Site icon Thumbsup

5 คำถาม non-technical ที่ควรใช้สัมภาษณ์งานตำแหน่งเกี่ยวกับ Developer

freelance-wordpress-developer

เมื่อคุณกำลังสัมภาษณ์ Developer แล้วพบว่าเธอหรือเขาเป็นตัวจี๊ดด้านการเขียนโค้ดแบบที่คุณกำลังมองหาอยู่ คุณก็คงอยากจ้างเขาเข้ามาทำงานทันที แต่ใจเย็นก่อน เอนจิเนียร์ที่เก่งๆ ไม่ใช่แค่ใครสักคนที่รู้จักชุดคำสั่งและ algorithm เป็นอย่างดี แต่ควรจะเป็นคนที่สื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่องด้วย และรู้ว่าการทำงานเป็นทีมนั้นมีความหมายอย่างไร ดังนั้น ก่อนที่จะพูดกันเรื่องสัญญาจ้าง ควรจะถามคำถามแบบ non-technical เหล่านี้เสียก่อน

1. ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยว่าเวลาที่เพื่อนร่วมงานประเภท non-technical เจอปัญหาในเชิงเทคนิคแล้วมาขอความช่วยเหลือจากคุณ คุณอธิบายปัญหานั้นให้พวกเขาฟังอย่างไร

คำถามนี้ใช้สำหรับประเมินทักษะการสื่อสาร รีบจ้างคนแบบนี้เข้ามาทำงานเลยนะถ้าเอนจิเนียร์คนนั้นสามารถอธิบายศัพท์เทคนิคให้คนอื่นๆ เข้าใจได้โดยง่าย

2. คุณเคยทำงานร่วมกับ QA(Quality Assurance)/Tester มาก่อนหรือไม่ คุณรู้สึกยังไงกับมัน และคุณจะปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างไร

ในบางครั้ง Developer อาจจะรู้สึกแปลกแยกจากทีม QA ดังนั้น การประเมินว่า candidate มีมุมมองต่อการประกันคุณภาพอย่างไร และเขารับมือกับมันอย่างไรนั้นเป็นเรื่องสำคัญ อันที่จริงคำถามนี้ก็ควรใช้ถาม candidate ที่เป็นนักออกแบบและ project manager ด้วย

3. คุณเคยทำงานด้าน Customer support หรือเคยได้รับมอบหมายงานที่ต้องเจอกับลูกค้าบ้างหรือไม่

ในบริษัทใหญ่ๆ มันเป็นเรื่องปกติมากที่เอนจิเนียร์จะอยู่ห่างไกลจากผู้ใช้งาน ดังนั้น จะมีประโยชน์มากถ้าได้ใครสักคนที่มีประสบการณ์ในการบริการลูกค้ามาทำงาน เพราะเขาน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าบ้าง

4. งานอดิเรกของคุณคืออะไร

นี่เป็นคำถามปลายเปิดที่ดีมาก มันจะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง candidate กับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน คุณจะได้เห็นว่าเขาพูดถึงสิ่งที่เขาชื่นชอบมากๆ อย่างไร

5 บอกสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงานปัจจุบัน

หลายๆ ครั้งที่คำถามนี้เปิดโอกาสให้พวกเขาตำหนิที่ทำงานปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมา ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะรู้สึกไม่ชอบที่ทำงานในปัจจุบัน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เขามาสัมภาษณ์งานกับคุณ แต่วิธีที่พวกเขาพูดถึงมันนั่นแหละ ที่จะทำให้คุณรู้จักบุคลิกภาพของเขาลึกลงไปอีก

จะเห็นได้ว่าบางคำถามก็สามารถนำไปใช้ได้กับทุกตำแหน่ง เพราะท้ายที่สุดแล้วหัวใจของการทำงานเป็นทีมก็คือการพูดกันให้รู้เรื่อง และการเคารพในบทบาทหน้าที่ของคนอื่น

ที่มา: Forbes