วันนี้มีโอกาสได้อ่านหนังสือ “วิถีไม่ตัน” ของ “ตัน ภาสกรนที” หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกดีครับ อ่านๆ ไปแล้วผมรู้สึกได้ถึงรูปแบบการนำเสนอแบบง่ายๆ สบายๆ แบบที่เคยสัมผัสได้กับ “Brand พลิกคน คนพลิก Brand” ของ ธนา เธียรอัจฉริยะ ยังไงยังงั้น แต่ที่อ่านๆ ไปแล้วชอบก็คือความฉลาดของเขาในการใช้ Social Media อย่าง Facebook ให้เป็นประโยชน์ในการรับสมัครสุดยอดพนักงานของบริษัท “ไม่ตัน”
เรื่องนี้บางคนอาจจะรู้แล้วเพราะดังระเบิดระเบ้อทั่วเมือง แต่ถ้าคุณไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ “ตัน” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา? ก็น่าจะพิจารณาลองอ่านดูครับ ผมนำมาเรียบเรียงอีกที เพราะในอินเทอร์เน็ตเท่าที่ดูก็ไม่ค่อยมีพูดถึงเรื่องนี้แบบเจาะลึกนัก
ในหนังสือเล่มนี้ตรงบทที่ 8 ชื่อตอนว่า “หุ้นส่วน” “ตัน” ได้เล่าถึงช่วง 6 เดือนแรกที่เขามาตั้งหลักสร้างบริษัทใหม่ ซึ่งตอนนั้นเขาจำเป็นจะต้องหาทีมงานมาร่วมหัวจมท้ายกับบริษัท “ไม่ตัน” ของเขา เขาจึงจับเอากระแสที่คนไทยชอบเล่น Facebook อยู่แล้วมาทำแคมเปญที่ชื่อว่า “The 9 Challengers”
The 9 Challenger เปิดให้คนส่งคลิปวิดีโอพรีเซนต์ตัวเองส่งไปที่? http://www.facebook.com/tanmaitan โดยใครที่ส่งเข้าไป “ตัน” และทีมงานจะดูคลิปทั้งหมดและคัดเลือกมาเป็นพนักงานของบริษัทใหม่ของเขา ซึ่งท้ายสุดพอประชาสัมพันธ์ออกไป ก็มีคนสนใจส่งคลิปไปหาเขากว่า 1,600 คลิป จากนั้นสกรีนเหลือ 30 คนร่วมเก็บตัวทำเวิร์คช็อป และท้ายสุดเลือกเหลือเพียง 9 คน ที่เด่นจริงๆ
“ตัน” เผยในหนังสือว่า ช่วงนั้นนั่งดูคลิปที่คนส่งกันเข้ามาทุกวันยันตีสองตีสาม และตัวเขาเองก็ออกเดินสายประชาสัมพันธ์โครงการนี้จนได้ทีมงานสุดเก่งออกมา งานนี้ได้ 2 เด้งเลยครับคือ ได้ทั้งคนเก่ง และประชาสัมพันธ์บริษัทใหม่ไปในเวลาเดียวกัน
โครงการ The 9 Challenger นี้มีสื่อมวลชนวิเคราะห์กันว่าเป็นนวัตกรรมในด้านการคัดเลือกคนกันเลยทีเดียว แม้ว่ามีลักษณะคล้ายรายการ The Apprentice เกมโชว์ของ เศรษฐี “โดนัล ทรัมพ์” ที่เปิดรับสมัครหนุ่มสาวทั่วประเทศส่งคลิปวิดีโอพรีเซนต์ตัวเองเพื่อสร้างจุดสนใจให้ทีมงานของทรัมพ์เลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายการ The Apprentice แต่ “ตัน” เพิ่มเติมรายละเอียดอื่นๆ จนกระทั่งได้สุดยอดพนักงานมาในที่สุด
เราเรียนรู้อะไรจากตัน?
ถ้าเราดูดีๆ การส่งคลิปผ่าน Facebook? ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร คนรุ่นใหม่ชอบแสดงออกผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ “ตัน” หยิบเอากระแสความสนใจของวัยรุ่นที่มีให้กับ Facebook มาเป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารระหว่างคนกลุ่มเป้าหมายกับตัวเอง ผมเลยขอแอบสรุปอย่างง่ายๆ ว่าสิ่งที่เราเรียนรู้จากเขาก็คือ Facebook เป็น “Participatory Media” หรือ “สื่อที่ก่อให้เกิดความร่วมมือได้ง่าย”? มันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและโน้มน้าวใจคนจำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะมีก็คือเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการที่จะโน้มน้าวให้คนจำนวนมากทำตามคุณ
มาใช้ Facebook ทำอะไรนอกจากการหวังยอดคลิก Like กันเถอะ