Site icon Thumbsup

ทำความเข้าใจกับโปรโมชั่นบน Facebook แบบไม่ผิดกฏกันเถอะ

เมื่อวานนี้ตอนช่วงเช้าของบ้านเรา พอเปิดมาเพื่ออัพเดตข่าวสารก็เจอข่าวใหม่ถูกพูดถึงทั้งบน Facebook’s News feed ของตัวเอง และบน Twitter’s Timeline ว่าด้วยเรื่องของ Promotions Guidelines ที่ Facebook ต้องการจะบอกกับเหล่าบรรดาแบรนด์ต่างๆ ที่รักจะทำโปรโมชั่นกันบน Facebook ว่าให้ตั้งใจอ่านกันนะเพราะหลังจากนี้ถ้ามีคนพบเห็นผู้ละเมิดแนวปฏิบัติดังกล่าวก็สามารถร้องเรียน Facebook ได้เลย

ส่วนตัวมองว่าหลังจากนี้เราคงจะมีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการทำโปรโมชั่นต่างๆ (ในเชิงสร้างสรรค์) กันมากขึ้นสืบเนื่องจากแนวปฏิบัติหลักหลายข้อที่จะนำมากล่าวถึง โดยจะขอนำคำแปลบางส่วนจาก blog พี่ยุ้ย @fringer มาเป็นข้อมูลตั้งต้นให้พวกเราได้เห็นกันก่อนนะคะ โดยจะไม่ได้เรียงลำดับจากข้อแรกที่เขียนโดย Facebook

“คุณจะต้องไม่ใช้ฟีเจอร์หรือฟังก์ชั่นต่างๆ ของเฟซบุ๊คเป็นกลไกเข้าร่วมโปรโมชั่นโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การกดไลค์ Page หรือคลิ้กหน้า Place จะต้องไม่เป็นการรับคนที่คลิ้กเข้าร่วมโปรโมชั่นโดยอัตโนมัติ “

กฎนี้เห็นกันชัดๆ ไปเลย ยกตัวอย่างเช่น มีโปรโมชั่นออกมาพอกดไลค์ Page ปุ๊ปถือว่าสมัครรับสิทธิร่วมชิงรางวัลปั๊ปอะไรทำนองนั้น 😛 แต่สำหรับ Place บ้านเรายังไม่มีโอกาสได้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์กรณีหลังนี้ก็เลยยังไม่ค่อยเกี่ยวนัก

ข้อถัดไปกันค่ะ

“คุณจะต้องไม่กำหนดให้การใช้ฟีเจอร์หรือฟังก์ชั่นต่างๆ ของเฟซบุ๊กเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมโปรโมชั่น นอกเหนือจากการกดไลค์ Page, เช็คอิน Place หรือเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นของคุณ ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องไม่ตั้งเงื่อนไขให้คนกดไลค์ Wall post, แสดงความเห็นใต้รูป หรืออัพโหลดรูปถ่ายบน Wall”

แหน่ะ! เห็นได้ชัดว่าการทำ activity ที่เป็นฟีเจอร์หรือฟังก์ชั่นย่อยๆที่มากับ Page หลายอันจะเอามาปรับใช้กับแคมเปญต่างๆ จะนำมาเป็นเงื่อนไขไม่ได้

อย่างเช่นที่เห็นกันบ่อยๆ โหลดรูปถ่ายที่ทางแบรนด์กำหนดบน Wall เพื่อลุ้นรับ…..อะไรก็ว่าไป…ซึ่งมักจะตามมาด้วยการ Tag เพื่อนเพื่อให้เพื่อนมาแสดงความเห็นใต้รูป

ข้อถัดไปค่ะ อันนี้ยิ่งคุ้นไปใหญ่

“คุณจะต้องไม่ใช้ฟีเจอร์หรือฟังก์ชั่นต่างๆ ของเฟซบุ๊ค เช่น ปุ่มไลค์ เป็นกลไกการโหวตในโปรโมชั่นที่คุณจัด”

อันนี้เห็นกันประจำเลย เพื่อนๆ อาจเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ “นี่ๆ ช่วยเข้าไปกดไลค์ให้เราหน่อยสิเป็นการโหวตให้เรา ตอนนี้กำลังแข่งชิงรางวัลอยู่” อันนี้อดนะคะ ถ้าต้องให้เพื่อนไปกดไลค์ที่เป็นฟีเจอร์ของ Facebook โดยตรง

ฟังดูแล้ว อ้าว! แล้วอย่างนี้จะทำอะไรได้บ้างหล่ะ ก็เลยต้องอ่านข้อถัดไป 😀 แต่ดันเป็นข้อแรกของแนวปฏิบัติคนที่อยู่ดีๆ โผล่เข้ามาอ่านอันนี้ก่อนเลยอาจ งง ได้

“โปรโมชั่นบนเฟซบุ๊กจะต้องกระทำผ่านแอพพลิเคชั่นบนเว็บไซต์ Facebook.com ? บนหน้า Canvas Page หรือแอพพลิเคชั่นบนแท็บ Page เท่านั้น”

นั่นแหน่ะ Facebook พยายามผลักดันให้แบรนด์ต่างๆ หันไปใช้แอพพลิเคชั่นบน Facebook กันนั่นเอง โดยจะเป็น Web app ที่เรามักเคยได้เล่นกันอยู่แล้วนะคะ แต่ว่าอาจไม่รู้ตัวกันอย่าง FarmVille เกมดังปลูกผักทรหด ก็เป็นแอพพลิเคชั่นอย่างนึง สังเกตง่ายๆ คือจะมี URL ที่ขึ้นต้นด้วย apps.facebook.com/……

แล้วถ้าจะเอามาใช้กับการจัดโปรโมชั่นหล่ะ? มีผู้เริ่มต้นใช้กันมากมายแล้วค่ะ ก่อนหน้าที่ Facebook จะประกาศอยู่นานโข…

อยากจะส่งรูปประกวดเข้าแข่งขันกับ Coca-Cola โดยถ่ายรูปภาพที่คิดว่าเก๋ที่สุดกับกระป๋อง Coke แล้วให้เพื่อนมาโหวตในแอพพลิเคชั่นนี้ นี่สิทำได้ไม่ผิดกฎ

ในบ้านเรา KBank ก็มีแล้วเช่นกันค่ะ เลือกชมและโหวต ในแคมเปญอย่าง KBank ท้าประกวดคลิป ร้องเต้น เล่นดนตรี เพลงฝากให้เราช่วยดูแล ที่เปิดให้ได้ยินกันบ่อยๆ บนโฆษณาในทีวีนั่นเอง

อย่างไรก็ตามตัวอย่างข้างต้นจะยังเป็นการแข่งขันด้วยการโหลดรูปหรือคลิปขึ้นไปแค่เปลี่ยนเครื่องมือ

อีกประเภทที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างโปรโมชั่นโดนใจได้อีกอย่างก็คือ แท็บ Page

อย่าพึ่งลืมว่าแท็บด้านข้างๆ นอกเหนือจาก Wall และ Info แล้วยังมีความสามารถอื่นๆ อีก และหนึ่งในนั้นก็คือการปรับแต่งแท็บให้มีลูกเล่นเพิ่มเติมได้?เช่น การดึง Feed ข่าวจากเว็บหลักของบริษัทเข้ามา , จะเอา Youtube channel เข้ามาไว้ก็ได้, ทำโพลสำรวจแบบละเอียดๆ , เปิดร้านขายของ Social Catalog และอื่นๆ?อีกมากมายและแน่นอนจัดการประกวด (Contest) ได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีบริษัท 3rd-Party ที่ให้บริการเครื่องมือสำเร็จรูปและนำมาปรับแต่งเพื่อสร้างแท็บที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น?www.involver.com

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากหลักปฏิบัติดังกล่าวออกมา

แบรนด์ต่างๆ – กรณีนี้กระทบโดยตรงที่จากเดิมอาจจะใช้ฟีเจอร์อะไรง่ายๆ ที่มีมาบน Facebook ได้เลย แต่คราวนี้ต้องหันไปพึ่งพาพวกแอพพลิเคชั่นกันมากขึ้นหรือการสร้างแท็บใหม่ การพัฒนาก็ต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ถ้าบุคลากรภายในยังไม่มีความชำนาญด้านนี้คุณอาจจะเลือกใช้บริการ Outsource เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenditure – OPEX) เป็นต้น หรือจะยังอยากลองคิดกลไกการจัดโปรโมชั่นโดยไม่ต้องพึ่งแอพพลิเคชั่นหรือแท็บก็ต้องลองคิดให้ดีๆ ว่ากลไกดังกล่าวคืออะไรที่มันจะไม่กระทบกับหลักปฏิบัติซึ่ง Facebook เขียนมากว้างครอบคลุมจักรวาลมากๆ ท่าทางจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ง่ายๆ

นักพัฒนา – เมื่อมี Demand ก็ต้องมี Supply ถือเป็นโอกาสอันดีกับนักพัฒนาต่างๆ ที่จะใช้ฝีมือในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีความหลากหลายตาม Requirement ของแบรนด์ต่างๆ กันแล้ว ซึ่งบ้านเราก็มีนักพัฒนาที่มีความสามารถอยู่เยอะเลย

ผู้ใช้ทั่วไป – อย่างน้อยๆ ความรู้สึกเบื่อ หรือบางคนอาจถึงขั้นไม่ชอบกับรูปแบบเดิมๆ ของโปรโมชั่นต่างๆ น่าจะลดลงไปได้เยอะพอสมควร ถ้าจะกดไลค์นั้นควรจะต้องมาจากความเต็มใจ

Facebook – แน่นอนว่านอกจากจะช่วยจัดระบบระเบียบในแพลตฟอร์มตัวเองให้ดีขึ้นแล้ว สมาชิกก็ไม่รำคาญ และจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของแอพพลิเคชั่น (app economy) ให้เฟื่องฟูมากยิ่งขึ้น (จากเดิมที่ก็เฟื่องฟูมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา) แอบคิดเล็กๆ ว่าบางทีการกระตุ้นดังกล่าวอาจนำพามาซึ่งไอเดียใหม่ๆ ของ Facebook กับช่องทางการหารายได้เพิ่มในอนาคตเพราะทุกวันนี้ก็แทบจะเรียกว่า Facebook เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการตลาด (Marketing Platform) บนโลกออนไลน์ไปแล้ว

การจัดทำโปรโมชั่นหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการสร้างการมีส่วนร่วมกับแบรนด์, สิ่งที่แบรนด์อยากจะสื่อสารและสร้างให้ลูกค้ารับรู้นั้นคืออะไร ซึ่งจะเป็นที่มาของการกำหนดเนื้อหาของโปรโมชั่น และสิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกคือกลไกการเล่นต้องไม่ซับซ้อนยุ่งยากจนเกินไปจนหาผู้ร่วมโครงการได้น้อยมาก ของรางวัลก็ต้องดึงดูดระดับหนึ่ง?แนวปฏิบัติดังกล่าวมีผลต่อเครื่องมือที่เราจะใช้ต่อไปเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือไอเดียที่จะถูกสรรค์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ตามเป้าหมายของนักการตลาดได้จริงหรือไม่

มองในแง่ดีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นหรือแท็ปที่หลากหลายถ้าทำออกมาได้ดีย่อมดึงดูดความสนใจของคนได้มากกว่าวิธีเดิมๆ แน่นอนเลยค่ะ

หมายเหตุ : ข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฎิบัติยังมีมากกว่านี้นะคะ สำหรับบทความนี้เพียงยกมาแค่บางส่วน สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดเต็มๆ สามารถหาดูได้ที่นี่ และต้องขอขอบคุณพี่ยุ้ย @fringer กับคำแปลภาคภาษาไทย เพื่อนๆ สามารถหาอ่านได้ที่ fringer’s blog