ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มประกาศแบนการลงโฆษณากับเฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อประท้วงแพลตฟอร์มถึงปัญหาการจัดการและควบคุมเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง ภายในสัปดาห์เดียวทั้ง Adidas, Coca-Cola, PepsiCo, Starbucks, Honda, Ford, The North Face, Unilever, HP และอื่นๆ อีกมากมายก็เข้าร่วมแคมเปญ
วันนี้ Thumbsup ขอพาสำรวจว่าแคมเปญ #StopHateforProfit ที่บริษัทต่างๆ เข้าร่วมแบนการลงโฆษณากับเฟซบุ๊กนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและรายได้ของเฟซบุ๊กแค่ไหน แล้วหลังจากนี้น่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
รายได้หลักจากการโฆษณา.
แม้ว่าการเข้าร่วมแคมเปญ #StopHateforProfit ของบริษัทต่างๆ จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือลงเฟซบุ๊กลดลง ราคาหุ้นของ Facebook ลดลงกว่า 8% มูลค่าบริษัทลดลงกว่า 56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 1.68 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ทรัพย์สินของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ก็ลดลง 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.16 แสนล้านบาท
แต่เรามาดูข้อมูลในปี 2019 กันก่อน เฟซบุ๊กมีรายได้จากการโฆษณาทั้งหมด 69.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นรายได้กว่า 98% ของบริษัท ซึ่งรายได้จากการโฆษณาส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากบริษัทใหญ่อย่าง Starbucks หรือ Coca-Cola แต่มาจากธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ซึ่งใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในการสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์
มีผู้ใช้งานกว่า 8 ล้านรายที่โฆษณาบนเฟซบุ๊กในปีที่ผ่านมา แต่แบรนด์ที่ใช้จ่ายมากที่สุด 100 อันดับแรกมีมูลค่าการใช้จ่ายเพียง 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 6% ของรายได้ทั้งหมดของแพลตฟอร์ม และตั้งแต่เริ่มปี 2020 นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบรนด์ก็มีการลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น แม้เฟซบุ๊กจะถูกแบนการลงโฆษณาจากบริษัทต่างๆ ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็อาจมองได้ว่าบริษัทที่เข้าร่วมแคมเปญถือโอกาสในการประหยัดงบประมาณโฆษณาและเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ไปในตัว ในขณะเดียวกันจึงเกิดคำถามว่าบริษัทผู้ลงโฆษณารายใหญ่และรายเล็กจะสามารถดำเนินธุรกิจโดยไม่พึ่งพาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดได้อีกนานแค่ไหน
การพึ่งพาโฆษณาในเฟซบุ๊ก
เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานมากถึง 2.6 พันล้านคนต่อเดือนและอีก 1 พันล้านคนต่อเดือนในอินสตาแกรม (Instagram) กลายเป็นช่องทางในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยการกำหนด เพศ อายุ พื้นที่ และความสนใจ ที่สำคัญสามารถติดตามประสิทธิภาพได้แบบเรียลไทม์
ในยุคก่อนแบรนด์ใหญ่ๆ เท่านั้นที่สามารถลงโฆษณาใน TV จึงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคและธุรกิจเติบโตยิ่งกว่าเดิม แต่การมาของเฟซบุ๊กและกูเกิลได้พลิกอุตสาหกรรมโฆษณา แม้แต่ผู้ประกอบการรายเล็กก็สามารถสร้างโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำโดยทั้ง 2 บริษัทครองส่วนแบ่งรายได้จากการโฆษณามากกว่าครึ่งนึง ขณะที่ TV ลดลงเหลือ 29% ในช่วงปี 2009 ถึง 2019
ด้วยความนิยมทั้งในแง่ของการใช้งานและธุรกิจทำให้ ‘เฟซบุ๊ก’ กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลก จึงเกิดปัญหาด้านการคุ้มครองความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดก็เกิดปัญหาการจัดการและควบคุมเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง การที่บริษัทต่างๆ ออกมาประกาศแบนโฆษณาในเฟซบุ๊กอาจฟังดูง่าย แต่ความทรงพลังของเฟซบุ๊กก็ยังดำเนินต่อไป
สรุป
หากมาวิเคราะห์กันจริงๆ แล้วจะเห็นว่าทุกบริษัทที่ประกาศแบนเฟซบุ๊ก ไม่มีบริษัทไหนที่ประกาศจะยกเลิกการลงโฆษณากับเฟซบุ๊กแบบถาวร หลายบริษัทระบุว่าจะหยุดโฆษณาบนแพลตฟอร์มถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม บางบริษัทยกเลิกเพียงเฟซบุ๊กแต่ไม่ได้ระบุว่าจะแบนอินสตาแกรมด้วย
นอกจากนี้รายได้ส่วนใหญ่ของเฟซบุ๊กก็ไม่ได้มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แต่มาจากธุรกิจขนาดกลางและเล็กมากกว่า และหากมองในระยะยาวบริษัทเองอาจเป็นฝ่ายที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเสียเอง