Site icon Thumbsup

สถิติน่ารู้ภาพรวมการใช้งาน Facebook ทั่วโลก

สถิติน่ารู้วันนี้ที่เอามาฝากกันเป็นการเติบโตของ Facebook (สิ้นกรกฎาคม 2011 อ้างอิงจาก SocialBakers) และหยิบยกการใช้งานที่สะท้อนสภาพสังคมการใช้อินเทอร์เน็ตของบางประเทศขึ้นมา ถ้าใครสนใจลองไปดูกันได้เลยค่ะ 😀

ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้ Facebook สูง

เริ่มต้นกันที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกันก่อนประเทศอินเดีย ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา Facebook มีอัตราการเติบโตที่สูงมากพอสมควร นั่นคือ 59.55% และถือเป็น 40.33% ของผู้ใช้ออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งเชือดเฉือนกับ Orkut ของ Google ในประเทศนี้โดยตรง (อย่าสับสนกับ Google+ นะคะ คนละตัวกัน)

ที่มา: eyedealab.com

แม้อินเดียจะติดอันดับ 3 ของประเทศที่มีประชากรใช้ Facebook เยอะสุดรองจากสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย แต่เมื่อเทียบกับประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นถือว่ามีผู้ใช้เพียงแค่ 2.78% เท่านั้น

นั่นเป็นเพราะอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอินเดียยังถือว่าน้อยมาก (ประมาณ 8.4%) แม้กระทั่งประเทศอย่างปากีสถานยังมีตัวเลขที่สูงกว่า (ประมาณ 10.9%) ด้วยอุปสรรคในเรื่องของภูมิประเทศการวางโครงข่าย Fixed-line จำนวนประชากรที่มีอยู่มาก หนึ่งในความคาดหวังที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอินเดียก็คือเทคโนโลยี 3G นั่นเอง

เมื่อพูดถึงประเทศที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกรายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเห็นจะหนีไม่พ้นประเทศบราซิลที่เติบโตกว่า 100% เลยทีเดียว Orkut เจ้าถิ่นต้องหันมามอง Facebook กันหลายรอบล่ะคราวนี้ ในขณะที่ทาง Google ก็ยังออกมาให้ข่าวว่ายังไม่มีแผนจะปิด Orkut เพื่อยุบรวมกับ Google+ ในตอนนี้แต่อย่างใด แต่เชื่อว่าไม่นานคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ได้เห็นกันบ้าง

นอกจากนี้ประเทศที่มีอัตราผู้ใช้ Facebook อย่างก้าวกระโดดส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีประชากรไม่มากทำให้จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมาจึงมีผลโดยตรงกับอัตราการเติบโต เช่น เกาะกวม, อิเควทอเรียลกินี, โคโมรอส, เกาะเซาตูเมและเกาะปรินซิปี เป็นต้น

ประเทศที่ Facebook ยังเจาะไม่ได้เสียที

ถ้าเป็นตลาดที่มีคู่แข่งต่างถิ่นด้วยกันแล้วล่ะก็ Facebook ไม่กลัว (ยกเว้น Google+ ในตอนนี้นะจ๊ะ อันนี้เค้ามาแรงจริง :D) แต่ที่ยังต้องชิงชัยกันอยู่เห็นจะเป็น Social Network ท้องถิ่นเนี่ยแหล่ะ

ญี่ปุ่นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูงถึง 78.4% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของผู้ใช้ Facebook สูงขึ้นถึง 89.77% แต่ก็ใช่ว่ามีผู้ใช้เยอะแยะอะไรมากมายเพราะเดิมผู้ใช้ Facebook ในแดนปลาดิบนั้นถือว่าน้อยอยู่? ดังนั้นอัตราส่วนของผู้ใช้ Facebook ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดจึงมีแค่เพียง 3.27% หรือถือเป็นเพียง 4.18% ของประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด

ปัจจุบัน Social Network ที่ครองใจชาวญี่ปุ่นคือ Gree ที่โดดเด่นด้านเกมผนวกกับการจับตลาดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ใช้ชาวญี่ปุ่นเพราะแทบจะเรียกว่าต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มากกว่าคอมเสียอีก และอีกหนึ่งสังคมที่ก่อร่างสร้างตัวมานานกว่า 7 ปีอย่าง Mixi ที่ตอบโจทย์วัฒนธรรมบนโลกออนไลน์ที่ไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัวตนจริงสักเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่ดูว่าใครเข้ามาดู Profile ของตัวเองบ้าง (คล้ายๆ กับ hi5 ที่มีฟีเจอร์นี้ LinkedIn ก็มี แต่ Facebook นั้นไม่เห็นเป็นทางการ) แม้การทำตลาดในญี่ปุ่นที่ถือว่ามีคุณลักษณะเฉพาะเอามากๆ แต่ก็ใช่ว่าจะสำเร็จไม่ได้ เพราะ iPhone ก็เคยสร้างปรากฏการณ์นี้มาแล้ว สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของตลาดในญี่ปุ่นสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความเก่าของเราค่ะ

มาที่ประเทศเกาหลีใต้ อีกประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 80.9% แม้ CyWorld จากค่าย SK Telecom จะไม่ประสบความสำเร็จในการตีตลาดต่างประเทศเท่าไหร่นักที่พยายามจะแยกสร้างเครือข่ายให้กับแต่ละประเทศโดยเฉพาะ ทำให้มีกำแพงกั้นระหว่างผู้ใช้จากประเทศต่างๆ แต่สำหรับบ้านตัวเองยังคงเหนียวแน่นอยู่พอสมควร ด้วยฐานผู้ใช้จำนวนมากกว่า 25 ล้านคน (สถิติเดือนมกราคม 2011) ?นั่นคือสังคมของพวกเขายังอยู่ที่นั่นและฟีเจอร์บน CyWorld ยังตอบโจทย์ตาม lifestyle ชาวกิมจิอยู่ ในขณะที่ Facebook ก็ค่อยๆ เขยิบๆ ด้วยอัตราการเติบโต 2.53% ?ถือเป็น 7.85% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แถมแอบได้ยินมาว่าจำนวนผู้ใช้ของเกาหลีที่ปรากฏอยู่ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่ชาวจีนเชื่อมต่อ Facebook ผ่าน VPN ของทางเกาหลี?

ดูเหมือนว่า Twitter จะยังทำได้ดีกว่า Facebook ด้วยซ้ำทั้งในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลี อาทิเช่น

Twitter เลยสามารถเข้าไปสร้างกลุ่มผู้ใช้ของทั้ง 2 ประเทศได้มากพอสมควร อย่างไรก็ตามบนโลกไซเบอร์อะไรก็เกิดขึ้นได้ Facebook จะเดินเกมอย่างไรใน 2 ประเทศนี้เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

อีกประเทศที่ Facebook ยังเจาะไม่ได้นั่นคือประเทศรัสเซีย ซึ่งก็มี Social Network ท้องถิ่นเช่นกัน อย่าง VKontakte และ Odnoklassniki (แค่ชื่อก็อ่านยากแล้วค่ะ ^^?) โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาอัตราการเติบโตอยู่ที่ 14.39% แต่ถือเป็นจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นเพียง 5แสนกว่าคนเท่านั้นเอง

อันนี้เค้าเรียกว่าข้อยกเว้น?.

สำหรับประเทศจีน ที่หลายคนคงทราบกันแล้วว่าประเทศเค้าบล็อกการใช้บริการ Facebook อยู่ ไม่ว่าจะเพื่อความมั่นคงหรือเพื่อต้องการสนับสนุนเว็บฯ ท้องถิ่น แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนจนตัวเลขโผล่ออกมาให้เห็นอยู่ จากเดิมเมื่อปลายปีก่อนทาง thumbsup เคยนำเสนอตัวเลขดังกล่าวว่ามีผู้ใช้ในจีนอยู่ประมาณ 1 แสนราย คราวนี้แม้เพิ่มขึ้นเป็น 476,240 รายแล้ว แต่ถือว่าเป็นอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้น

นานาสาระอื่นๆ

ประเทศที่มีผู้ใช้งาน Facebook แทบทุกคน เห็นจะหนีไม่พ้นโมนาโก ประเทศที่มีประชากรแค่ประมาณ 3 หมื่น 5 พันกว่าคนค่ะ อันนี้ไม่น่าแปลกใจ

เมื่อกล่าวถึงผู้ใช้งานบน Facebook ส่วนใหญ่ หลายประเทศอัตราส่วนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายก็จะสูสีกันไม่ได้ต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับประเทศในโซนตะวันออกกลางหลายประเทศอย่างเช่น อัฟกันนิสถาน, อิรัก, ซาอุฯ ผู้ชายจะมีอัตราส่วนการใช้งานที่สูงกว่าผู้หญิงมากพอสมควรซึ่งสะท้อนถึงสังคมและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมากับโอกาสการเข้าถึงโลกกว้างของเพศหญิง

ประเทศที่มีอัตราการลดลงเป็นอย่างมาก อย่างเช่น ลิเบีย อันนี้ไม่น่าแปลกใจอะไรอันเนื่องมาจากเหตุการณ์การประท้วงและมีการบล็อกการเข้าถึง Facebook ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่ะ

แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้คือช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา Google+ ยังพึ่งโผล่มาช่วงปลายๆ นะคะ และคราวนี้คือ Jigsaw ตัวสำคัญของ Google ที่จะเชื่อมต่อทุกบริการเข้าไว้ด้วยกัน อีกสักครึ่งปีเรามาลองดูกันใหม่ดีกว่าว่าสังคม Social Network จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงกันไปบ้าง