หากบริษัทอยากจะจ้างงานใครสักคนเข้ามาทำงาน มาตรฐานโดยทั่วไปก็ต้องดูแหล่งอ้างอิง ตรวจดูจดหมายสมัครงาน เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าบุคคลในเรซูเม่นั้นมีอยู่จริงและเชื่อถือได้ แต่ปัจจุบันได้มีวิธีการที่ล้ำกว่านั้น จากการทำการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัย Old Dominion ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้เพิ่มวิธีการตรวจสอบอีกช่องทางหนึ่ง คือการตรวจสอบประวัติของลูกจ้างบนเฟซบุค ปรากฏว่า โลกโซเชียลมีเดียยังรู้จักตัวตนของคุณมากกว่าตัวคุณเองเสียอีก
จากการศึกษาเรื่อง “ความเที่ยงตรงของสื่อออนไลน์ในการทำนายผลการปฏิบัติงาน” ดูนักเรียนที่จบปริญญาตรีจำนวน 146 คนผู้ซึ่งได้รับการจ้างงานจากบริษัทต่างๆ โดยแต่ละคนนั้นได้ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพตนเอง และยินยอมให้มีทีมงานเข้ามาดูประวัติในหน้าโปรไฟล์ของพวกเขา และสรุปข้อมูลออกมา
พบว่าไม่เพียงแค่ลักษณะบุคลิกภาพที่สรุปจากประวัติในหน้าโปรไฟล์เฟซบุคเท่านั้น ที่สามารถทำนายผลการปฏิบัติงานได้ แต่ยังสัมพันธ์กับผลจากแบบทดสอบการประเมินตนเองที่พวกเขาได้ทำ และผลการปฏิบัติงานจริงจากนายจ้างอีกด้วย !
ข้อมูลจากโลกโซเชียลมีเดียไม่เพียงทำนายผลการปฏิบัติงานได้อย่างดีแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับเกรดของนักเรียน มากกว่าผลการทดสอบบุคลิกภาพตนเอง จากตัวนักเรียนเหล่านั้นเสียอีก และข้อมูลจากเฟซบุคนี้สามารถจับองค์ประกอบทางสังคมที่จำเป็นสำหรับการทำงานในชีวิตจริง โดยที่ความสำเร็จทางการศึกษาก็ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดได้
ผู้ทำการศึกษากล่าวว่า การคาดการณ์ลักษณะตัวตนจากโซเชียลมีเดียนั้นมีข้อดีกว่าการทำแบบทดสอบประเมินบุคลิกภาพ เพราะว่าพวกเขาสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้เป็นปี ซึ่งดีกว่าการประเมินครั้งเดียวแน่อน
หลายบริษัทได้ใช้วิธีนี้จริงในการคัดคนเข้ามาสัมภาษณ์งานแล้ว แต่การตัดสินใจจ้างงานจากการประเมินโดยใช้โซเชียลมีเดียมาช่วยตัดสินนั้น มีจุดอ่อนบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องได้ เช่น กรณีเข้าไปตรวจสอบประวัติคนๆ หนึ่ง แล้วพบว่าเขาเป็นเกย์ หรือมีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างออกไป และตัดสินไม่ให้คนๆ นี้เข้ามาสมัครงาน ทำให้ผู้สมัครงานรายนี้ฟ้องร้องได้ว่าบริษัทเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานทางด้านศาสนาหรือทางเพศ
อีกปัญหาหนึ่งคือ ผู้เล่นเฟซบุคหลายคนได้มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้ามาดูข้อมูลประวัติ หรือกิจกรรมของตนเอง ทำให้บริษัทยากแก่การตรวจสอบ ถึงกระนั้น เมื่อได้ยินแบบนี้แล้วคงต้องขอตัวกลับไปแก้ไขในหน้าประวัติของตัวเองเสียก่อน ส่วนเรื่องที่ไม่ต้องการให้คนนอกเห็น คงต้องตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่ออุบเงียบกันต่อไป
ที่มา: Mashable