กรมสุขภาพจิตเผยรายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทย มีการพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากและทำให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นอันดับที่ 32 ของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที
จนเป็นเหตุผลให้ Facebook ร่วมมือกับทาง Samaritans ในการทำแคมเปญ ‘The Story of Anonymous Samaritans’ เพื่อช่วยเหลือคนที่รู้สึกไร้กำลังใจ และอยากฆ่าตัวตาย ให้รู้สึกบรรเทาความรู้สึก ลดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกในทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี Facebook ประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรด้านความปลอดภัย สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยและเอเจนซี่ระดับโลก เชอิล ไทยแลนด์เปิดตัวแคมเปญออนไลน์เพื่อสังคม ‘The Story of Anonymous Samaritans เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก’ กระตุ้นจิตสำนึกร่วมสร้างสังคมปลอดภัย กระตุ้นการตระหนักรู้ปัญหาการฆ่าตัวตายและส่งเสริมความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์
‘The Story of Anonymous Samaritans เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก’ เป็นแคมเปญรูปแบบวิดีโอสั้นพร้อมภาพวาดประกอบแบบเคลื่อนไหวฝีมือของนักวาดภาพประกอบไทย จั๊ก ปรีดิ์ จินดาโรจน์ บอกเล่า 10 เรื่องราวของอาสาสมัครจากสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้บริการ Hotline เป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้ที่มีความทุกข์หรือความคิดฆ่าตัวตาย
แคมเปญเล่าเรื่องประสบการณ์ภารกิจในการช่วยชีวิตผู้คนผ่านคลิปเสียงของอาสาสมัคร 10 คนจากสะมาริตันส์ โดยอาสาสมัครเหล่านี้มีประสบการณ์ทำงานมามากกว่า 30 ปี และเป็นการทำงานโดยไม่เปิดเผยตัวตนตามนโยบายของสมาคมฯ และเป็นการทำงานแบบจิตอาสาโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ โดยแคมเปญคลิปวิดีโอ 10 เรื่องดังกล่าวเป็นแคมเปญที่ปล่อยบนแพลทฟอร์ม Facebook ผ่านทางเพจของสมาคมสะมาริตันส์ https://www.facebook.com/Samaritans.Thailand/
ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรเอเจนซี่โฆษณาระดับโลกนำทีมโดยสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟ เชอิล ประเทศไทย และสนับสนุนโดย Facebook ประเทศไทย สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
สมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นฮอตไลน์ศูนย์ช่วยเหลือ พร้อมการดำเนินงานบน Facebook โดยให้บริการทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกวันไม่มีวันหยุด ในช่วงเวลา 12.00 – 22.00 น. โดยมีแผนที่จะขยายเวลาให้บริการเป็นตลอด 24 ชั่วโมง โดยอาสาสมัครทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นก่อนที่จะสามารถให้บริการคลายทุกข์ที่ปลายสายได้
ในโอกาสเดียวกันนี้ Facebook ได้ประกาศยกระดับนโยบายในการทำงานเพื่อร่วมสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย สอดคล้องกับพันธกิจในการทำงานด้านความปลอดภัยของแพลทฟอร์มและความพยายามอย่างต่อเนื่องในการยกระดับการทำงานด้านเนื้อหาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง
สโนว์ ไวท์ สเมลเซอร์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Facebook กล่าวว่า “ในฐานะที่เราเป็นชุมชนออนไลน์ที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลก การรักษาความปลอดภัยของผู้คนบนแพลตฟอร์มของเรามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่เรายังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในแต่ละประเทศ อย่างเช่นสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในโลกออนไลน์หรือแพลทฟอร์มบน Facebook และในชีวิตจริง Facebook มีความยินดีและภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสะมาริตันส์และพันธมิตรในการสร้างประสบการณ์เชิงบวกที่ปลอดภัยบนแพลทฟอร์มและยังเป็นการสร้างการรับรู้ในวงการเกี่ยวกับเครื่องมือการป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเป็นพันธมิตรด้านความปลอดภัยของ Facebook มาตั้งแต่ปี 2018 และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยที่อยู่ในคณะที่ปรึกษาระดับโลกด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายของ Facebook
คุณตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีและโซเชียบมีเดียว่าปัจจุบันพฤติกรรมของผู้คนในการสื่อสารได้เปลี่ยนไปมาก สมาคมฯ ได้มีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่านทาง Facebook Page โดยเพจได้ทำหน้าที่ในการแบ่งปันข้อมูลและให้ความรู้กับผู้คนในการรับมือกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน อีกทั้งอาสาสมัครยังได้รับการติดต่อจากผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านทาง Facebook Messenger เพิ่มมากขึ้น “ในปี 2561 ที่ผ่านมา เราได้รับข้อความกว่า 3,000 ข้อความจากคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงเท่าตัว และในหกเดือนแรกของปี 2562 นี้ เราก็ได้รับข้อความมากกว่า 3,000 ข้อความผ่าน Messenger ซึ่งเราเห็นว่าวัยรุ่นหรือคนวัยหนุ่มสาวสะดวกใจที่จะส่งข้อความผ่านทางแอพฯ มากกว่า โซเชียล มีเดียในมุมมองนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้เข้าถึงความช่วยเหลือได้โดยตรง เพราะหลายคนยังติดที่ความรู้สึกว่าไม่กล้าโทรหรือรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะโทรศัพท์เข้ามาคุยกับอาสาสมัคร”
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยได้เปิดตัวแคมเปญ The Story of Anonymous Samaritans เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก’ ผ่านทางเพจ Facebook ด้วยความมุ่งหวังในการแชร์เรื่องราวของอาสาสมัครเพื่อเป็นการสร้างการตระหนักรู้และเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างมากที่สุดด้วยเครื่องมือออนไลน์ของ Facebook “ก่อนหน้าเรามีแคมเปญวิดีโอที่ปล่อยออกมาทาง Facebook เมื่อปี 2015 หลังจากเหตุการณ์ที่น่าเศร้าของนักร้องชื่อดังที่จบชีวิตตัวเอง โดยเป็นคลิปที่ได้รับการชมมากอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งในวิดีโอที่มีการรับชมมากกว่า 1.8 ล้านวิว และทุกวันนี้ก็ยังมีการแชร์วิดีโอตัวนี้อยู่ พวกเราคนทำงานก็รู้สึกว่าโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เป็นช่องทางที่ทรงพลังในการสร้างการรับรู้ให้คนตระหนักถึงปัญหาและหล่อหลอมจิตสำนึกที่เอื้ออาทรและห่วงใยกันมากขึ้น” คุณตระการกล่าว
คุณสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟ เชอิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และรู้สึกชื่นชมกับความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของทางสมาคมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงรู้สึกสนใจในการช่วยสนับสนุนมากยิ่งขึ้น เมื่อได้พูดคุยกับทางสมาคมอย่างจริงจังจึงได้เข้าใจว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ไม่มีงบด้านโฆษณา การขาดแคลนอาสาสมัคร รวมถึงยังไม่มีช่องทางการติดต่อที่ตอบรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ เราจึงพยายามให้ความช่วยเหลือทางสมาคมอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำแคมเปญต่างๆ รวมถึงการสร้างเว็บไซต์และเพจ Facebook ให้กับทางสมาคม เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีช่องทางสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”
“ส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาหลักของประเทศของเรา และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ช่วยโปรโมทและยกย่องการทำงานที่ยอดเยี่ยมของอาสาสมัครของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยในแต่ละวัน สำหรับกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ในการใช้ภาพวาดประกอบการเล่าเรื่องราวของอาสาสมัครของทางสมาคมนั้น มาจากวัตถุประสงค์ที่เราต้องการใช้วิธีการสื่อสารที่เรียบง่าย แต่มีพลังมากที่สุด เราเชื่อว่าการฟังเรื่องราวจากประสบการณ์ของอาสาสมัคร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคงนึกภาพเองไม่ออก จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่คิดฆ่าตัวตายได้ยิ่งขึ้น และยังได้เรียนรู้ว่าการกระทำง่ายๆ อย่างการรับฟังปัญหาของผู้คนเหล่านั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้จริงๆ” คุณสาธิตกล่าวเสริม
ทั้งนี้ Facebook ได้รายงานความคืบหน้าในการยกระดับการทำงานด้านความปลอดภัยและเพิ่มทรัพยกรและความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองโดยมีการพัฒนาปรับปรุงวิธีการในการรับมือกับเนื้อหาบนแพลทฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายซึ่งเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกผ่านการร่วมประชุมและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนำไปสู่การปรับนโยบายของ Facebook ให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่อนุญาตให้มีการโพสต์รูปภาพการทำร้ายตัวเอง (cutting images) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสนับสนุนเนื้อหาที่กระตุ้นการทำร้ายตัวเอง และยังคงนำเสนอช่องทางความช่วยเหลือต่างๆให้กับผู้คนผ่านเทคโนโลยีต่างๆ บนแพลทฟอร์ม เช่น ระบบเอไอ
โดยในช่วงเมษายน-มิถุนายน ปี 2562 นี้ Facebook ได้จัดการกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองบน Facebook ไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านเนื้อหา ร้อยละ 95 ของเนื้อหานี้มีการตรวจพบก่อนที่จะได้รับการรายงานจากผู้ใช้ ในช่วงเวลาเดียวกัน Facebook ยังได้จัดการกับเนื้อหามากกว่า 800,000 เนื้อหาบน Instagram และร้อยละ 77 เป็นการตรวจพบโดยระบบก่อนที่จะมีการรายงานจากผู้ใช้งานทั่วโลก
นอกเหนือจากนี้ Facebook ยังได้เพิ่มทรัพยากรความช่วยเหลือบนแพลทฟอร์มด้วยการทำงานกับ Orygen หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านสุขภาพจิตเยาวชนโดยได้มีการเพิ่ม #chatsafe guidelines หรือคู่มือคำแนะนำสำหรับเยาวชนในการรับมือกับเนื้อหาหรือโพสต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเอง โดยสามารถดูคู่มือดังกล่าวได้ในศูนย์ให้ความช่วยเหลือของ Facebook (Safety Center) ที่ และจะมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทยเร็วๆ นี้