เพราะเป็นแพลตฟอร์ม Social Media อันดับต้น ๆ ที่มีการใช้งานอย่างสูงมากในไทย ประกอบกับธุรกิจ SMB ของไทยทุกวันนี้ก็พึ่งพาบริการต่าง ๆ ของ Facebook ในระดับที่สูงติดอันดับโลก ดังนั้นจึงไม่แปลกหากคนไทยจะต้องให้ความสนใจกับการอัปเดตความสามารถของ Facebook ผ่านงานสัมมนาครั้งใหญ่ “F8 Conference” ที่จัดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา
โดยสิ่งที่ Facebook เดินเกมอยู่ตอนนี้เป็นไปตาม Master Plan 10 ปีที่เคยกำหนดไว้ ซึ่งก็คือการก้าวไปสู่ 3 เทคโนโลยี ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), อุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (Connectivity) และ การนำเทคโนโลยี VR/AR ขึ้นใช้งาน ซึ่งเราจะได้เห็นผ่านการนำเสนอของ Mark Zuckerberg บนเวที F8 อย่างน่าสนใจ และในวันนี้เราได้รวบรวมเทคโนโลยีเหล่านั้นมาฝากกันแล้วดังต่อไปนี้
1.Augmented Reality Camera Effects Platform
Augmented Reality Camera Effects Platform น่าสนใจตรงที่มันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยนักพัฒนาสร้างของเล่นใหม่ ๆ อย่างเช่น หน้ากากสำหรับผู้รักการถ่ายเซลฟี่ ที่สามารถซ้อนทับลงไปบนภาพที่ถ่ายจากกล้องของสมาร์ทโฟนได้ (ซึ่งบางทีอาจดูคล้ายกับคุณสมบัติของ Snapchat มากไป) หรือการสร้างเกมแบบ Interactive, การสร้างวัตถุเสมือนจริง (Virtual Object) เช่น กระดานหมากรุก หรือทีวี ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำพาผู้บริโภคไปสู่ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการใช้งาน Facebook ได้นั่นเอง
เหตุที่ทำเช่นนี้ได้ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า Facebook มีนักพัฒนาภายนอกอีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะสนับสนุน Facebook ในการพัฒนาคอนเทนต์ AR ใหม่ ๆ เหล่านี้ด้วย
2.Frame Studio กรอบภาพสำหรับตกแต่ง
จากเมื่อก่อนที่ใครอยากทำกรอบรูปสักชิ้นอาจต้องคิดหนัก หรือต้องรู้วิธีการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างกรอบรูปขึ้นมาครอบทับภาพ แต่หลังจากนี้ไม่ต้องอีกแล้ว เพราะ Frame Studio จะสร้างกรอบรูปแบบสองมิติขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย
ข้อดีก็คือ นอกจากคนทั่วไปจะสามารถสร้างและแชร์กรอบรูปเหล่านี้กันได้มากขึ้น ธุรกิจยังสามารถสร้างกรอบรูปของตัวเองให้แฟน ๆ นำไปใช้กันได้อีกด้วย ส่วนเฟซบุ๊กเองก็ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะเท่ากับว่าจะมีของเล่นให้คนโพสต์ – แชร์บน Facebook มากขึ้นนั่นเอง
3.Bot และ File Services
ทุกวันนี้ แค่คิดเรื่องการสอบถามข้อมูลด้านการศึกษา หรือเรื่องการติดต่อหน่วยงานราชการ เชื่อว่าคนในยุค Mobile-first น่าจะอยากคุยกับบ็อทมากกว่า เพราะไม่เหวี่ยง ไม่วีน ไม่หงุดหงิด ให้ช่วยหาข้อมูลอะไรก็ทำตามได้ไม่มีบ่น
Facebook Workplace เองก็เช่นกัน เพื่อลดการรบกวนพนักงานคนอื่นใน Workplace ทาง Facebook จึงได้เพิ่มบ็อทเข้าไปในบริการ Workplace ของตัวเอง โดยผสานการทำงานของบ็อทเข้ากับบริการแชร์ไฟล์อย่าง Box, Salesforce หรือจะจับมือกับ Tools อย่าง Netskope, Smarsh หรือ Skyhigh ก็ยังได้
องค์กรไหนที่ใช้งาน Workplace อยู่น่าจะได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย
4. Messenger Group Bots
นอกจากจะเพิ่มบ็อทลงไปใน Workplace แล้ว Facebook ยังเพิ่มบ็อทลงไปใน กรุ๊ปแชทของ Messenger ด้วย ซึ่งอาจเป็นบ็อทของ Spotify, Airbnb ฯลฯ ให้เลือกใช้งานกันได้ตามชอบ
ประโยชน์ที่ได้คือ ฝั่งผู้บริโภคก็ไม่ต้องมานั่งตกลงกันเอง ว่าจะไปเที่ยวแล้วพักที่ไหนดี ก็ส่งให้ตัวกลางอย่างบ็อทของ Airbnb เสนอที่พักดี ๆ ออกมาให้ จะฟังเพลงอะไรกันดี ก็ให้ Spotify จัดเพลย์ลิสต์มาให้ ฯลฯ
ขณะที่ Facebook นั้น ก็ได้รับประโยชน์สองต่อ เพราะมันหมายถึง Spotify, Airbnb, Kayak และอีกมากมายหลายบ็อทต้องพึ่งพิง Facebook อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานเกือบสองพันล้านคน ขณะที่การดึงบ็อทมาใส่ในกรุ๊ปแชทได้ก็เป็นการช่วยให้บ็อทสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน