เป็นข่าวดีช่วงต้นปีสำหรับการระดมทุนรอบใหม่ของ FINNOMENA แพลตฟอร์มบริหารการเงินแบบดิจิทัลที่สำเร็จการระดมทุนเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Openspace Ventures และ Gobi Partner แต่ก็มีข่าวการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2019 จนมาถึงตอนนี้ที่ดูเหมือนว่าวงการสตาร์ทอัพจะเหลือตัวจริงลดลง และโอกาสที่ประเทศไทยจะมียูนิคอร์นเกิดขึ้นได้นั้นก็ริบหรี่มากขึ้นทุกที
สตาร์ทอัพกับการผลักดันที่ไปไม่สุด
ทีมงาน thumbsup ได้พูดคุยกับทางคุณสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ อดีตผู้บริหาร dtac Accelerate เปิดใจว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ดูแลกลุ่มสตาร์ทอัพมา ค่อนข้างมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่มีทักษะและความพร้อมในการเดินไปสู่จุดหมายของธุรกิจยุคใหม่แล้ว แม้ว่าในอนาคตจะไม่มีทีม dtac Accelerate เป็นส่วนหนึ่งในการให้คำปรึกษาและผลักดันในเรื่องต่างๆ แบบในอดีตแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ คนไทยที่เคยเป็นสตาร์ทอัพทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จในไทยมีเยอะ ซึ่งคนเหล่านี้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยกันผลักดันคนใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ แม้ว่าเราจะยังไม่มียูนิคอร์นเกิดขึ้นแบบในต่างประเทศ แต่อย่างน้อยก็เห็นชัดขึ้นว่าใครเป็น “ตัวจริง” ในตลาดนี้ที่จะสามารถอยู่รอดได้
ถ้าหากเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่จะเลือกจดทะเบียนบริษัทในไทยคงมีน้อยลง เพราะต่างประเทศมีเงื่อนไขที่ดีกว่า หลักๆ คงเป็นเรื่องภาษีและการสนับสนุนต่างๆ หากเป็นสตาร์ทอัพรุ่นเก๋าอย่างเช่น Wongnai, FINNOMENA, Claim Di หรือ Ookbee ที่สามารถรักษาความเป็นธุรกิจและแข็งแรงได้ เราก็มองว่าคนกลุ่มนี้แหละที่จะกลายเป็นยูนิคอร์นของไทยนะ คิดว่ารวมๆ น่าจะมี 10-20 รายที่มีโอกาส หากไม่มีจุดเปลี่ยนให้เขาไปจดทะเบียนบริษัทที่ต่างประเทศเสียก่อน เพราะผู้ก่อตั้งเหล่านี้ยังเป็นคนไทย
อย่างไรก็ตาม การจะแตะระดับยูนิคอร์นได้นั้น หากไม่ใช่ธุรกิจที่โตเร็วภายใน 3-5 ปี ก็จะเป็นกลุ่มที่โตอย่างมั่นคงใน 7-10 ปี ซึ่งสตาร์ทอัพรุ่นแรกๆ ที่ยังรักษาธุรกิจไว้ได้ พวกเขาก็น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เป็นยูนิคอร์น คนในวงการสตาร์ทอัพก็คาดหวังว่าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยจะช่วยกันสนับสนุนในเรื่องเงื่อนไขหรือข้อกฏหมายต่างๆ ที่ได้ยื่นข้อเสนอไปก่อนหน้านี้จะช่วยผลักดันให้พวกเขาขึ้นเป็นยูนิคอร์นได้เสียที
ส่วนข่าวลือเกี่ยวกับการย้ายบ้านของทีม dtac Accelerate นั้น คุณสมโภชน์เล่าว่า ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนแบบที่เป็นข่าวนะ ยังอยู่ในช่วงของการพูดคุยเชื่อว่าไตรมาส 1 ปีนี้ถ้าไม่มีอะไรพลิกโผก็คงมีบ้านใหม่อย่างเป็นทางการ ส่วนการสนับสนุนสตาร์ทอัพต่อไปหรือไม่ของทาง dtac นั้น อันนี้ก็ต้องรอดูนโยบายใหม่ของทีมผู้บริหารเพราะเขาคงจะตอบฟันธงให้ไม่ได้
ด้านความกังวลเกี่ยวกับสตาร์ทอัพที่เข้าไปถือหุ้นในกลุ่มสตาร์ทอัพในโครงการ dtac Accelerate 1-7 นั้น คุณสมโภชน์ชี้แจงว่า ทางธุรกิจยังถือว่า dtac Accelerate ถือหุ้นในสตาร์ทอัพเหล่านั้นอยู่ แต่จะเป็นมูลค่าเท่าไหร่หรือมีนักลงทุนรายใดสนใจเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพเหล่านี้หรือไม่ อันนี้ต้องรอดูที่ความสามารถในการบริหารงานของพวกเขา แต่สตาร์ทอัพเหล่านั้น ไม่ได้ติดสัญญากับทาง dtac Accelerate ว่าจะไประดมทุนจากที่อื่นไม่ได้ หากมีนักลงทุนรายใดสนใจยังสามารถเข้าไปลงทุนหรือซื้อกิจการสตาร์ทอัพเหล่านั้นได้อยู่ เพราะพวกเขาก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ
ก้าวสำคัญของ FINNOMENA
ทางด้านของทีมบริหารของ FINNOMENA อย่างคุณเจษฎา สุขทิศ เล่าว่า การระดมทุนได้มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ทางฟินโนมีนาจะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศคือช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางสามารถเข้าถึงการลงทุนได้โดยง่าย เราจึงเดินหน้าในการเพิ่มทีมที่ปรึกษา เพื่อเข้าไปให้ความรู้ทางการเงินกับคนทุกกลุ่ม
ฟินโนมีนา ผู้นำด้านแพลตฟอร์มบริหารเงินลงทุนครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทีมผู้บริหารคนไทย ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบซีรีส์บีกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดยทำธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มการบริหารเงินลงทุนแบบครบวงจร ทั้งผลิตภัณฑ์การลงทุน ที่ปรึกษาการลงทุน เครื่องมือวิเคราะห์การลงทุน และเป็นแหล่งความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้กับผู้คนในวงกว้าง
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มกว่า 120,000 คนและสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกว่า 8,300 ล้านบาท ปัจจุบันมีทีมงาน 80 คน และมีแผนจะเพิ่มทีมงานเป็น 150 คนภายหลังจากกระดมทุนในรอบนี้ และยังตั้งเป้าจะให้มีทีมที่ปรึกษาแตะ 2,500 คน ซึ่งเงินทุนที่ได้มาในครั้งใหม่นี้ ก็จะนำไปลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ระบบ ML เข้ามาช่วยเสริมการทำงานให้ดีขึ้น ขยายฐานผู้ใช้แพลตฟอร์ม รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ
เช่น กองทุนรวมประหยัดภาษี กองทุนส่วนบุคคลที่ลงทุนใน ETFs ทั่วโลก ประกัน และ P2P Lending โดยฟินโนมีนาตั้งเป้าหมายว่าแพลตฟอร์มความรู้สำหรับนักลงทุนต้องมียอดเข้าชมอย่างน้อย 100 ล้านครั้งต่อเดือน และมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอย่างน้อย 100,000 ล้านบาทภายในปี 2566
ขณะนี้ FINNOMENA มีเม็ดเงินระดมทุนรวมของฟินโนมีนานับแต่เริ่มกิจการมีมูลค่าทั้งสิ้น 13.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทำความรู้จักนักลงทุน
สำหรับนักลงทุนที่ให้ความสนใจมาลงทุนใน FINNOMENA นั้น ประกอบด้วย
Openspace Ventures
Openspace Ventures เข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์อัพที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวหลักในการขยายธุรกิจ โดยเน้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับซีรีสเอ และซีรีส์บี ในขณะนี้พอร์ตการลงทุนของบริษัทมีทั้งหมด27บริษัท ซึ่งมีทั้งทำธุรกิจ B2B และ B2C โดยล้วนเป็นบริษัทซึ่งกำลังเติบโตทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ลงทุนในบริษัทเทคสตาร์ทอัพในภูมิภาคไปแล้ว 26 บริษัท
Openspace Ventures มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกว่า 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีนักลงทุนระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นผู้ร่วมทุน www.openspace.vc
Gobi Partners
Gobi Partners เป็นกองทุนร่วมทุนแห่งแรกที่มีสาขาครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และญี่ปุ่นด้วยสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเซี่ยงไฮ้ โดยบริษัทสนับสนุผู้ประกอบการในช่วงเริ่มต้นจนถึงช่วงเติบโต และมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโต
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 Gobi Partners ได้ระดมทุนไปแล้วทั้งสิ้น 13 กองทุน และลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วมากกว่า 250 บริษัท มีสำนักงานสาขาใน 11 ประเทศ ได้แก่ กรุงเทพ ปักกิ่ง โฮจิมินห์ ฮ่องกง จาการ์ตา การาจี กัวลาลัมเปอร์ มนิลา เซี่ยงไฮ้ สิงค์โปร์ และกรุงโตเกียว www.gobivc.com
Premier Advisory Group
Premier Advisory Group บริหารเงินลงทุนในกองทุน Private Equity มูลค่า 1,000 ล้านบาทซึ่งผู้ลงทุนหลักคือธนาคารออมสิน โดยกองทุนมีอายุการลงทุน 10 ปี และมีเป้าหมายที่จะนำพาบริษัทที่ลงทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือเข้าสู่การควบรวมกิจการ www.premier-advisory-group.com
Krungsri Finnovate
Krungsri Finnovate กองทุนร่วมลงทุนขนาด 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ MUFG ที่เน้นลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพสายฟินเทค โดยเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพที่เข้าสู่ระยะการเติบโตในระดับซีรีส์เอขึ้นไป และเน้นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ และช่วยเหลือสตาร์ทอัพให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตผ่านการสนับสนุนและการทำธุรกิจร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา www.krungsrifinnovate.com
BCH Ventures
BCH Ventures คือบริษัทด้านการลงทุนของกลุ่มเบญจจินดาที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิตอลชั้นนำ โดยบริษัทจะเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโตสูง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่อุตสาหกรรมในอนาคตข้างหน้าได้ www.bch-ventures.com
500 TukTuks
500 TukTuks เป็นกองทุนร่วมลงทุนที่มีพันธกิจในการค้นหาบริษัทที่มีผู้ประกอบการที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองทำ เน้นช่วยเหลือบริษัทเหล่านั้นให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และร่วมสร้าง Startup Ecosystem ให้แข็งแกร่ง โดย 500 TukTuks ในกลุ่มของ 500 Startups เป็นกองทุนร่วมทุนในระดับ Seed Stage ที่มีบทบาทต่ออุตสาหกรรมสตาร์ทมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก www.500tuktuks.com