editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จาก? @Chatechenko ผู้ประสานงานโครงการ? My Computer Law พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เพื่อประชาชน อันเป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมาย คอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน
โลกในยุค 2.0 ปัจจุบันนั้นทุกๆ อย่างช่างดูสะดวกและรวดเร็ว การทำธุรกรรมต่างๆ ในรูปแบบกระดาษและขั้นตอนการพิจารณาที่ซับซ้อนนั้นกลายเป็นของล้าสมัย แต่บางอย่างที่รวดเร็วเกินไปชนิดที่ว่าแทบจะ copy and paste กันทำให้เราเผลอละเมิดลิขสิทธิ์กันโดยไม่รู้ตัว!!
ปัญหาสำคัญก็คือคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์บางส่วนไม่รู้ว่าตัวเองทำผิด!! ทัศนคติอย่างหนึ่งที่ผิดๆของคนส่วนใหญ่ก็คือการคิดว่าทุกๆ อย่างที่อยู่บนโลกออนไลน์นั้นเป็นของฟรี (เพราะฉันเสียค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือนไปแล้ว) ไม่นับคนที่ตั้งใจจะละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้ว
ดังนั้นบนโลกออนไลน์จึงมีกติการ่วมกันชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ” Fair Use?? ที่หมายถึง ความชอบธรรมทางกฎหมายในการเอาผลงานลิขสิทธิ์มาใช้ในระดับที่จำกัด โดยไม่ไปขัดกับผลประโยชน์ที่เจ้าของผลงานพึงได้รับจากงานของเขา ซึ่งสิ่งที่จะคอยกำหนดว่าอะไรเป็น Fair Use อาจจะสรุปคร่าวได้ 4 ข้อก็คือ
- มีจุดมุ่งหมายและลักษณะของการใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น เพื่อการเรียน เพื่อวิจารณ์ เพื่อการทำวิจัย ยกตัวอย่างสมมุติเราอยากจะเขียน Blog โดยวิพากษ์มือถือยี่ห้อ Nokia เราก็สามารถเอารูปภาพหรือโลโก้ของโนเกียมาใส่ได้
- ลักษณะของผลงานลิขสิทธิ์ เช่น หนังสืออ้างอิงในห้องสมุดที่สมาชิกยืมไปอ่านได้ คงจะแปลกมากหากเราจะต้องไปขออนุญาตผู้เขียนในการนำไปใช้ทุกครั้งๆ ไป
- การเลือกตัดบางส่วนของชิ้นงานเพื่อนำไปใช้ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยเลือกบางส่วนของหนังสือวิชาการ มาสอนนักศึกษา
- การนำผลงานไปเผยแพร่ในวงจำกัดและไม่ใช่เพื่อการค้า โดยไม่ส่งผลกระทบทางรายได้ค่าลิขสิทธิ์ของผู้ผลิต เช่น สมมุติการเอาหนังไปฉายให้นักเรียนภาพยนต์ดูนั้นสามารถทำได้ แต่ถ้าเอาหนังชนโรงไปฉายอาจเป็นการละเมิด
ประเด็นที่สำคัญก็คือในแต่ละประเทศนั้นมีมาตรฐานการตกลงที่แตกต่าง และยืดหยุ่นต่างกันไป อย่างในประเทศไทยแบบที่แพร่หลายที่สุดก็คือ ลิขสิทธิ์แบบ Creative Commons ที่เห็นกันตามเว็บไซต์ต่างๆ ถ้าหากเรา “คัดลอก”จาก เว็บไซต์ www.cc.in.th จะระบุวัตถุประสงค์ว่า
วัตถุประสงค์
- ส่งเสริมแนวคิดวัฒนธรรมเสรีและการใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์กับ งานสร้างสรรค์ ให้ความคิดสร้างสรรค์สามารถเผยแพร่ไหลเวียนและต่อยอดได้โดยเสรี
- รณรงค์ให้สังคมไทย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษา ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ที่เหมาะสมกับงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานที่เป็นภาษาไทย เกี่ยวกับสังคมไทย หรือเกี่ยวกับการศึกษาของไทย
ซึ่งจริงๆ หลายๆ ครั้งเรื่องลิขสิทธิ์ก็จะมีส่วนที่ไปผูกพันกับข้อกฏหมาย Creative Commons นั้นจึงมีลักษณะสำเร็จรูป โดยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฏหมายมาร่วมร่างให้ เพื่อที่จะสามารถหยิบไปใช้ ซึ่งในอนุสัญญาแบบ Creative Commons นั้นก็ยังมีแบ่งเป็นอีกหลายประเภท ซึ่งใจความหลักก็คือไม่ใช่เพื่อนำไปใช้ในการค้า ใครสนใจลองเข้าไปดูได้ที่ http://creativecommons.org/choose/?lang=th? สิ่งเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะเราเชื่อว่าหลายสิ่งนั้นอาจไม่ได้เริ่มจากการนับจากศูนย์ แต่คือการต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ และเราเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “นวัตกรรม”
ภาพ: CC.in.th