Site icon Thumbsup

เล่าประสบการณ์ Startup Weekend Bangkok : Travel Edition

startup-weekend-travel-edition

วันนี้เรามีบทความพิเศษที่ถ่ายทอดจากผู้ที่ได้เข้าร่วมแข่งขันงาน Startup Weekend Bangkok : Travel Edition ที่จัดไปเมื่อวันที่ 12-14 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คนที่เข้าร่วมเท่านั้นจะรู้สึกและสัมผัสได้ ทาง thumbsup จึงไม่ช้าที่จะนำการบอกเล่านี้มาให้ผู้อ่านได้รู้กัน เผื่อว่างานครั้งหน้าจะได้ไปรับรู้ความรู้สึกนี้กันบ้างครับ

Editor Note: บทความนี้เขียนโดย  Woratana Ngarmtrakulchol หรือ Perth เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ designil.com ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำบทเว็บไซต์ thumbsup แล้วเป็นที่เรียบร้อยครับ

Startup Weekend เป็นงานที่ให้คนเข้าไปจับกลุ่มคิด Startup และลองทำกันใน 54 ชั่วโมงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้พบกับคนใหม่ ๆ ลองทำอะไรใหม่ ๆ ใครที่คิดว่าวันนึงอยากลองทำ Startup แต่ไม่มีเวลาสักที ผมแนะนำให้มางานนี้เลยครับ

ก่อนหน้านี้คุณ Vadi Forte เคยมา เล่าประสบการณ์ในงาน Startup Weekend Chiang Mai 2014 กันไปแล้ว คราวนี้ผมเลยขอมาเล่าประสบการณ์ของงาน Startup Weekend Bangkok ที่เพิ่งจบไปสด ๆ ร้อน ๆ กันบ้างครับ

ทำ Startup การท่องเที่ยว ใน SWBKK Travel Edition

งาน Startup Weekend Bangkok ครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อ Travel Edition คือให้ทำ Startup ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว นั่นเองครับ โดยจะเริ่มงานตอนวันศุกร์เย็น และจบวันอาทิตย์เย็น (3 วัน) เพื่อให้คนที่มีงานประจำสามารถเข้าร่วมได้ง่าย ๆ ครับ กลับไปก็นอน ตื่นมาวันจันทร์ทำงานประจำต่อเลย

ตอนลงทะเบียนจะมีให้เลือกว่าเราเป็น DeveloperDesigner, หรือ Business Guru ครับ ส่วนใหญ่คนที่มางานนี้จะเป็น Business Guru เยอะมาก ๆ รองลงมา คือ Developer และที่น้อยสุดคือ Designer ครับ ทำให้บางกลุ่มไม่มี Designer เลยสักคน (เช่น กลุ่มของแอดมินเป็นต้น)

คนเข้าร่วมงานมีประมาณ 40 – 50 คนครับ แบ่งเป็นคนไทยกับคนต่างชาติ (ญี่ปุ่น, บราซิล, แคนาดา ฯลฯ) ประมาณครึ่งต่อครึ่ง ทุกคนจะได้รับเสื้อ Startup Weekend คนละตัว ซึ่งผมมารู้ตอนวันอาทิตย์ว่าฝรั่งใส่เสื้อไม่ค่อยได้กันครับ เพราะเป็นไซส์สำหรับคนไทย

สำหรับใครที่อยากมาร่วมงาน Startup Weekend แนะนำให้สมัครตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ แอดมินสมัครช่วงแรก 2,200 บาท จากราคาเต็ม 2,900 บาท หรือถ้าเป็นนักศึกษาเค้าก็มีส่วนลดพิเศษให้อีกด้วย ถ้าสมัครแล้วเกิดติดธุระด่วนชนกับวัน Startup Weekend พอดี ก็สามารถขอ Refund ได้ก่อนวันจริงอย่างน้อย 7 วันครับ

สำหรับใครที่มีเงินเก็บไม่ เยอะ และสงสัยว่าเงินที่เราจ่ายในงานนี้คุ้มมั้ย แนะนำให้อ่านไปเรื่อย ๆ แล้วลองคิดตามดูนะครับ มาดูกันเลยดีกว่าว่าแต่ละวันใน Startup Weekend เป็นอย่างไรบ้าง

วันที่ 1 : Pitch ไอเดีย Startup และจัดทีม

งาน Startup Weekend Bangkok เริ่มขึ้นตอนเย็นวันศุกร์ โดยจะมีกิจกรรม Icebreaking เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็ถึงเวลา Pitch ไอเดีย

การ Pitch ไอเดีย คือ จะให้เสนอไอเดียของ Startup ที่อยากทำคนละ 1 นาที พูดจบปรบมือไล่เลย ใครจะ Pitch ก็ได้ครับ หรือแม้แต่ Staff บางคนมีไอเดียก็เอามาเสนอ แต่จะช่วยเหลือได้อย่างเดียวครับ เข้าร่วมแข่งขันไม่ได้ แอดมินกะจะไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยการเกาะไอเดียชาวบ้านอยู่แล้ว เลยไม่ได้ Pitch ครับ

ซึ่ง หลังจากได้ไอเดียมาประมาณ 20 – 30 ไอเดีย ก็จะให้คนในงานโหวตกันว่าชอบไอเดียไหนมากที่สุด โดยไอเดีย Startup ที่ได้รับการโหวตสูงสุด 10 อันดับแรกก็จะให้เจ้าของไอเดียออกมาอธิบายอีกทีว่าเกี่ยวกับอะไร และต้องการคนทำอะไรบ้างมาร่วมที

อ้อ สำหรับไอเดียที่ไม่ติดอันดับก็สามารถเอามาแข่งได้นะครับ หรือแม้แต่ไอเดียใหม่สุด ๆ ที่ไม่ได้ Pitch ก็เช่นกัน ขอเพียงแค่จับกลุ่ม 3 คนขึ้นไปก็สามารถทำได้แล้วครับ ส่วนไอเดียที่ได้รับการโหวตสูงสุด 10 อันดับแรกก็เปลี่ยนทีหลังได้เช่นกัน เพราะบางทีไปปรึกษาโค้ชแล้วโดนตีกลับมาจนมีหลายกลุ่มเปลี่ยนจากไอเดียเดิมไป หลายตลบ

สิ่งที่สำคัญใน Startup Weekend คือการทำ Validation ต้องแสดงให้กรรมการเห็นว่าไอเดีย Startup ของเรามีกลุ่มเป้าหมายอยากใช้ ยอมจ่ายเงินให้จริง ๆ ยิ่งดี

ใน งาน Startup Weekend ครั้งนี้มีไอเดียที่น่าสนใจหลายอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแก้ปัญหาเรื่องเศษเหรียญของประเทศที่เราไปเที่ยวที่ เหลือเยอะมาก ๆ แล้วใช้ไม่ได้ตอนกลับประเทศ หรือเว็บที่ขายทริปท่องเที่ยวทุกอย่างในราคา 99 บาท ฯลฯ แต่ที่แอดมินสนใจมากที่สุด คือ เว็บขายคอร์สเรียนวัฒนธรรมของแต่ละประเทศให้กับนักท่องเที่ยว ครับ เลยไปร่วมกลุ่มกับเค้า

กลุ่ม เรามี 5 คนครับ เป็น Business ชาวต่างชาติหมดเลย 4 คน และแอดมินตัวน้อย ๆ เป็น Developer คนเดียวครับ Designer ก็ไม่มี ชีวิตดีสุด ๆ สุดท้ายมาทำโลโก้ ทำภาพแบนเนอร์เองด้วย ใช้ความรู้ Developer มาก ๆ (กัดฟัน) โดยชื่อกลุ่มตอนแรกคือ Bakana แปลว่า “การเรียนรู้” ในภาษาอะไรสักอย่าง สุดท้ายเปลี่ยนชื่อมาเป็น Go Sensei ครับ

เรา ก็พูดคุยกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เตรียมวางแผนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรกันบ้าง โดย Ton ซึ่งเป็นเจ้าของไอเดีย (ชื่อเล่นเค้าเหมือนคนไทยมาก แต่จริง ๆ เป็นคนบราซิล) เค้าก็บอกว่างาน Startup Weekend สิ่งสำคัญคือการ Validate ไอเดียให้กรรมการเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายของเราสนใจจะใช้สิ่งนี้จริง ๆ และยิ่งทำให้เห็นได้ว่า มีคนยอมจ่ายเงินให้ Startup ของเราภายใน 54 ชั่วโมง ยิ่งทำให้เรามีโอกาสชนะเยอะ

เพราะ ฉะนั้นแผนของเรา คือ วันเสาร์จะไปคุยกับธุรกิจสอนต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวสนใจ เช่น พวกโยคะ, มวยไทย, สอนภาษาไทย ฯลฯ ขอราคาพิเศษจากเค้าแลกกับการที่เราหาลูกค้าให้ และหลังจากนั้นก็จะออกไปตามถนน ถามนักท่องเที่ยวว่าสนใจเรียนคอร์ส … มั้ย เรามี Deal ราคาพิเศษให้ จ่ายเงินแล้วไปเรียนได้เลย

แผน ฟังดูดีมากครับ ผมตื่นเต้นมาก ติดปัญหาอย่างเดียวคือเป็นฝรั่งทั้งกลุ่มเลยครับ แอดมินอังกฤษยังไม่แข็งแรงมาก คุยกับเค้าไม่ค่อยทันเท่าไหร่ ใช้พลังงานในการคุยแต่ละครั้งเยอะมาก แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่สนุกดีครับ แนะนำให้ลอง กลับห้องไปถึงกับสลบเลย

พอสักเที่ยงคืนก็แยกย้ายกันกลับ ครับ งานนี้สามารถนอนค้างคืนที่ Hubba ได้เช่นกัน มีห้องอาบน้ำเตรียมไว้ให้ด้วย แต่แอดมินไม่ได้เตรียมเสื้อผ้าอะไรมาเลยครับ เลยขอกลับห้องไปนอนดีกว่า

วันที่ 2 : (พยายาม) ทำ Validation และ MVP

สำหรับคนที่อาจจะงงกับคำว่า MVP คือ Minimum Viable Product หรือพูดง่าย ๆ คือ การทำตัวอย่างที่สามารถใช้ได้จริง โดยมีเฉพาะฟีเจอร์ที่จำเป็น นั่นเองครับ เป็นทฤษฎีการทำ Startup ที่บอกว่าควรทำ MVP มาทดลองตลาดก่อนว่าไอเดียเรามีคนซื้อมั้ย

ตอน เช้าเราก็กลับมาทำงานกันต่อครับ ข้อดีอย่างหนึ่งของงาน Startup Weekend คือ มีอาหารและขนมให้กินตลอด ไม่ต้องออกไปไหนเลย มีกาแฟ น้ำอัดลม น้ำเปล่าให้หยิบได้เรื่อย ๆ ด้วย ต้องขอขอบคุณสปอนเซอร์ใจดีมา ณ ที่นี้ครับ

ตอน เช้าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถกเถียงกันว่า Go Sensei จะจับกลุ่มลูกค้าไหนบ้างดี เราควรจะให้นักท่องเที่ยวมาเป็นคนสอนด้วยมั้ย หรือแค่ไปติดต่อธุรกิจต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วดี โดยส่วนตัวผมคิดว่าตลาดที่จะให้นักท่องเที่ยวมาสอนด้วยก็น่าสนใจครับ ตัวอย่างเช่น ตากล้องเก่ง ๆ หรือครูสอนโยคะที่ชอบเที่ยว พอมาถึงไทยก็เปิดคอร์สสอน หาเงินไปด้วยเที่ยวไปด้วย แต่ท้ายที่สุดเราก็ยังหาข้อสรุปเรื่องนี้ไม่ได้

ทำ Marketing อย่าตั้งคำถามว่าจะทำ Offline หรือ Online แต่ให้ดูว่ากลุ่มลูกค้าของเราอยู่ที่ไหน แล้วไปทำ Marketing ตรงนั้น

ใน วันที่ 2 นี้จะมี Coach ซึ่งเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการทำ Startup ต่าง ๆ รวมถึงคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว มาพูดคุยกับแต่ละกลุ่มครับ โดยจะมีโค้ชประมาณ 10 คนให้แต่ละกลุ่มเลือกได้เลยว่าจะคุยกับใครบ้าง ซึ่งจะใช้เวลาคุยกับ Coach ช่วงบ่าย – เย็น คนละ 30 นาทีต่อกลุ่ม

โค้ช แต่ละคนก็ถนัดกันไปคนละแบบครับ ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณ Lam You Teck ซึ่งเป็น Head of Performance Marketing ของ Hotel Quickly เป็น Startup แอพจองโรงแรมบนมือถือ แอดมินความรู้เรื่อง Marketing ต่ำต้อยมาก พอไปคุยแล้วได้อะไรใหม่ ๆ เยอะ ถึงกับต้องขอจดเลยทีเดียว

ที่ชอบมากที่สุดคือตอนที่ผมถามว่า “ทำ Marketing ควรทำ Online หรือ Offline ดี” เค้าก็ตอบว่า “อย่าไปคิดว่าทำ Online หรือ Offline แต่ให้คิดว่ากลุ่มลูกค้าเราอยู่ที่ไหน แล้วไปทำ Marketing ตรงนั้น”

นอกจาก นั้นก็มีโอกาสได้คุยกับเจ้าของเว็บไซต์ Localalike.com ซึ่งไอเดียคล้ายกับ Startup ที่เรากำลังทำอยู่เลยครับ โดย Local Alike เป็นเว็บที่ให้คนสามารถซื้อทัวร์วัฒนธรรมจากคนท่องถิ่นจริง ๆ ได้ ซึ่งเป็นการหาเงินให้กับคนท้องถิ่นไปในตัวอีกด้วย ส่วน Go Sensei ที่กลุ่มผมกำลังทำจะเน้นไปที่เรื่องสอนสิ่งต่าง ๆ เช่น มวยไทย โยคะ ภาษาไทย อะไรพวกนี้แทนมากกว่า

หลังจากที่คุยกับโค้ชมาหลายคนก็รู้สึกว่าไอ เดียเราเริ่มแน่น จนมาคุยกับโค้ชคนสุดท้าย… ซึ่งถือเป็นจุดเลี้ยว (Pivot) ของเราเลยทีเดียว (ห้ามผวน)

โค้ชคนสุดท้าย คือ คุณ Maxim Titov เป็นเจ้าของเว็บไซต์ Tickets.co.th เป็นคนหน้านิ่ง ๆ พูดเรียบ ๆ แต่โหดร้ายเหมือนครูสอนภาษาอังกฤษตอนแอดมินไปแลกเปลี่ยนเป๊ะ ๆ คือเสียงเรียบ ๆ นิ่ง ๆ แต่คำพูดเหมือนมีดแทงเราเลย

เค้าเปิดเว็บไซต์ หนึ่งให้ดู เป็นเว็บรวมแหล่งเสริมสวยในไทย มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ​ ซึ่งคุณ Maxim รู้จักกับเจ้าของเว็บไซต์ เค้าบอกว่า “คุณรู้มั้ย เว็บนี้ไม่มีกำไรเลย ขนาดตลาดแหล่งเสริมสวยที่มีอยู่แทบทุกหัวมุมในกรุงเทพฯนะ แล้วคุณทำเรื่องการสอน ตลาดของคุณใหญ่ขนาดไหน” ในทีมเราไม่มีใครรู้ครับ เพราะหาสถิติเกี่ยวกับตลาดการสอนสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ “แล้วถ้าเกิดตลาดของคุณมีเงินไหลต่อปีทั้งหมด $10,000 คุณเอากำไร 10% ได้แค่ $1,000 ธุรกิจมันจะอยู่ได้เหรอ”

แค่นั้นแหละครับ มึนกันไปทั้งทีม ได้เรียนรู้เรื่อง Market Size ว่า การจะทำ Startup ถ้าตลาดไม่ใหญ่จริงก็ไม่มีนักลงทุนที่ไหนยอมให้เงินเราเป็นล้าน ๆ หรอกครับ

ถ้าเกิดตลาดของคุณมีเงินไหลต่อปีทั้งหมด $10,000 คุณเอากำไร 10% ได้แค่ $1,000 ธุรกิจมันจะอยู่รอดได้เหรอ

กลับ มานั่งมึน ๆ ที่โต๊ะต่อ ไม่รู้ว่าควรจะเปลี่ยนไอเดียไปทางไหนดีครับ เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่มาก ก็เลยทำเว็บไซต์สำหรับไอเดียเดิมไปก่อน ปรับแต่งนู่นนี่ให้มันดูดีขึ้น ตอนนั้นรู้สึกได้เลยว่าไอเดียนี้ตลาดมันเล็กมาก ต้องพยายามหาทางอื่นที่มันน่าสนใจกว่านี้ ซึ่ง การเปลี่ยนไอเดียใน Startup เราเรียกกันว่า Pivot ครับ

ตอน แรกผมว่า Pivot ว่า ไพ-หวอต ครับ แต่เจอคุณลุงในทีมมาจาก Canada พี่แกอ่านว่า พิ-เหว็ต ตอนแรกถึงกับงงเลยว่าเค้าหมายถึงอะไร ฟังไปฟังมา อ๋อ Pivot นี่เอง ใครอยากฟังเสียง Pivot จริง ๆ แนะนำเว็บไซต์ Merriam Webster เลยครับ พิมพ์คำเข้าไปแล้วเว็บจะอ่านให้ฟัง

จนถึง ประมาณสี่ห้าทุ่มก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อแล้วครับ คนในทีมกลับไปทีละคน ไอเดียก็คิดไม่ออก เว็บไซต์ก็ไม่รู้จะทำอะไรเพิ่ม เลยออกไปจิบเบียร์อยู่ตรงสวนใน Hubba ครับ งานนี้เบียร์ฟรีด้วย อากาศข้างนอกก็ไม่ร้อน ชิวสุด ๆ เสร็จแล้วก็กลับไปนอนครับ

ส่วนเรื่อง Validation ที่วางแผนไว้ตอนวันที่ 1 อย่างดีก็ล่มครับ เพราะสรุปไอเดีย Business Model ไม่ได้สักที

วันที่ 3 : Pitch ต่อหน้ากรรมการ

วัน นี้เป็นวันสุดท้ายแล้วครับ พอ Ton มาถึงตอนเช้าเค้าก็บอกว่า เฮ้ ยู ไอคุยกับมายเฟรนด์มาลาสไนท์ ได้นิวไอเดียล่ะ (จริง ๆ พูดอังกฤษหมดนะครับ ผมเอามาแปลเป็นไทยกฤษเฉย ๆ) แล้วก็เล่าว่าทุกปี บริษัทใหญ่ต่าง ๆ จะส่งพวกผู้บริหารระดับ C-Level (CEO, CFO, CTO etc.) ไปพักผ่อนประมาณ 2 อาทิตย์ต่อปี ซึ่งเราจะเน้นกลุ่มบริษัทที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ และอยากเรียนภาษาอังกฤษระหว่างเวลาพักผ่อน

สิ่งที่ Go Sensei จะทำ คือ จัดทัวร์พิเศษที่ผู้บริหารพวกนี้สามารถมาเรียนภาษาอังกฤษ พร้อมกับพาไปทำกิจกรรมผ่อนคลายที่เหมาะกับผู้บริหาร เช่น ตีกอล์ฟ, นั่ง Seaplane (เครื่องบินแบบที่ปล่อยตัวและลงจอดบนน้ำ จะไม่มีล้อ), นวดแผนไทย ฯลฯ ซึ่งงบบริษัทตรงนี้เยอะอยู่แล้วครับ คนกลุ่มนี้ยอมจ่ายเป็น $1000 ต่อสัปดาห์เพื่อให้ได้สิ่งที่เหมาะกับเค้าจริง ๆ

ทั้งทีมเห็นด้วยหมด ก็เลยเริ่มปรับเว็บไซต์ให้เข้ากับไอเดียใหม่ครับ จากเดิมไอเดียเก่าจะเป็น Mass เน้นของเยอะ ๆ ไว้ก่อน แต่ไอเดียใหม่เราปรับให้การแสดงผลคอร์สแต่ละอันดู Premium มากขึ้น รูปใหญ่อลังการมากขึ้น น่ามาเที่ยวมากขึ้นครับ

จากนั้น Ton ก็ทำ Presentation จนถึง 4 โมงเย็น ก็แยกย้ายไปกินข้าวเย็นและเริ่ม Pitch ตอน 5 โมงกว่า ๆ – 6 โมงครับ

การ Pivot ไอเดียเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับ Startup เพราะแม้แต่ Instagram กว่าจะมาเป็นแอพโพสรูปก็เคยเป็นแอพ Check in สถานที่มาก่อน

กรรมการ มี 5 คนครับ เป็นคนที่อยู่ในวงการ Startup ทั้งสิ้น โดยแต่ละทีมมีเวลาให้ Pitch ทั้งหมด 5 นาที และกรรมการจะถามต่ออีกประมาณ 5 นาทีครับ ซึ่งกลุ่มผมก็ได้ Pitch เป็นกลุ่มที่ 5 (สังเกตว่าย่อหน้านี้มีเลข 5 หมดเลยแบบไม่ได้ตั้งใจ)

มี หลายกลุ่มที่ตอน Pitch วันนี้ไอเดียคนละเรื่องกับวันแรกเลย คาดว่าโดนโค้ชตีแตกกันมาแบบกลุ่มผมแน่นอน ซึ่งการ Pivot ไอเดียไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ เป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับ Startup เพราะแม้แต่ Instagram กว่าจะมาเป็นแอพโพสรูปก็เคยเป็นแอพ Check in สถานที่มาก่อน

ไอเดียอันที่ผมคิดว่าน่าสนใจดีเหมือนกัน คือ TravelAR เป็นตลาดให้คนเล่น Instagram โพสรูปที่แบรนด์ต้องการ แล้วได้เงินไปใช้ (เช่น โพสรูปตัวเองคู่กับสินค้า หรือโพสรูปสินค้ากับทะเล) ผมเคยทำงานบริษัท Agency ที่มีการจ้างดาราใน Instagram ลงรูปอยู่แล้ว มีตั้งแต่เน็ตไอดอลราคาไม่กี่พัน ไปจนถึงดาราโพสนึงหลักแสน แต่ไอเดีย TravelAR จะเน้นที่คนทั่วไป ไม่ต้องดารา ใช้ปริมาณมากกว่า และราคาถูกกว่าด้วย

หลัง จากแต่ละกลุ่ม Pitch กันเสร็จแล้วก็ได้เวลาประกาศผลครับ ซึ่งกลุ่มของผม Go Sensei ได้อันดับที่… เท่าไหร่ไม่รู้ ไม่ได้รางวัลครับ มาดูผู้ชนะกันดีกว่า

Startup Weekend Bangkok : Travel Edition รางวัลที่ 3 ชื่อ Speak Map เป็นแอพพาเที่ยวพร้อมมีเสียงบอกในแต่ละที่ที่เราไป ว่าตรงนั้นคืออะไร ตรงนี้คืออะไร โดยจะ Partner กับพวกบริษัททัวร์ครับ

ต่อมาคือ รางวัลที่ 2 ได้รับรางวัล 2 ทีมครับ คือ Trip99 เว็บขาย Deal ที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวทุกอย่างในราคา 99 บาท และ Trippa เว็บที่ให้คน Local ทั่วไปมาขายทัวร์สำหรับนักท่องเที่ยวเองได้ เช่น คุณป้าพายเรือที่ตลาดน้ำก็อาจจะจัดทัวร์พานักท่องเที่ยวนั่งเรือเล่นอะไรแบบ นี้ครับ

สุดท้าย รางวัลที่ 1 คือ InterCoin เป็นเครื่องสำหรับใส่เหรียญของประเทศนั้น ๆ ที่เหลืออยู่ตอนนักท่องเที่ยวจะกลับประเทศ (เพราะเอาเหรียญกลับไปก็แลกคืนไม่ได้อยู่ดี) ใส่ไปในเครื่องแล้วได้สิทธิ์จับจ่ายใช้สอยราคาพิเศษในสนามบินได้

หลังจากประกาศรางวัล ก็มีจัด Afterparty อาหาร เครื่องดื่มเยอะแยะมากมาย ก็พูดคุยแลกเปลี่ยนนามบัตรกันแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านครับ

ได้อะไรบ้างจากงาน Startup Weekend Bangkok : Travel Edition

มิตรภาพ… อันนี้คือพูดแบบเอาหล่อ หรือถ้าเป็นคำทางการ เราเรียกว่า “Connection” นั่นเองครับ แอดมินดีใจน้ำตาจะไหลมาก เพราะทำนามบัตรมาเป็นปีแล้ว เพิ่งจะได้แจกจริง ๆ จัง ๆ ในงานนี้ เวลามีคนขอนามบัตรแทบจะหยิบให้ 10 ใบเลย

ในงานนี้จะได้เจอคนอยากทำ Startup มากมาย ใครอยากหา Co-Founder มางานนี้ไม่ผิดหวัง นอกจากนั้นยังมีเจ้าของธุรกิจอีกเยอะแยะ สำหรับ Developer หรือ Designer ถ้ายังไม่มีงานทำมางานนี้ได้ Connection ไปสมัครงานแน่นอน หรือถ้ามีงานอยู่แล้วมางานนี้ก็อาจจะได้ฝิ่นไปทำด้วย (คนต่างชาติบอกแอดมินว่าถ้าเค้ามีงานจากต่างประเทศเดี๋ยวส่งมาให้)

การได้พูดคุยกับ Coach แต่ละท่านก็ได้ความรู้เยอะแยะที่หาจากที่ไหนไม่ได้ด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำ Marketing หรือการทำ Startup

อ้อ ทาง Hubba ใจดีแจกคูปอง Membership Hubba มาให้ 1 เดือนด้วยครับ ส่วนคนชนะก็จะได้คูปอง 6 เดือน (รางวัลที่ 1) กับ 3 เดือน (รางวัลที่ 2 กับ 3) มูลค่าเดือนละ 3000 กว่าบาท เพราะงั้นไม่ต้องกลัวว่าเงินที่จ่ายไปจะคุ้มมั้ย เพราะแค่นี้ก็เยอะกว่าค่าลงทะเบียน Startup Weekend แล้วครับ

ส่วน ถ้าใครเลือกไม่ถูกว่าจะไป Startup Weekend ที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ดี ผมแอบได้ยินมาว่าตอนจัด Startup Weekend ที่เชียงใหม่คนไม่ค่อยคุยกัน และ Designer เยอะมาก ส่วนจัดที่กรุงเทพฯ ตรงข้ามกันเลยครับ คนคุยกันเสียงดัง และ Designer แทบไม่มีเลย (ผมเลยกลายเป็น Developer ที่ออกแบบ Logo นี่แหละ)

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ Hubba และทีมงาน Startup Weekend Bangkok : Travel Edition ทุกคนครับ และสปอนเซอร์ทุกท่านที่ทำให้เกิดงานดี ๆ แบบนี้ขึ้นมาได้ ขอขอบคุณรูปประกอบจากเพจของ Startup Weekend Bangkok ด้วยครับ