แม้ว่าภารกิจของ Facebook คือการเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความพยายามที่ค่อนข้างยากทีเดียว หาก Social Media ยักษ์ใหญ่อย่างFacebook ยังไม่สามารถเปิดประตูเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ ซึ่งการทำให้ได้สำเร็จในประเทศที่มีกำแพงการเซนเซอร์ที่แน่นหนานั้น อาจต้องแลกมากับการสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองไปอย่างน่าเสียดายด้วย
โดยปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้งานต่อเดือนอยู่ที่ 1.65 พันล้านคน และ Facebook กำลังถูกนักลงทุนตั้งคำถามว่าจะขยายจำนวนผู้ใช้งานให้มากกว่านี้ได้อย่างไร ซึ่งทางออกของคำถามนี้อาจหมายถึงการบุกตลาดจีน ซึ่งมีประชากรเป้าหมายของ Facebook อยู่กว่า 1.3 พันล้านคนให้แย่งชิง
แต่การจะเข้าสู่ตลาดจีนให้ได้นั้น นักวิเคราะห์จากโลกตะวันตกมองว่า อาจเป็นไปได้ที่ Facebook จะต้องจับมือกับบริษัทจีน และต้องพัฒนาระบบเซนเซอร์ข้อมูลได้โดยอัตโนมัติจากการใช้คีย์เวิร์ด โดยให้สิทธิบริษัทจีนในการควบคุมเครื่องมือดังกล่าว ตลอดจนการทำให้รัฐบาลจีนพึงพอใจในการให้บริการ
นอกจากนั้น ในกรณีมีการโฆษณา หรือโพสต์จากนอกประเทศจีนที่มีความอ่อนไหว ก็ต้องสามารถบล็อกได้ทันท่วงที ซึ่งในจุดนี้ก็อาจกระทบต่อภาพรวมการให้บริการของ Facebook ไม่น้อย ทางเลือกที่ง่ายกว่าก็คือ ตัดการเชื่อมต่อของชาวจีนออกจากโลกภายนอก ให้บริการเป็นการภายใน ซึ่งน่าจะยากพอสมควรเช่นกัน และถ้าทำเช่นนั้นแล้ว Facebook ก็แทบจะสูญเสียตัวตนทั้งหมดไป และมีสภาพไม่ต่างจาก WeChat แถม WeChat ยังมีผู้ใช้งานชาวจีนให้ความนิยมอย่างสูง และมีคุณสมบัติเด่นหลายๆ ประการคล้ายกับ Facebook ด้วย
ที่สำคัญคือ นั่นไม่ใช่การเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกันในแบบที่ Facebook ต้องการเป็นแน่
บทสรุปจึงไม่น่าจะเป็นทางเลือกอื่น หรือก็คือ Facebook จะตอบรับคำขอของรัฐบาลจีนแน่นอน ส่วนในเรื่องการเซนเซอร์ข้อมูลนั้น ที่ผ่านมา Facebook มีการดึง Content ออกจากระบบเนื่องจากถูกรัฐบาลของบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และปากีสถาน ร้องขอมาแล้ว จึงอาจไม่ใช่เรื่องยากลำบากประการใด
แต่สิ่งที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกังวลกันในตอนนี้ก็คือ ความเป็นไปได้ที่จะถูกรัฐบาลจีนสอดแนมผ่านทางแพลตฟอร์มของ Facebook ต่างหาก โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ได้มีการเรียกร้องให้ Facebook ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เพราะหากถูกสอดแนมได้เสียแล้ว ก็จะเป็นเรื่องอันตรายสำหรับผู้ใช้งานทั่วโลกนั่นเอง
ที่มา: TheGuardian