ในขณะที่ Facebook กำลังเติบโตและมีอิทธิพลอย่างมากบนโลกออนไลน์ในตลาดโลก ประเทศแดนอาทิตย์อุทัยอย่างญี่ปุ่นกลับมีประชากรที่ใช้งาน Facebook เพียง 2 ล้านคนหรือน้อยกว่า 2% ของประชากรบนโลกออนไลน์ของประเทศ… อะไรเป็นปัจจัยของความไม่เป็นที่นิยมของ Facebook ในประเทศนี้ และ Facebook จะทำอย่างไรให้ตนเองประสบความสำเร็จให้ได้ เป็นคำถามที่น่าติดตามและท้าทายมาก…
Kenji Kasahara, CEO ของ Mixi เว็บไซต์ social network ที่เป็นที่นิยมที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
ความร้อนแรงของ Facebook ยังคงต่อเนื่องและหยุดไม่อยู่ ล่าสุดยอดผู้ใช้งานทั้งหมดอยู่ที่ 583 ล้านคนแล้ว แต่ในขณะที่ทั่วโลกกำลังช่วยกันทำให้สังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่นกลับมีผู้ใช้งานเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นหลุมขนาดใหญ่บนแผนที่โลกของ Facebook ตลอดมา
เมื่อเข้ามาดูให้ใกล้ขึ้น ในญี่ปุ่นเองมีสังคมออนไลน์ดังๆอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Mixi, Gree หรือ Mobage-town โดยแต่ละรายมีสมาชิกกว่า 20 ล้านคนและมีจุดแข็งของตัวเองทั้งสิ้น ปัจจัยหนึ่งที่ถือว่าสำคัญและน่าสนใจก็คือ การเปิดให้ผู้ใช้สามารถ”ซ่อน”ตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้ ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสังคมออนไลน์ของญี่ปุ่นและ Facebook ที่ต้องการให้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ซึ่งการปกปิดหรือซ่อนตัวตนของผู้ใช้นี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลกออนไลน์ของญี่ปุ่นไปแล้ว
Mixi เริ่มให้บริการในปี 2004 และถือว่ามีความคล้ายกับ Facebook มาก ผู้ใช้สามารถโพสต์รูป, คอมเมนต์, แบ่งปันลิงค์, และตอบโต้กันบนหน้า community ได้ ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้กว่า 21.6 ล้านคน ในขณะที่ Gree เป็นสังคมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและปัจจุบันแซงหน้า Mixi ไปแล้วด้วยฐานผู้ใช้ 22.5 ล้านคน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ Gree ได้รับความนิยมมาก็คือแพลตฟอร์มเกมสำหรับโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้สามารถเล่นผ่านตัวละครการ์ตูนที่เปลี่ยนชุดและอาวุธได้โดยการซื้อ ส่วน Mobage-town ที่ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้กว่า 21.7 ล้านคนก็มีส่วนผสมของการ์ตูน เกมและอื่นๆด้วยเช่นกัน และ Mobage-town ยังเปิดให้ผู้ใช้สามารถสะสมเงินในเกมผ่านการกดโฆษณาได้อีกด้วย
หากมองมายังคู่แข่งอย่าง Twitter กลับพบว่ามีฐานผู้ใช้งานในญี่ปุ่นสูงถึง 10 ล้านคนแล้ว ตัวเลขนี้คงทำให้ Facebook รู้สึกอิจฉาบ้าง แต่สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะ Twitter ไม่บังคับให้ผู้ใช้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงนั่นเอง
ที่ผ่านมา Facebook มีความพยายามจะเจาะตลาดญี่ปุ่นโดยการแปลเว็บของตนเอง (โดยอาสาสมัคร) และการตั้งสาขาในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาหน้าเว็บสำหรับญี่ปุ่นโดยเฉพาะ แต่ก็พบว่ามีลูกค้าบ่นว่าการใช้งานไม่สะดวกเท่าที่ควร
มีการสำรวจผู้ใช้เว็บบนมือถือ 2,130 คนโดย MMD Laboratory พบว่า 89% รู้สึกลังเลที่จะต้องเปิดเผยชื่อจริงบนโลกออนไลน์ เนื่องจากการปกปิดตัวตนทำให้ลดความกดดันจากคนรอบตัวและที่ทำงาน และการที่ Facebook เองยังไม่มีแนวโน้มจะผ่อนปรนการเปิดเผยตัวตันที่แท้จริง จึงทำให้ผู้ใช้สังคมออนไลน์ในญี่ปุ่นยังมองไม่เห็นความสำคัญของการย้ายมาสู่ยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งนี้ นี่คงจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากอีกโจทย์หนึ่งของ Mark Zuckerberg และน่าจะใกล้เคียงกับโจทย์การเจาะตลาดจีนเลยทีเดียว
ความเห็นผู้เขียน หากมองเผินๆ หลายๆคนอาจจะคิดว่าความเป็นชาตินิยมของคนที่ญี่ปุ่นน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ Facebook ไม่ได้เป็นที่ 1 ในโลกสังคมออนไลน์ แต่หากมองไปที่ตลาดโทรศัพท์มือถือเราจะเห็นว่าสมมติฐานนี้ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป จากเดิมที่ญี่ปุ่นมีโทรศัพท์ที่ล้ำยุคจำนวนมากมาย แต่ iPhone ก็ยังสามารถเจาะเข้ามาสู่ตลาดนี้และก้าวขึ้นเป็นสมาร์ทโฟนอันดับ 1 จนได้ ดังนั้นปัจจัยที่จะทำให้สินค้าหรือบริการจากฝั่งตะวันตกมาประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นได้จึงไม่ใช่เรื่องของชาตินิยมเสมอไป แต่อยู่ที่การอ่านและตอบโจทย์ให้ถูกต้องมากกว่า
หาก Facebook มองว่าการยอมรับการปกปิดตัวตนจะเป็นทางออกให้ตนเติบโตในญี่ปุ่นได้ นั่นอาจจะเป็นทางเลือกที่มาพร้อมกับปัญหาที่น่าปวดหัวอีกมากมายก็ได้ เราได้เห็นตัวอย่างการยอมผ่อนปรนกฎเหล็กของ Google ในตลาดจีนมาแล้ว นั่นคือการยอมกรองผลลัพธ์ของการค้นหาข้อมูลให้เป็นไปตามที่รัฐบาลจีนกำหนด สิ่งที่ตามมาก็คือการถูกตั้งคำถามจากตลาดโลกถึงบรรทัดฐานของบริษัทซึ่งทำให้ Google ต้องเสียความศรัทธาจากคนกลุ่มหนึ่งไปพอสมควร หากวันนี้ Facebook จะต้องยอมรับการปกปิดตัวตนเพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้ในญี่ปุ่นก็อาจจะทำให้บริษัทต้องมาพบชะตากรรมเดียวกันก็ได้
โจทย์นี้คงจะเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ Facebook ต้องรีบหาคำตอบให้ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วญี่ปุ่นก็ถือเป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพสูงมากทั้งในแง่ของการรับเทคโนโลยีใหม่ๆและศักยภาพในการจ่ายของผู้บริโภค เราคงต้องมาติดตามกันว่า Mark Zuckerberg จะสามารถร่ายมนต์ทำให้ Facebook สามารถขึ้นเป็นแชมป์เหมือนที่ Apple ทำสำเร็จมาแล้วได้หรือไม่ในแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้
ที่มา?NYTimes