ในเดือนที่ผ่านมา หากหลายคนที่ติดตาม Feed เกี่ยวกับขนม Fitto ในโซเชียลมีเดีย จะเห็นได้ว่ามีการบอกต่อและรีวิวไปในแนวเดียวกันนั่นคือ #งบหมด วันนี้ทาง Thumbsup จะมาวิเคราะห์กับการตลาดแบบบอกตรงๆ เรื่องเงินทองนั้น ดีต่อแบรนด์อย่างไรบ้าง
ทำความรู้จัก Fitto
จากมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวของปี 2562 ที่สูงถึง 38,457 ล้านบาท ตลาดมันฝรั่งทอด 12,499 ล้านบาท ซึ่งมันฝรั่งทอดกรอบถือว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงที่สุด รองลงมาคือ ปลาเส้นและถั่ว ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ ต่างก็สนใจอยากจะทดลองนำสินค้าเข้ามาขายในตลาดนี้
สำหรับ Fitto เป็นขนมธัญพืชอบกรอบที่บอกว่าทำมาจากข้าว 3 ชนิดคือ ข้าวกล้องขาว ข้าวกล้องแดงและข้าวโพด ซึ่งเป็นขนมธัญพืชป๊อบรายแรกของไทยที่ได้รับฉลากทางเลือกสุขภาพจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นการการันตีว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (แต่ควรบริโภคอย่างพอดี)
โดย Fitto ที่บอกเหล่าโซเชียลว่า #งบหมด นี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับสูตรใหม่ก่อนวางขายในตลาดเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้รสชาติถูกปากมากขึ้น หลังจากรอบแรกขาดทุนยับเยินเพราะรสชาติยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักกินเท่าไหร่นัก
ธุรกิจอาหารไม่ง่ายอย่างที่คิด
การเข้ามาจับตลาดสแน็คของ คุณธนันพัชญ์ ไพบูลย์ธนภาค ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟิตโต้ กรุ๊ป นั้น เริ่มต้นจากครอบครัวที่ประกอบธุรกิจโรงงานเพาะถั่วงอกรายใหญ่ของราชบุรี ก่อนจะผันตัวมาทำธุรกิจโรงสีข้าว จึงเชื่อมั่นว่าตนเองมีวัตถุดิบชั้นดีในมือ และส่วนตัวเป็นคนชอบทานขนม หากสามารถต่อยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวมาทำเป็นขนมได้นั้น ก็น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคได้กินขนมที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ
จากนั้นจึงใช้เวลาในการทดลองมากว่า 2 ปี โดยไม่ได้มีความรู้พื้นฐานด้านอุตสาหกรรมอาหารมาก่อน ทำให้ต้องทดลองทุกขั้นตอนด้วยตนเอง ด้วยเงินสะสมส่วนตัวราว 1 ล้านบาท ที่ทำออกมาแล้วไม่ได้มาตรฐานก็โยนทิ้ง
เมื่อได้สูตรที่คิดว่าน่าจะพอขายได้ ลองเอาไปวางขายกลับไม่ถูกใจคนชิม ทำให้ยอดขายต่อเดือนไม่ถึง 100 ห่อ ทำให้ต้องย้อนกลับมาคิดและพัฒนาใหม่ จากนั้นก็ใช้เวลาอีก 2 ปีในการพัฒนาสูตรขึ้นมาใหม่ จนได้ทั้ง 3 รสชาติคือ รสดั้งเดิม, รสสไปซี่บาร์บีคิว และรสชีส รวมทั้งได้วางขายที่เซเว่น อีเลฟเว่น, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, แฟมิลี่ มาร์ทและลอว์สัน108 ทั่วประเทศ
การตลาดที่หวังโซเชียลมีเดีย
แน่นอนว่า เมื่อสินค้าได้วางขายในท้องตลาด ก็จะต้องสื่อสารแบรนด์ให้คนรู้จัก แต่เมื่อใช้งบในการพัฒนาสินค้าไปหมดแล้ว กลยุทธ์ท่ี Fitto หวังจะช่วยจุดกระแสคือ การเดินสายบอกต่อให้คนทั่วไปได้ลองชิมรสชาติจริง โดยใช้กระดาษติดที่ห่อของขนมและบอกไปตรงๆ เลยว่า “งบหมด ไม่มีใช้ในการโฆษณา” และบอกถึงความจริงใจว่า อยากให้ได้ชิมและแชร์ลงโซเชียลมีเดียของคุณเท่านั้น
เทคนิคนี้ก็ถือว่าเป็นการบอกต่อผ่านโซเชียลมีเดียที่น่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีคนใช้งานเฟสบุคและทวิตเตอร์รวมกัน เทียบเท่ากับประชากรทั้งโลกเลยก็ว่าได้ (แค่คำเปรียบเปรยนะคะ อย่าเอาไปใช้อ้างอิงอะไรล่ะ) อย่างน้อยแค่มีคนยอม Tweet หรือ Share บนโซเชียลมีเดียของเขาสัก 100 หรือ 1,000 คน ก็จะเกิดการจดจำและอยากทดลองชิมบ้างแล้ว
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการส่งสินค้าไปให้แก่อินฟลูเอนเซอร์ เว็บไซต์ หรือสื่อต่างๆ ให้ได้ทดลองชิมและเกิดการบอกต่อ ก็ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมเล็กๆ ได้แบบไม่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีกระแสที่ต่อเนื่อง หรือมีคนเชื่อคำพูดเหล่านี้หรือไม่ เพราะเรื่องรสนิยมและการเลือกซื้อสินค้าประเภทขนมนั้น ย่อมมีแบรนด์และรสชาติที่คุ้นเคยน่าลองให้ตลาดเป็นตัวเลือกเยอะมาก สำหรับราคาขาย 20 บาท ก็เป็นราคาเฉลี่ยของขนมอบกรอบยุคนี้ ที่ไม่ได้แพงแต่ทุกอย่างอยู่ที่ความพึงพอใจ
ทางด้านตัวผู้เขียนเองก็ได้ชิมขนม Fitto แล้ว และน้องๆ ในทีมค่อนข้างที่จะชื่นชอบขนมอบกรอบยี่ห้อนี้ เพราะรสชาติดี ที่สำคัญคือไม่อ้วน ใครที่เป็นสายชอบกินขนมก็ไปลองชิมกันได้ ส่วนเรื่องกลยุทธ์บอกต่อนั้น ยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่ดีและน่าสนใจ เพราะช่วงแรกของการทำตลาด สำหรับแบรนด์หน้าใหม่ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจประเภทไหนก็ตามอาจต้องใช้งบมหาศาลในการสื่อสารการตลาด
แต่แบรนด์รายย่อยระดับ SME อาจเริ่มต้นจากการขายในโซเชียลมีเดียก่อน จากนั้นเมื่อขนมมีวางขายในร้านค้าปลีกแล้ว ค่อยใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ อย่างการบอกต่อเพื่อให้คนติดหูจากนั้นค่อยทำการตลาดก็ได้ เพราะนักธุรกิจมือใหม่หลายคนอยากให้แบรนด์ติดตลาดไวๆ ก็อาจจะทุ่มงบมหาศาล ซึ่งมีหลายรายที่สมหวังและผิดหวัง
การทำตลาดยุคนี้ ไม่มีผิดไม่มีถูก ขอให้แค่ได้ลงมือทำแม้จะไม่ดังในช่วงข้ามคืน แต่อย่างน้อยมีคนซื้อกลับไปชิมก็ย่อมเป็นโอกาสที่ดีแล้ว