Site icon Thumbsup

เราถูก Facebook ads รุกล้ำความเป็นส่วนตัวจริงหรือ?

ที่มาของภาพ: http://blogtipswriter.com
ที่มาของภาพ: http://blogtipswriter.com

editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) Wiratchapong Chantapan หรือ “Paul” นักการตลาด E-commerce รุ่นใหม่มาแรงจาก ELCA Thailand เขาอยากแชร์ความคิดความรู้สึกเรื่องแคมเปญการตลาดบน Facebook ตัวหนึ่ง และเราเห็นว่ามันก็น่าสนใจดีเลยเอามาฝาก thumbsupers ในรูปแบบ Guest Post บทความนี้ Paul ส่งมาให้ กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ ทว่าสิ่งที่ Paul เขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของเขา ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ชาว Social หลายคนคงมีคำถามเกี่ยวกับ แคมเปญโฆษณาทางการเมืองแคมเปญหนึ่งที่ จู่ๆ ก็โหมโปรโมทกันรุนแรงจนว่อน Social ไปหมด (ทั้งที่เราอาจจะไม่เคยไป “Like” นักการเมืองคนนี้ก็ได้) วันนี้ผมเลยจะมาเล่าถึงวิธีการทำงานของ Facebook ads ตัวนี้ และไขข้อสงสัยว่า Facebook ads นี่มันโกงและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวได้จริงหรือ? เราไม่ได้ไป Like ทำไมมันถึงมาปรากฏบน Wall ของเรา? ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของใคร แต่เพื่อที่จะไขข้อข้องใจ ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และถ้าเราไม่อยากจะพบเจอกับโฆษณาแบบนี้ คุณควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

Facebook ads มีหลายประเภท และแบ่งออกเป็นกลุ่มหลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ

1. Ads : คือโฆษณาของ Facebook ที่เพจบอกข้อความเอง โดยสามารถกำหนดเป้าหมายผู้ที่จะสามารถเห็น ads ของคุณได้อย่างแม่นยำพอประมาณ เช่น พิกัดพื้นที่ (geographic), ประชากรศาสตร์ พวกเพศ อายุ (demographic), ความสนใจส่วนบุคคล และอื่นๆ

2. Sponsored stories : คือโฆษณาของ Facebook ที่ให้เพื่อนคุณบอกต่อข้อความของเพจโดยการนำปฏิสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลและเพจ มาทำเป็น Ads และ Ads ที่เกิดจากวิธีการนี้ก็ยังสามารถ target กลุ่มคนที่ต้องการให้เห็นได้เช่นกัน โดยมากมักให้บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กับเพจ เป็นคนเห็น (คนที่เป็น Friend กะอีคนกด Like เพจที่ว่านั่นแหละ) โดยเจ้าตัวอาจจะไม่เห็น Ads ตัวนี้เลยก็เป็นได้ แล้วแต่การตั้งค่าของผู้ลงโฆษณา

เรามาดูหน้าตาประเภทแรกกันก่อนครับ (ยกตัวอย่างเปรียบเทียบแค่ Like ads บน Newsfeed จากเครื่อง Desktop นะครับ)

จากภาพจะเห็นว่า เพจตัวอย่างทำการโฆษณา “เพจจะเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวของเพจเอง” กล่าวคือ เจ้าของเพจโฆษณาด้วยตัวเพจเอง (อย่างในภาพข้างบนนี้ SoftLavu ก็จะแนะนำเพจที่พูดถึงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง) ลักษณะของผู้พบเห็นการโฆษณานี้ก็จะเป็นอย่างนี้ โดยทั่วไปแล้วการกำหนดเป้าหมายของผู้พบเห็น Ads นี้ก็จะเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่เคยกด Like เพจนี้มาก่อน ทั้งในอดีต และปัจจุบัน แต่ท่านก็สามารถตั้งค่าให้การโฆษณาแสดงกับบุคคลที่ Like เพจของท่านไปแล้วได้เช่นกัน (แต่มันออกเปลืองงบประมาณสักหน่อย)

แบบที่ 2 ครับ (ยกตัวอย่างเปรียบเทียบแค่ Like ads บน Newsfeed จากเครื่อง destop เช่นกันนะครับ)

จากภาพจะเห็นได้ว่า Facebook ได้นำเอาการมีปฏิสัมพันธ์กับเพจ ระหว่าง “ผู้ใช้” และ “เพจ” มาทำโฆษณา กล่าวคือ “เพจได้อาศัยเพื่อนของคุณเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวแทน” เนื่องจาก นางสาว Courtney Cronin ทำการ Like เพจ Jasper’s Market ไม่ว่าจะ Like มานานแล้ว หรือเพิ่งจะ Like ก็ตาม นำมาพัฒนาเป็น Ads เพื่อให้เพื่อนๆ ของนางทราบว่า นางได้มากด Like page นี้นะจ๊ะ ถ้าเพื่อนๆ ถูกใจก็มากด Like ตามนางสิ (เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับเพจในการจะถูกเพื่อนนางกด Like)

ซึ่งจากกรณีนี้เอง ที่ผมได้อ่านเจอบทความหนึ่งบน Pantip บ่นว่า “ระวังตัวให้ดีนะเมิง … ขนาดกูไม่ได้ไปกด Like มันนะ มันยังโกงเอารูปกูไปโฆษณา” เลยจะมาเล่าให้ฟังว่า เค้าโกงได้ไหม?

จากรายละเอียดของ Ads ด้านบนที่ผมอธิบายมา…

ผมจะบอกว่า หากเราๆ ท่านๆ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพจนั้นมาก่อนก็โปรดวางใจ เพราะทุกท่านจะไม่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อกลโกง ที่ใช้ในการโฆษณา เป็นแน่ เพราะ Facebook นั้นเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้มาก (เค้าแคร์ผู้ใช้มากกว่าเพจจริงๆ นะเออ เพราะถ้าไม่มีเราๆ ท่านๆ แล้ว Facebook ก็ไม่มีใครมาลงโฆษณากะมันสิ)
Facebook ไม่เอาโปรไฟล์ของท่านไปเที่ยวบอกใครต่อใครว่าท่านกด Like เพจนั้น เพจนี้ โดยที่ท่านไม่ได้กด Like ครับ อันนี้เฟิร์มนะ 🙂

ดังนั้นเรามาหาวิธีการป้องกันกันเถิดจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อทางการตลาดของเพจใดๆ

1. โปรดมีสติก่อนการกดไลค์ หรือทำอะไรก็ตามบน Facebook เพราะทุกการตอบสนองต่อเพจสามารถถูกเอามาเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดได้เสมอ เช่น Like เพจ, Like รูป, ตอบ comment หรือ แม้กระทั่งการ Share หรือ Check in จาก Location ที่เพจได้ทำการเลือกไว้

2. ไม่ต้องกลัวที่จะกด Unlike ถ้าเราไม่ต้องการ การพลั้งเผลอหรือกดปุ่มใดๆ ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หากท่านไม่ชัวร์ว่าท่านได้กด Like อะไรบนเพจไม่ต้องประสงค์นั้น ท่านสามารถเข้าไปที่เพจนั้นแล้วเช็คที่ปุ่ม Like หากปุ่มที่ว่าเขียนว่า Liked แสดงว่าท่านได้เข้าไปอยู่ในวงจรของมันแว้ววววว ก็ให้กด Unlike ซะนะครับ อย่ามัวเสียเวลาคิด ทั้งนี้และทั้งนั้น หากท่านเห็นเพื่อนของท่านบน Ads แล้วคิดว่ามันไม่ถูกไม่ควร ก็หลังไมค์ไปหาเพื่อนคนนั้นซะครับ แล้วบอกเค้าซะว่า เราเห็น ads ที่มีเค้าบนนั้น หากเค้าบอกว่าเค้าไม่ได้ Like นะ ก็แนะนำให้เค้าไปกด Unlike ซะครับ โลกก็จะกลับมาสงบสุขเหมือนเดิม 🙂

เพียงเท่านี้ เพื่อน คนที่คุณรัก หรือแม้แต่ตัวคุณเองก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อทางการตลาดของเพจที่คุณไม่ชอบอีกต่อไปครับ เอเมน!!! 🙂