Site icon Thumbsup

Flipkart อีคอมเมิร์ซอินเดียใช้กล่อง Amazon เป็น “ถังขยะ”

B-Rx3NLIgAAYTIn
กลายเป็นกระแสแรงบนโลกออนไลน์อินเดียเมื่อมีการเผยแพร่ภาพบน Twitter ว่าอีคอมเมิร์ซแดนภารตะอย่าง Flipkart ใช้กล่องพัสดุที่มีแบรนด์คู่แข่งอย่าง Amazon เป็นถังขยะ ภาพนี้สะท้อนว่าสงครามระหว่าง Flipkart และ Amazon กำลังคุกรุ่นเต็มที่ในอินเดีย และยังอาจมีผลพลอยได้ทางการตลาดอย่างคาดไม่ถึง

ภาพที่สร้างกระแสฮือฮานี้มีต้นตอมาจากผู้ใช้ชื่อ Reddit India เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยแสดงภาพผ่าน Twitter ให้ผู้ชมเห็นว่าเคาท์เตอร์พนักงานต้อนรับของ Flipkart มีกล่องพัสดุของ Amazon วางอยู่ด้านข้าง พร้อมกับโพสต์ข้อความว่าแม้แต่ Flipkart ก็ยังสั่งซื้อสินค้าจาก Amazon

ไม่นาน Flipkart ใช้บัญชีทางการของบริษัทบน Twitter ตอบผู้ใช้ Reddit India ว่ากล่องที่มีตราสินค้าของคู่แข่งนั้นถูกนำมารีไซเคิลเป็น ‘reception dustbin’ หรือถังขยะบริเวณส่วนต้อนรับของบริษัท

ข้อความนี้กลายเป็นกระแสร้อนแรงบน Twitter ทันทีในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยชาวออนไลน์อินเดียพยายามติดป้าย Amazon India เพื่อลุ้นว่าเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซต่างแดนจะโต้ตอบหรือให้ความเห็นกับภาพนี้อย่างไร

ในที่สุด Amazon ออกมาตอบแบบไม่ชวนตี พร้อมกับมองแบบใจกว้างว่าภาพที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา และบริษัทอีคอมเมิร์ซทุกแห่งก็ใช้บริการ Amazon อยู่แล้ว ซึ่ง Flipkart เองก็จบบทสนทนาไปแบบเรียบร้อยถนอมน้ำใจทั้ง 2 ฝ่าย

การจิกกัดของอีคอมเมิร์ซทั้ง 2 ค่ายนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งคู่แสดงจุดยืนเป็นคู่แข่งเต็มตัวในตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์อินเดีย ก่อนหน้านี้ Amazon ตกเป็นข่าวว่าชิงดัดหลัง Flipkart ซึ่งจัดงานลดราคา Big Billion Day Sale เมื่อปีที่แล้วด้วยการซื้อโดเมนเนม bigbillionday.com ไว้ ทำให้ผู้ที่เข้าสู่ bigbillionday.com ถูกส่งเข้าไปสู่เว็บไซต์ของ Amazon India แทน

ก่อนจะเกิดมหกรรมดราม่าทั้งหมดนี้ ซีอีโอ Amazon “Jeff Bezos” ประกาศว่าจะเทเงินทุนมากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อบุกตลาดอินเดียอย่างเต็มที่ โดยการประกาศเกิดขึ้นหลังจาก Flipkart แถลงข่าวเพิ่มทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเพียง 1 วัน

แม้การเผยแพร่ภาพนี้จะไม่ทำให้เกิดผลใดๆตามมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อย Flipkart ก็สามารถแสดงสัญลักษณ์ให้ชาวออนไลน์รู้สึกถึงจุดยืนการพร้อมสู้ไม่ถอยของ Flipkart โดยไม่ต้องใช้งบโฆษณา ภาพดังกล่าวถูก Retweet มากกว่า 750 ครั้ง และถูกตั้งเป็น Fevorite มากกว่า 350 ครั้ง กลายเป็นไวรัลที่นักการตลาดจะสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาได้อีกนานหลายปี

ที่มา : Times of India