เมื่อวานนี้ทีมงานมีโอกาสพบกับคุณจอห์น แวกเนอร์ (John Wagner) กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย เพื่อสัมภาษณ์กลุ่มย่อยเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึกรับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งงานนี้บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดาค่ะ ที่สำคัญ มีข้อมูลดี ๆ มาฝากภาคธุรกิจและนักการตลาดกันเพียบเลยทีเดียว
แต่ก่อนจะเข้าสู่ช่วงข้อมูล หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็น “สงกรานต์” ซึ่งในจุดนี้ คุณจอห์นได้ย้อนถึงภาพรวมของ Facebook ในด้านผู้ใช้งานก่อน โดยบอกว่า ปัจจุบัน Facebook มีฐานผู้ใช้งานทั่วโลกจำนวนมหาศาล 1.86 พันล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้งานที่เข้ามาเล่นเป็นประจำ 1.22 พันล้านคน
แต่หากมองลึกลงมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า มีผู้ใช้งาน Facebook ถึง 299 ล้านคนต่อเดือน โดยในจำนวนนี้ 95 เปอร์เซ็นต์ใช้งานบนมือถือ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ใช้ Facebook ผ่านมือถือและเข้ามาเล่นทุกวันยังมีมากถึง 174 ล้านคนเลยทีเดียว
ในส่วนของผู้บริโภคไทยเองนั้น ก็มีปัจจัยที่โดดเด่นและส่งเสริมการเติบโตของ Facebook มากเช่นกัน นั่นคือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของไทยนั้นเข้าสู่ยุคของมือถืออย่างเต็มตัวแล้วนั่นเอง โดย
- 8 ใน 10 ของคนไทยที่อาศัยในตัวเมืองและชนบทมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง
- 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต เข้าใช้งานออนไลน์ผ่านทางสมาร์ทโฟน
- คนไทยใช้เวลาบนมือถือเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 40 นาทีต่อวัน (รายงานตัวตนของผู้ใช้สมาร์ทโฟนประจำปี 2558 ของบริษัท Vserv เมื่อเดือนมกราคม 2559)
- ผู้ใช้ E-Commerce ชาวไทยใช้ Social Media สูงสุด โดยมีถึง 92 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้งานเป็นประจำทุกวัน (ข้อมูลจากทีเอ็นเอส)
- มากกว่า 74 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้ Facebook ในไทย เชื่อมต่อกับเพจธุรกิจขนาดเล็กในไทยอย่างน้อยจำนวนหนึ่งเพจ (ข้อมูลภายในของ Facebook)
นอกจากข้อมูลข้างต้น มาดูสถิติผู้ใช้งาน Facebook ประจำไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2559 กันบ้าง โดยการใช้งาน Facebook ในไทยนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้ใช้ Facebook ที่ใช้งานผ่านมือถือมีจำนวน 44 ล้านคนต่อเดือน (คิดเป็น 98 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้แอคทีฟบน Facebook ต่อเดือนทั้งหมด)
- ผู้ใช้ Facebook มีจำนวน 31 ล้านคนต่อวัน
- ผู้ใช้ Facebook ที่ใช้งานผ่านมือถือมีจำนวน 30 ล้านคนต่อวัน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่จะผลักดันการใช้งาน Facebook ให้สูงขึ้นนั้นอยู่ที่เทศกาล “เฉลิมฉลอง”
โดยคุณจอห์นชี้ว่า จากข้อมูลภายในของ Facebook คนไทยใช้มือถือและ Facebook เพิ่มมากขึ้น ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ โดยพบข้อมูลชี้ว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของโพสต์ Facebook เกิดขึ้นบนมือถือ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ข้อมูลภายในของ Facebook ระหว่าง 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2559)
นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยโพสต์วิดีโอเพิ่มขึ้น 74 เปอร์เซ็นต์ และโพสต์รูปภาพเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงวันสงกรานต์ (13 – 15 เมษายน) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคมจนถึง 30 เมษายน 2559
Big Data บอกได้ ผู้บริโภคคุยอะไรกัน
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Big Data พบว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หัวข้อที่ผู้คนพูดคุยกันมากที่สุดบน Facebook คือ ประเด็นเกี่ยวกับ Healthy Living (22%) Family (19%) Food&Beverage (17%) Looking good (8%) และเรื่องเกี่ยวกับบ้าน (Household) 8%
โดย Facebook พบว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ชายมักโพสต์เกี่ยวกับเรื่องบ้านและความสะอาด มากกว่าช่วงเวลาปกติ 26 และ 13 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ในขณะที่ผู้หญิงโพสต์เกี่ยวกับการช้อปปิ้งและความสวยความงาม มากกว่าช่วงเวลาปกติ 61 และ 53 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับเลยทีเดียว
คอนเทนต์อีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันบนแพลตฟอร์มของ Facebook ก็คือคอนเทนต์ VDO ซึ่งวิดีโอคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงสงกรานต์ ได้แก่
- ครอบครัว (22 เปอร์เซ็นต์)
- การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี (20 เปอร์เซ็นต์)
- อาหารและเครื่องดื่ม (14 เปอร์เซ็นต์)
- ความสวยความงาม (10 เปอร์เซ็นต์)
จากภาพรวมของหัวข้อที่คนไทยมีการพูดคุยสนทนากันบน Social media อย่างเฟซบุ๊กนั้น ยังนำไปสู่พฤติกรรมที่น่าสนใจบางประการด้วย นั่นก็คือ มือถือกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้บริโภคในการค้นหาสินค้า เสาะหาข้อมูล รวมถึงตัดสินใจซื้อสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ไปแล้วเรียบร้อย
“มือถือ” แหล่งช้อปปิ้งแห่งใหม่สำหรับคนไทย
- 70 เปอร์เซ็นต์ของคนไทย ค้นหาข้อมูลสินค้าบนสมาร์ทโฟน (ที่มา: วีซ่า)
- 1 ใน 2 ของคนไทย ซื้อสินค้าบนสมาร์ทโฟน (ที่มา: วีซ่า)
- สถิติออนไลน์คอนเวอร์ชั่นของเทศกาลสงกรานต์ (0.99x) สูงเกือบเทียบเท่าคอนเวอร์ชั่นในช่วงเดือนธันวาคม (1x) ซึ่งถือว่าสูงมาก และ Facebook บอกว่านี่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยอย่างที่ประเทศไหนก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ด้วย
- ผู้คนซื้อสินค้าในระหว่าง 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันสงกรานต์ มากกว่าช่วงสงกรานต์โดยเฉลี่ยถึง 28 เปอร์เซ็นต์
- ในช่วงสัปดาห์วันสงกรานต์ คนไทยช้อปสินค้าน้อยลง แต่ฉลองโมเมนท์สำคัญๆ บน Facebook และ Instagram แทน
- พอเทศกาลสงกรานต์จบลง ผู้คนก็กลับมาซื้อสินค้ากันใหม่ ซึ่งตัวเลขในส่วนนี้พบว่ามากกว่าช่วงสงกรานต์โดยเฉลี่ยถึง 36% เลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้ เราคงพอมองเห็น Timeline ในการสร้าง Brand Awareness และช่วงเวลาของการสร้างยอดขายกันแล้วว่าควรจะอยู่ในช่วงใด ที่สำคัญ แบรนด์ต้องตระหนักด้วยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ (13 – 15 เมษายน) อาจไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการ Drive ยอดขายที่ดีเลย
คุณจอห์น ยังได้ชี้ด้วยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แม้การซื้อสินค้าจะมีตัวเลขลดน้อยลง แต่คนก็ยังอยู่บนแพลตฟอร์มของ Facebook อยู่ดี โดยใช้โพสต์ภาพ VDO เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองต่างๆ แบรนด์จึงสามารถใช้เวลาในช่วงนี้สร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากคุยเรื่องตัวเลขกับกรรมการผู้จัดการของ Facebook แล้ว ในการสัมภาษณ์พิเศษดังกล่าว ยังได้พบกับสองผู้ประกอบการที่มีการใช้เครื่องมือของ Facebook อย่างครบครันได้แก่ TescoLotus และ Chilindo ด้วย
โดยคุณภาคิณ ศรีบุศย์ดี Head of Digital Connection ของ Tesco Lotus เผยว่า การใช้งาน Facebook นั้นต้องไม่กลัว ต้องกล้าที่จะลอง และก้าวออกมาจากสื่อแบบเดิม ๆ ซึ่งสื่อใหม่แบบ Facebook นี้มีข้อดีตรงที่สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายไม่สูงเหมือนสื่อทีวีนั่นเอง
ด้าน มร.คาสปาร์ โบ เจนเซ่น ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชิลินโด Chilindo.com เว็บไซต์ประมูลสินค้าออนไลน์ ก็ให้ทัศนะว่า “Facebook มีบริการเครื่องมือและฟีเจอร์สำหรับธุรกิจให้เลือกใช้มากมาย ทำให้สามารถทดลองสิ่งใหม่ๆ และปรับเข้ากับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี ซึ่งเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้สามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้บริโภคชาวไทยในยุคโมบายเฟิร์สได้อีกด้วย”