Site icon Thumbsup

Facebook เตรียมปิดคุณสมบัติ Photo-Syncing

 

Facebook เตรียมปิดคุณสมบัติ Photo-Syncing บน Facebook แล้ว และมีการส่งอีเมลกระตุ้นให้ผู้ใช้งาน Facebook ที่ใช้บริการของคุณสมบัติดังกล่าวหันไปติดตั้งแอปพลิเคชัน Moments แทนเพื่อให้ยังสามารถเข้าถึงรูปภาพเหล่านั้นได้อยู่ ทั้งนี้ คุณสมบัติ Photo-Syncing เป็นคุณสมบัติที่ Facebook เปิดตัวบน iOS เมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยจะก็อปปี้ภาพจากสมาร์ทโฟนขึ้นไปสร้างเป็นอัลบั้มให้เป็นการเฉพาะบน Facebook ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ใช้งานในการอัปโหลดรูปขึ้นสู่โซเชียลเน็ตเวิร์กนั่นเอง

โดยอีเมลจาก Facebook ที่ส่งถึงผู้ใช้งานมีใจความว่า ภาพที่ผู้ใช้งานทำการซิงค์ขึ้นสู่ Facebook แบบ Private นั้นจะถูก Facebook ลบออกจากระบบในไม่ช้า แต่ภาพเหล่านั้นได้ถูก Facebook โอนย้ายไปยังแอปพลิเคชัน Moments แล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถ้าผู้ใช้งานต้องการเก็บภาพเหล่านั้นไว้ ให้ทำการดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน Moments ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม

ดังนั้น หากพิจารณาตามอีเมลที่ Facebook ส่งถึงผู้ใช้งานนี้แล้ว เท่ากับว่าภาพที่มีการโพสต์แบบเดี่ยว ๆ หรือภาพที่เป็นการแชร์มา ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบกับการตัดคุณสมบัตินี้ทิ้งไปแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ได้มีผู้ใช้งาน Facebook หลายคนเลยทีเดียว ที่ลืมไปว่าตนเองได้เคยเปิดใช้งานคุณสมบัติดังกล่าวเอาไว้ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจ Facebook ในวงกว้าง ว่า Facebook มีการบีบบังคับให้ติดตั้งแอฟพลิเคชัน Moments เหมือนที่เคยเกิดกับแอปพลิเคชัน Facebook Messanger มาก่อน

ปี 2014 ผู้ใช้งาน Facebook หลายคนคงจำได้ดีถึงการออกมากระตุ้นเตือนให้ผู้ใช้ติดตั้งแอปพลิเคชันน้องใหม่อย่าง Messanger และได้ทำการยกเลิกบริการ Chat ออกจากตัวแอปหลัก ซึ่งในที่สุด ความพยายามของ Facebook ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อแอปพลิเคชัน Messanger มียอดผู้ใช้งานเติบโตอย่างรวดเร็ว และติดอันดับ 1 ในสามของแอปที่มีคนติดตั้งมากที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา

คราวนี้จึงอาจเป็นความพยายามรอบใหม่ที่ Facebook อาจต้องการเพิ่มยอดให้กับ Moments บ้างก็เท่านั้น และถ้าหากเป็นจริงก็ขอให้เป็นการดำเนินการที่ไม่หักหาญน้ำใจของผู้ใช้งานมากเกินไป เพราะอย่าลืมว่า ภาพถ่ายนั้นสำหรับหลาย ๆ คนอาจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจ การออกมาบอกว่าถ้าไม่ติดตั้ง Moments ภายในวันนั้นวันนี้ อาจกระทบกับความรู้สึกของผู้ใช้งานบางคนอย่างมากก็เป็นได้

ที่มา TechCrunch