัท/ แบรนด์ 35%
· 70% ของคนไทยพบว่าการที่แบรนด์ส่งข้อมูลโปรโมชั่นแบบระบุตำแหน่ง (Location-based offers) หรือการส่งข้อมูลกระตุ้นการขาย ณ จุดจำหน่าย ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดความสนใจ และกระตุ้นการใช้จ่าย
แพทริค ซิม ผู้จัดการทั่วไป เอ็กซ์พีเรียน (Experian) มาร์เก็ตติ้งเซอร์วิส ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปมาก เพราะผู้บริโภคได้รับอิทธิพลอย่างมากจากโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือ ผู้บริโภคยุคใหม่เข้าถึงข้อมูลในแบบฉบับของตัวเอง โดยมุ่งหวังให้การสื่อสารของแบรนด์เข้ากับปัจจุบันโดนใจ และเข้าถึงได้จากเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ส่งผลให้นักการตลาดต้องวางกลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ต้องการ และลดความซ้ำซ้อนของช่องทางต่างๆ”
จากผลสำรวจ “มุมมองของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล (เอเชีย) 2558” พบว่าแบรนด์ต่างๆต้องปรับตัวจากการผลิตชิ้นงานเพียงแบบเดียวสื่อสารกับทุกคน เป็นการสร้างสรรค์เนื้อหาให้เข้ากับความสนใจของผู้บริโภค ตั้งเป้าหมายอย่างแม่นยำ หรือประเมินความเสี่ยงในการสื่อสารผิดจังหวะ ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจโดยรวม” แพทริค กล่าวเพิ่มเติม
ผู้บริโภคใช้เวลาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนมากขึ้น
กว่า 98% ของผู้เข้ารับการสำรวจจากทั่วภูมิภาคเอเชีย มีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองกว่า โดย 88% ยอมรับว่าก้มหน้าใช้เวลาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนเกือบตลอดเวลา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางการตลาดสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่สามารถละเลยได้หากต้องการเข้าถึงผู้บริโภคในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคชาวจีนที่กว่า 94% ใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลา
ตลาดการซื้อขายผ่านช่องทางสมาร์ทโฟนก็มีสถิติที่สูงขึ้นเช่นกัน โดย 91 % ของผู้เข้าร่วมสำรวจ เคยมีประสบการณ์การซื้อสินค้าบนสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งหมายความว่ากลยุทธ์การทำตลาดผ่านช่องทางสมาร์ทโฟนนั้นสามารถส่งผลต่อธุรกิจโดยตรง
อีเมลยังคงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดแม้จะยังมีความท้าทายอยู่บ้าง
ผู้บริโภคทั่วเอเชียใช้โทรศัพท์มือถือในการเช็คอีเมลมากที่สุด กว่า 68% ในขณะเดียวกัน ช่องทางการกระตุ้นการขายที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นอีเมล โดย 64% ของผู้เข้าร่วมสำรวจเคยใช้จ่ายจากคอนเทนท์แนะนำสินค้าที่ได้รับทางอีเมล ตามด้วยโซเชียลมีเดีย 53% (ประเทศไทย 65%) ในภาพรวมตลาดเอเชีย คอนเทนท์ที่ได้รับผ่านทาง SMS หรือแอพแชทต่างๆ เช่น LINE, WeChat ก็มีผลในการใช้จ่ายเช่นกัน โดยมีผลประมาณ 39%
โอกาสยังมีอยู่มากมายสำหรับธุรกิจ
ผู้เข้าร่วมสำรวจเพียงแค่ 10 % ที่ไม่อยากรับข้อมูลข่าวสารโปรโมชั่นสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงยังมีโอกาสอีกมากในการทำการตลาดเพื่อจะเข้าถึงผู้บริโภค การปรับการจัดวางคอนเทนท์ให้สามารถแสดงผลได้อย่างเหมาะสมบนอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปรับแผนการเข้าถึงผู้บริโภคแบบที่เรียกว่า Personalisation เนื่องด้วยกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมสำรวจพึงพอใจต่อการได้รับคอนเทนท์ที่อ้างอิงจากประวัติการใช้จ่าย 59% ตัวเลือกในการให้บริการส่งสินค้า 57% และประวัติการเข้าชมทางอินเตอร์เน็ต 55%
โดยแพทริกเน้นย้ำว่า “ในชณะที่บริษัทส่วนใหญ่ต่างเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านหลากหลายช่องทาง แต่ความ ท้าทายอยู่ที่เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เนื้อหาน่าสนใจ และตอบโจทย์ในการเข้าถึงผู้บริโภค ผู้ประกอบการและนักการตลาดต้องกลับมาพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางการสื่อสารหลัก รวมถึงการทำให้เนื้อหาสอดคล้องกัน และสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ”