จากผลการศึกษาโดย Sahlgrenska Academy และ Lund University สถานศึกษาจากประเทศสวีเดน พบความเชื่อมโยงระหว่างสภาวะทางจิตใจ กับโพสต์และสเตตัสต่างๆ บน Facebook ที่อาจชี้ถึงด้านมืดในจิตใจไปจนถึงการลักษณะพยาธิสภาพทางจิตของผู้โพสต์
หลังจากนี้จะโพสต์อะไรลง Facebook พวกเราต้องฉุกคิดก่อนซักหน่อยแล้ว ว่าสิ่งที่อยากจะโพสต์ลงไปนั้นเป็นสิ่งที่คุณคิด และอยากให้คนอื่นๆ เห็นตัวคุณเป็นคนแบบนั้นจริงๆ หรือไม่? เพราะล่าสุดทางสถาบันการศึกษาอย่าง Sahlgrenska Academy และ Lund University ในประเทศสวีเดนได้ใช้สเตตัสของผู้ใช้ Facebook ชาวสหรัฐฯ กว่า 304 คน ในการวิเคราะห์ภาวะทางจิตใจ ทั้งปมในชีวิต ภาวะพยาธิสภาพทางจิต และความเสี่ยงในการเป็นโรคประสาทของพวกเขาพบว่า ปริมาณโพสต์บน Facebook จำนวนไม่น้อยเลยที่แสดงถึงด้านมืดในจิตใจของพวกเขา
โดย Sverker Sikström นักวิจัยได้พูดถึงโพสต์และสเตตัสบน Facebook ของกลุ่มตัวอย่างที่เขาศึกษาว่า ทางทีมวิจัยได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้คำกับการแสดงออกทางบุคลิกภาพ พบว่าผู้ที่ใช้คำหยาบอย่างเรื่องเพศ ฆาตกรรม และหญิงค้าบริการนั้น จะมีแนวโน้มว่าจะมีพยาธิสภาพทางจิตสูง และเพราะความที่ Facebook นั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมาก เหล่าผู้ใช้จึงมักใช้เป็นช่องทางในการระบายเรื่องเชิงลบ
แต่ใช่ว่าบน Facebook จะมีแต่คนเผยด้านมืดเพียงอย่างเดียว นักวิจัยฝั่งสหรัฐอเมริกาในรัฐเวอร์จิเนียได้เผยว่าการวิจัยความสุขของผู้ใช้ เช่น ความพึงพอใจในชีวิตตนเอง หรือการมีศีลธรรม จากภาพที่โพสต์บน Facebook นั้นก็สามารถกระทำได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะแสดงถึงบุคลิกด้านบวกของพวกเขาได้ดีกว่าการวิเคราะห์คำพูดด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตามผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ นอกจาก Facebook ที่มีแนวโน้มของการโพสต์ลิงก์ข่าวที่มีความรุนแรง หรือแสดงความชื่นชอบภาพยนตร์ประเภท Snuff Film (ภาพยนตร์จำลองเหตุการณ์ฆาตกรรมทุนต่ำที่เหมือนจริงมาก) อย่างออกนอกหน้านั้นก็ยังเป็นกลุ่มคนที่น่าระวัง แต่ก็ใช่ว่าจะต้องถึงขั้นตระหนก เพราะเพื่อนบางคนอาจชอบพูดเรื่องทะลึ่งขำๆ จนเป็นนิสัย งานนี้ต้องแยกแยะให้ดี และอย่าลืมแวะไปเช็คโปรไฟล์ตัวเองบ้างนะคะ ว่าตัวเรานี้มีข่ายเข้าขั้นกับเขาบ้างหรือเปล่า?
ที่มา Digitaltrends, dnaindia