ในการสร้างแบรนด์ การออกแบบโลโก้ กราฟิก เว็บไซต์ หรือผลิตภัณฑ์มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต้องพิจารณาเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ “ฟอนต์” (Font)
แล้วฟอนต์คืออะไร? อะไรทำให้ฟอนต์แตกต่างกัน? ปัจจัยไหนที่แบรนด์ควรพิจารณาในการเลือกฟอนต์ Thumbsup ได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟอนต์แล้ว ไปดูกันเลยครับ
ฟอนต์ ทุกเรื่องที่แบรนด์ต้องรู้
ฟอนต์คือทุกสิ่งที่คุณกำลังอ่าน (รวมถึงตอนนี้ด้วย) แต่มักจะเป็นสิ่งที่นักการตลาดมองข้าม ทว่าฟอนต์กลับเป็นตัวแปรสำคัญที่ลูกค้า/ผู้ชมจะตัดสินใจรับข้อมูลข่าวสารจากแบรนด์ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดสายตา สร้างการจดจำ ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก ดังนั้นการเข้าใจการออกแบบและลักษณะของตัวอักษรจะเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์อย่างแน่นอน
ทำไมฟอนต์ถึงสำคัญ
- 75% ของผู้บริโภคระบุว่าพวกเขาตัดสินแบรนด์จากการออกแบบเว็บไซต์
- 72% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าจากแพ็คเกจจิ้ง
Anatomy of a Font
ฟอนต์มีรายละเอียดหลายส่วนไม่ว่าจะเป็น ความสูง ความกว้าง ความหนา-บาง องศาของเส้น ส่วนโค้ง และช่องว่างภายในตัวอักษร แต่ละตัวแปรทำให้แต่ละฟอนต์มีความแตกต่างกัน
1. รูปร่าง เป็นโครงสร้างของตัวอักษรทั้ง เส้นตรง ความกว้าง องศา และส่วนโค้งซึ่งจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่สื่อสารออกไป
2. ความหนาบางและความคงเส้นคงวา ช่วยระบุถึงเอกลักษณ์ของฟอนต์ ส่วนที่หนาช่วยบ่งบอกถึงความมั่นคง ส่วนที่บางแสดงถึงรายละเอียดของฟอนต์
3. Serifs คือเชิงของฟอนต์หรือเส้นขีดที่ปลายตัวอักษร ช่วยให้ตัวอักษรอ่านง่ายขึ้น
ประเภทของ Font
serif
ฟอนต์ประเภทนี้ถูกเรียกว่าฟอนต์แบบโรมันหรือแบบดั้งเดิม เอกลักษณ์คือมีขีดเล็กๆ ที่ปลายตัวอักษร เหมาะสำหรับการพิมพ์เนื้อความเพราะง่ายต่อการอ่าน ให้ความรู้สึกถึงความคลาสสิก
sans-serif
ฟอนต์ประเภทนี้ตรงข้ามกับแบบ serif คือจะมีลักษณะเป็นฟอนต์เรียบๆ ไม่มีขีดที่ปลายตัวอักษร เหมาะสำหรับใช้งานบนหน้าเว็บไซต์และงานดิจิทัล ให้ความรู้สึกทันสมัย
decorative
decorative คืออักษรประดิษฐ์ เป็นประเภทฟอนต์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดเพราะสามารถออกแบบได้อย่างไม่จำกัด มักพบในป้ายร้านค้า ป้ายงาน ป้ายโฆษณา กราฟฟิตี้ และปกหนังสือ
แล้วแบรนด์ควรเลือกใช้ฟอนต์แบบไหน?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีฟอนต์ไหนที่สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ แต่เราสามารถตั้งคำถามเพื่อกำหนดความเหมาะสมของฟอนต์ได้ ดังนี้
ฟอนต์อ่านง่ายหรือไม่
- สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดฟอนต์ควรอ่านง่ายก่อนคำนึงถึงเรื่องอื่น
- ฟอนต์แบบ serif และ sans-serif อ่านง่ายพอๆ กันขึ้นอยู่กับการเลือกใช้
- ฟอนต์แบบอักษรประดิษฐ์ (Decorative) อ่านยากเมื่อนำไปขยายใหญ่
- การเพิ่มขนาดตัวอักษร ขีดเส้นใต้ ช่วยดึงดูดสายตาในการอ่าน
ฟอนต์ตรงกับจุดประสงค์หรือไม่
- พิจารณาว่าฟอนต์เหมาะกับบริบทที่ใช้หรือไม่
- ต้องการสื่อสารแบบดังเดิมหรือสมัยใหม่ (seriff vs sans-serif)
- ต้องการให้โดดเด่นหรืออ่านง่าย (Decorative vs non-decorative)
- ต้องการให้ฟอนต์แสดงที่ไหน เพื่อคำนึงถึงขนาด ความกว้าง สไตล์ และอื่นๆ
สุดท้ายแบรนด์ควรพิจารณาการใช้หลายๆ ฟอนต์เพื่อให้เหมาะสมในแต่ละบริบท และสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงวัตถุประสงค์
อ้างอิง mdgadvertising