Facebook ไม่ต้องการให้ผู้ใช้งานเป็นแค่ผู้เสพคอนเทนต์ แต่ต้องการให้เป็นผู้ส่งต่อคอนเทนต์อีกด้วย เห็นได้จากฟีเจอร์ล่าสุดที่เพิ่งถูกทดสอบในวันนี้ ซึ่งก็คงจะมีผู้ใช้งานบางรายสังเกตเห็นมัน และที่สำคัญที่สุด มันคืออีกความพยายามของ Facebook ในการที่จะนำข้อดีของ Twitter มาสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง
สำหรับโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดอย่าง Facebook มันแทบจะไม่น่าเชื่อว่าจริงๆ แล้วผู้ใช้งาน Facebook เป็นประเภท Passive consume คือเสพอย่างเดียว ไม่ได้แชร์สิ่งที่ตัวเองคิดเท่าไร นั่นคือสิ่งที่การศึกษาหลายๆ ชิ้นบอกตรงกัน
ผลก็คือ Facebook ต้องการให้คอนเทนต์ถูกแชร์มากขึ้น เหมือนๆ กับที่ Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนแสดงความเห็นกันอย่างออกรส และเราสามารถวัดความนิยมต่อเรื่องต่างๆ ได้จาก Twitter นั่นคือสิ่งที่ Facebook ต้องการ
ฟีเจอร์ที่ Facebook กำลังทดสอบ ณ ขณะนี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานมองเห็นว่าโพสต์ต่างๆ ได้รับความนิยมมากขนาดไหน
ในช่วงสัปดาห์นี้ Facebook ทดลองใช้แท็บแจ้งเตือนแบบป๊อปอัป เพื่อเตือนผู้ใช้งานว่าอย่าพลาดชมรายการทีวีที่พวกเขาน่าจะสนใจ พร้อมกับแนะนำภาพยนตร์ที่เข้าฉายในบริเวณนั้นๆ
นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ที่แสดงให้เห็นว่ามีใครพูดถึงลิงก์ที่คุณกำลังอ่านอยู่บ้าง เมื่อแตะลงไปที่แท็บแจ้งเตือน ระบบก็จะพาเราเข้าไปถึงหน้าเพจที่มีแต่สเตตัสที่ว่าด้วยเรื่องดังกล่าว พูดง่ายๆ คือผู้ใช้งานจะถูกพาเข้าไปดูความคิดเห็นของทุกคนที่พูดถึงเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเพิ่มความคิดเห็นของตัวเองลงไปบ้าง
ถึงแม้ว่า Facebook จะพยายามทำตัวให้เป็น Twitter ในเรื่องการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานแสดงความคิดเห็น แต่สิ่งที่จะลืมไปไม่ได้ก็คือ ธรรมชาติของความเป็น Twitter และ Facebook นั้นต่างกัน
บนไทม์ไลน์ Twitter มีข้อความจำนวนมากไหลอยู่ตลอดเวลา เพราะทุกคนพูดถึงหนังที่ตัวเองเพิ่งไปดู รายการทีวีที่กำลังดู หรือสิ่งที่สนใจในขณะนั้น โดยแทบจะไม่มีใครคิดว่ามันเยอะเกินไป ด้วยลักษณะของ Twitter มันเชื้อเชิญให้เราทำแบบนั้น
ในขณะที่เราต้องคิดมากกว่า 1 ตลบ กว่าจะตั้งสเตตัส Facebook ได้
พูดง่ายๆ คือเรามีฟิลเตอร์ในตัวเอง ก่อนที่จะโพสต์ลงไปบน Facebook ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ Facebook อยากจะเปลี่ยนแปลง
ถ้าอยากเติบโตขึ้น ก็ต้องผลักดันให้คนสร้างคอนเทนต์ หรือแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากขึ้น และโดยรวมแล้ว เราคงต้องสรุปว่า Facebook พยายามเป็น Twitter ได้เร็วกว่าที่ Twitter พยายามจะเป็น Facebook ซะอีก
ที่มา : The Next Web
เพิ่มเติม เริ่มพบในไทยแล้วเช่นกัน