ทุกวันนี้ Facebook เป็นมากกว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กเสียแล้ว เพราะยังเป็นห้องปฏิบัติการที่ใช้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ออนไลน์อีกด้วย โดยทางบริษัทได้ทำการเปิดเผยรายงานการวิจัยว่า ได้ทำการทดลองในผู้ใช้กว่า 700,000 คน ที่มีผลกระทบต่อการถ่ายทอดทางอารมณ์ในโลกออนไลน์
การทดลองนี้ทำโดย Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America หรือ PNAS ดำเนินการผ่านทาง News Feeds ของผู้ใช้จำนวน 689,003 คน ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ โดยดูว่าการได้รับการถ่ายทอดทางอารมณ์จากผู้อื่น จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการโพสต์ของตัวเองอย่างไร ทาง Facebook กล่าวว่าได้ติดตามผู้ใช้ที่ได้รับเนื้อหาการโพสต์เชิงบวกและเชิงลบจากเพื่อนของพวกเขา แล้วทำการเทียบกันว่ามีผลต่อการโพสต์ของตัวเองอย่างไร
ซึ่งทาง Facebook ค้นพบว่าอารมณ์ความรู้สึกในการโพสต์นั้น เป็นเหมือนโรคติดต่อ บรรดาผู้ที่เห็นเนื้อหาโพสต์เชิงบวกจะมี activity บน Facebook ของตนเองไปในทิศทางบวกมากกว่าทางลบ ณ วันนั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับการทดสอบด้วยการเห็นเนื้อหาโพสต์เชิงลบ ก็จะมีแนวโน้มไปทางลบบน Facebook ของพวกเขาด้วย
สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับในชีวิตจริง เพราะการเห็นเพื่อนๆ โพสต์เนื้อหาที่ไม่น่ารื่นรมย์ ก็จะมีผลต่ออารมณ์ส่วนตัวของผู้ใช้เอง อย่างไรก็ตาม Facebook พบว่า เนื้อหารูปแบบข้อความเพียงอย่างเดียวที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมครั้งนี้
แน่นอนว่าหลังจากการประกาศการทดลองนี้ ย่อมมีผู้ไม่พอใจในความเป็นส่วนตัวของโลกออนไลน์ ทั้งนี้ทางบริษัทได้ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้ละเมิดเงื่อนไขของผู้ใช้แต่อย่างใด เพราะผู้ใช้ได้อนุญาตในการทดลองครั้งนี้แล้วเมื่อตอนลงทะเบียนเข้าใช้ Facebook ครั้งแรก แม้ว่าการทดสอบทฤษฎีอะไรก็ตามโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัวอาจจะดูเป็นเรื่องไม่สมควรบนเครือข่ายสังคมออนไลน์อยู่ก็ตาม
แม้จะมีประเด็นทางด้านจริยธรรมจากการทดสอบครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ก็ทำให้พวกเราได้เห็นว่าการโพสต์เนื้อหาต่างๆ ในสังคมออนไลน์นั้นต่างมีผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเรา เฉกเช่นเดียวกับชีวิตจริง
ที่มา : The Next Web