ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายคนคงเริ่มสังเกตเห็นรูปแบบคอนเทนต์อย่าง Facebook Live (Live Video แบบสดๆ บน Facebook) โดย Celeb. ชื่อดัง และที่ขาดไม่ได้คือสายสำนักข่าวที่เหมาะกับการใช้ฟีเจอร์ตรงนี้โดยตรง ทีมงาน Thumbsup มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงาน Thai PBS ซึ่งเป็นสื่อรายแรกๆ ของไทยที่นำ Facebook Live Streaming มาใช้ ซึ่งวันนี้เราจะไปพูดคุยกับพี่ ๆ 2 ท่าน คุณณัฏฐา โกมลวาทิน (พี่เต๋า) และ กนกพร ประสิทธิ์ผล (พี่ต่าย) มาเล่าถึงประสบการณ์การนำฟีเจอร์ดังกล่าวมาใช้กับธุรกิจสื่อ
เริ่มต้นใช้ Facebook Live ตั้งแต่เมื่อไหร่
พี่ต่าย: สำหรับเพจของ Thai PBS เราเริ่ม Live ครั้งแรกคือวันเสาร์ที่ 9 มกราคมที่ผ่านมาค่ะ ในงาน “ด.เด็ก คิดดี Thai PBS Kids Day” งานวันเด็กถือว่าเป็นกิจกรรมใหญ่งานหนึ่งของ Thai PBS เลยอยากลองรายงานบรรยากาศสดๆ กันดู และอยากสวัสดีวันเด็กกับคุณผู้ชมที่ไม่ได้มาร่วมงานในวันนั้น อุปกรณ์ก็ใช้ iPad ที่ต่ายถือเลยค่ะ เดินไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งงาน แวะตามบูธต่าง ๆ ซึ่งก็ออกอากาศสดไปกว่าชั่วโมงครี่งทั้งภาคเช้าและบ่าย ถือเป็นครั้งแรกและก็เรียนรู้เทคนิคกันไปด้วยค่ะ เนื่องจากการถ่ายแบบสดๆ นอกสถานที่ก็จะมีเสียงแทรกพอสมควร และสิ่งสำคัญคือสัญญาณเน็ตต้องนิ่ง เพราะถ้ามีช่วง Speed ของอินเตอร์เน็ตต่ำ Facebook ก็จะแจ้งเตือน และอาจทำให้ Live steaming หยุดชะงักได้
พี่เต๋า : อีกส่วนที่สำคัญเวลาถ่ายทอดสด เราควรปิดพวก notification ทั้งหลายค่ะ ไม่งั้นพอเด้งมา Facebook ก็จะหยุด Live อีก อย่างสายเรียกเข้าก็เช่นกัน ถ้าแทรกเข้ามาก็จะหยุด Live เลย ค่อยกลับมา resume หลังจากวางสาย
พี่ต่าย: ผลตอบรับที่ได้ในการสดครั้งแรกนี้ ทั้งยอด View และคอมเม้นท์ที่ส่งเข้ามา หลายๆ คนชื่นชอบค่ะ ได้ติดตามกิจกรรมสด ๆ และชื่นชมในนวัตกรรมใหม่ของวงการสื่อที่นำมาใช้ มีคนเข้ามาร่วมพูดคุยกันมากพอสมควร แถมเรายังได้เห็นยอด View จริงๆ ด้วยว่ามีคนดูอยู่เท่าไหร่แบบเรียลไทม์
ชมถ่ายทอดสดบน Facebook กับงานวันเด็กที่ #ThaiPBS (ภาคบ่าย)
Posted by ThaiPBS on Friday, January 8, 2016
มีแผนการทำคอนเทนต์อย่างไรต่อ
พี่ต่าย: มีทั้งมุมเนื้อหาการรายงานข่าว ซึ่งทางส่วนงานข่าวจะเป็นกลไกสำคัญด้านการถ่ายทอดเนื้อหา แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทดสอบ และในมุมเนื้อหาด้านรายการและกิจกรรม ตอนนี้เราก็เริ่มทำแคมเปญที่ชื่อ Facebook Live : Behind the Scenes เชิญแขกรับเชิญมาพูดคุย ถ่ายทอดเบื้องหลังต่างๆ อย่างครั้งแรกเราก็เชิญพี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ พูดคุยกับเบื้องหลัง “เดอะดาวน์ซีรี่ส์” เมื่อ 22 ม.ค.ที่ผ่านมาและเชิญคุณเต๋ามาเป็นพิธีกร เรียกว่าประสบความสำเร็จมากมีคนดูประมาณ 6 หมื่นกว่าคนตลอด 1 ชม. รวมถึงคำถาม ข้อความทักทายกับคุณโหน่งเข้ามาอย่างมากมาย
คุยกับ “พี่โหน่ง a day” “วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” เบื้องหลังเดอะดาวน์ และ ฯลฯ
Posted by ThaiPBS on Friday, January 22, 2016
พี่เต๋า: วันนั้นนี่รู้สึกตื่นเต้นเลยค่ะ เราได้รู้จักคนมาชมรายการเรามากขึ้นแบบเรียลไทม์ เรารู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน หลายคนชมและทักทายมาจากต่างประเทศ ซึ่งจากเดิมไม่รู้มาก่อนเลย พอคนมาชมและโพสต์คอมเม้นท์ ตอนแรกๆ เราก็มอนิเตอร์ดูทีละอัน แต่สุดท้ายปริมาณเข้ามาเยอะจริงๆ ค่ะ จนดูแทบไม่ทันเลย
ส่วน live ครั้งแรกของพี่คือคลิปนี้ค่ะ ชวนทีมงานรายการที่นี่ไทยพีบีเอสมานั่งคุยกัน ว่าแต่ละคนไปทำข่าวมานำเสนอ เป็นอย่างไรบ้าง เบื้องหลังตรงไหนน่าสนใจ ก็หยิบมาเล่าขยายให้ฟังแบบสบาย ๆ
คุย “live” ครั้งแรก ผ่าน facebook live กับทีมข่าวที่นี่ThaiPBS กับ Voralux Issarungkula Na Ayudhya Urachai Sornkaew …
Posted by Nattha Komolvadhin on Friday, January 15, 2016
พี่ต่าย: เราสามารถวัดผลความนิยมของ Live Event นั้น ๆ ได้ทันทีด้วยค่ะ โดยหลังจาก Live จบบนหน้าจอโทรศัพท์ที่ทำการถ่ายทอดสด จะแสดงผลขึ้นมาทันทีว่ามีผู้ชมทั้งหมดเท่าไหร่ แสดงกราฟว่าช่วงเวลาไหนที่คนเข้ามาดูเยอะสุด และต้องการบันทึกเป็นไฟล์คลิปไว้ในมือถือด้วยหรือไม่
ประโยชน์ที่ได้กับผู้ผลิตสื่อโดยตรง
พี่เต๋า: อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้า นอกจากได้รับฟังความคิดเห็นแบบเรียลไทม์ Interactive กันได้แล้ว เรายังสามารถสร้างชุมชนของรายการเฉพาะได้อีกด้วย และระหว่างที่ดูรายการไหนน่าสนใจ ผู้ชมเขาจะแชร์กันออกไปซึ่งทำให้เกิด Viral ได้ทันที
พี่ต่าย: ถือเป็นพื้นที่ใหม่ที่ทรงพลังมาก เพราะ Facebook เป็นแพลทฟอร์มยอดนิยมโดยเฉพาะในบ้านเรา จากเดิมสื่อกับผู้ชมอาจเข้าถึงและสัมผัสกันได้ยาก แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ใกล้ชิดกันง่ายขึ้น เหมือนนั่งคุยอยู่ด้วยกัน การรับ-ส่งคอนเทนต์ทำได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ยังเปิดให้ใช้ฟรีอยู่ ต้องรอดูนโยบายของ Facebook ในอนาคตต่อไป ข้อดีอีกอย่างก็คือ ความเสถียรของ Facebook ทำให้มั่นใจกับการรองรับ Traffic จำนวนมากได้ หน้าที่และสิ่งที่เราต้องโฟกัสก็คือการผลิตคอนเทนต์ และทำโปรดักชั่นให้ดี
สุดท้ายเมื่อ Facebook Live เปิดให้สื่อใช้กันได้อย่างแพร่หลาย คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น
พี่เต๋า: ข่าวสารต่างๆ จะทันเหตุการณ์มากๆ นักข่าวจะมีช่องทางของตัวเอง เพียงแค่ถือสมาร์ทโฟนอยู่ ถ้าเกิดเหตุอะไรก็สามารถถ่ายทอดสดได้ทันทีเลย จะทำให้วงการสื่อมีการแข่งขันที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญคือจะควบคุมคุณภาพของเนื้อหา และการนำเสนอได้อย่างไร นี่อาจจะยังเป็นเหตุผลที่ทำไม Facebook ยังต้องควบคุมให้สิทธิ์ในการใช้งานในวงจำกัดอยู่ในช่วงแรกๆ
พี่ต่าย: นอกจากเรื่องพื้นที่ของนักข่าวอย่างที่คุณเต๋าบอกไป ในมุมของผู้ใช้ Facebook ก็คงจะได้เห็น ได้เสพคอนเทนต์อีกรูปแบบ ที่เร็วขึ้น หลากหลายขึ้น แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือ คนทำสื่อถ้าถ่ายทอดเนื้อหาตรงนั้นออกมามากด้วยปริมาณ แต่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ตรงจริต ไม่เหมาะกับเครื่องมือของ Facebook Live ก็อาจเป็นการรบกวน และทำให้ส่งผลเสียกับแบรนด์ได้เลย เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเหมาะกับการสดบนแพลทฟอร์มนี้ สื่อหรือผู้ผลิตคอนเทนต์จึงต้องศึกษา ดูกรณีตัวอย่าง เทคนิคต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์เนื้อหา สร้างความแตกต่างให้คนสนใจและอยากติดตามเพิ่มขึ้น
========================================================
ในวันที่สัมภาษณ์วันเดียวกัน เราก็ได้รับข่าวจากทาง Facebook มาไล่ๆ กันว่าได้เปิดให้กับผู้ใช้ทุกคนในอเมริกาแล้ว และเตรียมจะเปิดทั่วโลกในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ อย่างที่ท่านทั้ง 2 ได้กล่าวไว้ Facebook Live ก็เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพบนพื้นที่ไร้พรมแดน เมื่อวันที่ทุกคนถือเครื่องมือดังกล่าวเหมือนกันหมด กระบวนการคัดสรรและควบคุมคุณภาพจะเป็นเช่นไร พลังมวลชนจะเข้ามาช่วยได้มากน้อยแค่ไหนกับช่องทางที่รุกเร็วขนาดนี้ ในด้านผู้ผลิตเนื้อหาด้วยความสามารถของคุณ จะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุด หัวใจหลัก ก็กลับไปที่คุณค่าของคอนเทนต์ที่คุณนำเสนอให้กับพวกเขาคืออะไรนั่นเอง