จับตางานด้านอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชียอย่าง Food Ingredients Asia 2019 หรือ Fi Asia 2019 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ที่ไบเทค บางนา ชี้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์ขึ้นเทรนด์อาหาร 2020 และยกให้ปัจจุบันเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและงานวิจัย ย้ำผู้ประกอบการเร่งใช้เทคโนโลยีอย่าง AI พร้อมกับเปลี่ยนแพคเกจจิ้ง เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและอยู่ในมาตรฐานระดับสากล
“อาหาร” ถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ และยิ่งในประเทศไทยด้วยแล้ว เราไม่เป็นสองรองใครในเรื่องของการผลิตอาหาร
เห็นได้จากอุตสาหกรรมอาหารในประเทศของเรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประกอบการทั้งจากในไทยและจากต่างชาติตั้งแต่ระดับ Startups, SMEs หรือแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่อยู่ประเทศเป็นจำนวนมาก เข้ามาตั้งรกรากและดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก
แม้เราจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร แต่การรู้ถึงเทรนด์อาหาร และเทรนด์ของผู้ประกอบการด้านอาหาร ก็เป็นเรื่องดีที่เราจะได้ทำความรู้จักอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยในหลายแง่มุมมากขึ้น
แต่ถ้าใครอยู่ในวงการนี้ การอัพเดทข้อมูลให้ทันสมัยก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ปรับตัวเราก็อาจไม่รอด
ในวันนี้ เราจึงนำข้อมูลเทรนด์ผู้ประกอบการอาหารจาก Fi Asia งานแสดงสินค้าส่วนผสมอาหาร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา มาฝากทุกท่านกันครับ
เทรนด์ของผู้ประกอบการอาหาร ปี 2563
ซึ่งทาง Fi Asia เผยเทรนด์ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ปี 2563 (ค.ศ.2020) ที่น่าสนใจดังนี้
1. Food Waste Solutions
หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการพัฒนานวัตกรรมที่ลดการสูญเสียอาหารสภาพดีที่กลายเป็นของเสียโดยไม่จำเป็นมากขึ้น หลังพบว่ามีการทิ้งอาหารตามฉลากที่ระบุวันหมดอายุ ทั้งที่อาหารยังรับประทานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างน่าเสียดาย
นวัตกรรมแรกที่น่าสนใจ คือ พัฒนาฉลากอัจฉริยะบนบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อให้ผู้บริโภคทราบได้อย่างแม่นยำมากขึ้นว่าอาหารของพวกเขาสดแค่ไหน หรือเริ่มเปลี่ยนผ่านความสดใหม่แต่ยังรับประทานได้อยู่ จนถึงจุดสิ้นสุดที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้ว
ส่วนต้นทางในการผลิต ก็เริ่มมีการนำแนวคิดใช้วัตถุดิบที่ไม่สวยงาม หรือวัตถุดิบตกเกรด มาใช้ในการแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ที่มีรูปทรงไม่สวยงามตามเกรดคัดมักจะถูกทิ้งออกจากกระบวนการผลิต ทั้งที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตเทียบเท่ากับชิ้นอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหารมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นอาหารและเครื่องดื่มให้สมกับที่ใช้ทรัพยากรและแรงงานในการเพาะปลูกอีกด้วย
2. AI
ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล แขนจักรกล หรือโปรแกรมการผลิตแบบอัจฉริยะเท่านั้น แต่ AI ในอุตสาหกรรมอาหารกำลังมุ่งไปที่การบริหารจัดการตั้งแต่ “ต้นน้ำ” จนถึง “ปลายน้ำ”
ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ ตรวจสอบการผลิต ควบคุมมาตรฐาน-รสชาติ ไปจนถึงแผนการขนส่ง-สต็อกสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ซึ่งจะเห็นความพยายามของบริษัทขนาดใหญ่จะมีการพัฒนา AI ขึ้นมาใช้แบบเฉพาะด้านทั้งในฝั่งอาหารและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร AI ยุคนี้มีความสามารถสูงถึงขนาดจดจำรสชาติที่ละเอียดจนเกิดเป็นมาตรฐานของการผลิตได้
ส่วน SMEs, Startups หรือผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กลงมา ก็กำลังปรับตัวเข้าหา AI เพื่อการผลิตที่อยู่ในมาตรฐานสากล เช่น มีการดึงเอา AI ที่มีความสามารถในการทำความสะอาดเครื่องจักรผสมอาหาร หรือสามารถวัดค่าความสะอาดทั้งในแง่ของพื้นผิวและกลิ่น เพื่อคงคุณภาพในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มได้ทุกครั้งที่ใช้เครื่องจักร
3. Packaging
การออกแบบแพคเกจจิ้งในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงาม หรือให้รายละเอียดที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยุคนี้ การออกแบบแพคเกจจิ้งยังต้องคำนึงถึงความสามารถในการย่อยสลายลงสู่สิ่งแวดล้อมของโลกเราอีกด้วย
ผลพวงของกระแสรักษ์โลก จุดประกายให้ผู้ผลิตต่าง ๆ ตระหนักถึงผลกระทบของแพคเกจจิ้ง ไม่ว่าจะเป็นหลอดพลาสติก (ที่อาจมีผลกับเต่าทะเล) ถุงพลาสติก (ที่อาจมีผลกับวาฬ) หรือแม้แต่ห่วงฝาขวดน้ำ (ที่อาจรัดปากโลมาได้)
ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแพคเกจจิ้งอย่างมากมายตามการเรียกร้องของผู้บริโภคแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างการปรับตัวที่มีให้เห็น ก็อย่างเช่น การใช้แพคเกจจิ้งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ, การรีไซเคิลแพคเกจจิ้งใช้ซ้ำ หรือการออกแบบแพคเกจจิ้งให้สามารถถือพกพาได้ง่ายโดยไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก เป็นต้น
4. Bountiful Choice
เมื่อแบรนด์ต่าง ๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่ตรงกับความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ซึ่งนอกจากการตลาดที่แบ่ง Segments ลูกค้าแบบเดิม ๆ นั้น แบรนด์ต่าง ๆ ยังหันมาให้ความสนใจกับรสชาติ รูปแบบ และบรรจุภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสินค้าแบบ “Think out of the box” หรือ “คิดออกนอกกรอบ” เพื่อรักษาการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค
โดยในอนาคตผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับอาหารมากกว่าเรื่องของความอิ่มท้อง แต่จะมองอาหารเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นตัวตนรูปแบบหนึ่ง อาทิกลุ่ม Millennium และ Generation Z ถือ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมโดยยินดีจ่ายมากขึ้นให้กับสินค้าที่สนับสนุนแนวคิดบางอย่าง
ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว เช่น การนำเสนอข้อมูลที่มาของวัตถุดิบ ข้อมูลสำหรับตรวจสอบที่มาของส่วนผสม และกระบวนการผลิต ข้อมูลที่แสดงถึงการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
5. Rising of FoodTech & AgriTech
ภายในปี 2593 นี้ มีการคาดการณ์ว่าประชาการโลกจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคน ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ เราจะต้องมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 70 เปอร์เซ็นต์จากบริมาณการผลิตที่ทำได้ในปัจจุบัน
ทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทในการเกษตรมากขึ้น การทำฟาร์มแนวดิ่ง (Vertical Farming) และการทำเกษตรในร่ม (Indoor Farming) สำหรับเพาะปลูกในเมือง ในอาคาร หรือการใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) และ Big Data จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนากระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น นำมาใช้ในการวิเคราะห์น้ำในดิน, คาดการณ์ผลผลิต, ตรวจวัดผลผลิต, ให้ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง, สอดส่องพืชผล และช่วยจัดเก็บข้อมูล ซึ่งช่วยให้มีผลผลิตทางการเกษตรได้ทันต่อความต้องการที่มากขึ้น
นอกจากเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรแล้ว จะมีเทคโนโลยีในการแปรรูปสินค้าเกษตรให้กลายเป็นอาหาร และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ผู้ประกอบการต้องจับตามอง ซึ่งรวมไปถึงงานวิจัยต่าง ๆ ที่ออกมา จะช่วยให้การทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารมีสภาพที่ดีขึ้นตามมาในอนาคต
โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดการเกษตรอัจฉริยะจะขยายตัวได้ถึง 23,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2565 และจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 19.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
6. Foodie Influencer
ยุคนี้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายและหลากหลายช่องทางมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารหันมาให้ความสำคัญกับการทำการตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งชาวไทยอย่างเรา ๆ นั้นมีอัตราการการเข้าถึงโซเซีลมีเดียมากถึง 86 เปอร์เซ็นต์
ผลสำรวจของ Fi Asia ระบุว่า
- ผู้บริโภค 58 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าโซเชียลมีเดียและรีวิว มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
- ผู้บริโภค 23 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าการบอกต่อ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
- ผู้บริโภค 9 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าการโฆษณาในสื่อ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเสียงบอกต่อมีพลังมากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อ บทบาทของ Foodie Influencer จึงมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคช่างเลือกอย่างไม่น่าเชื่อ
ซึ่งการใช้ Influencer Marketing นี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในไทยเท่านั้น แต่แพร่ขยายไปทั่วโลก รวมถึงในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียสูงอีกด้วย
เทรนด์อาหาร 2020
ส่วนเทรนด์ด้านอาหารนั้น Fi Asia ระบุว่า ในปี 2563 (ค.ศ.2020) ที่จะถึงนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย แต่สามารถสรุปออกได้เป็น 9 ข้อใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
- โปรตีนสายพันธุ์ใหม่ โปรตีนแทนเนื้อสัตว์มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 6,725 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัว 6.4 เปอร์เซ็นต์ ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ โดยมีเนื้อไร้เนื้อ (Plant Based Food) เป็นดาวรุ่งของเทรนด์นี้
- อาหารที่ลดปริมาณน้ำตาล เพิ่มความหวานที่ดีต่อสุขภาพ การเปลี่ยนโครงสร้างอนุภาคของน้ำตาล เพื่อให้ละลายบนลิ้นได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับรสชาติความหวานเท่าเดิม อาหารมีรสชาติเหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดน้ำตาลในการผลิตได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์
- อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ โดยคำนึงถึงปัจจัย 5 ประการ คือ มีปริมาณน้ำตาลน้อย ไขมันอิ่มตัวต่ำ ไขมันรวมต่ำ มีใยอาหาร และมีโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดอาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพของโลกจะมีมูลค่าประมาณ 10,551 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564
- อาหารสำหรับผู้สูงอายุ การเป็นสังคมผู้สูงอายุของประชากรโลก ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทย ในปี 2565 จะมีผู้สูงวัยอายุ 70 ปี มากถึง 4,600,000 คน
- วัตถุดิบและส่วนผสมจากท้องถิ่น เนื่องจากผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่หันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือความแปลกใหม่อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องมองหาวัตถุดิบและส่วนผสมเฉพาะถิ่นเพื่อดึงเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมของตนเอง
- เครื่องดื่มสีใส แต่งกลิ่น แต่งรส สดชื่น เมื่อตลาดเครื่องดื่มเริ่มอิ่มตัว การสร้างสรรค์สินค้าใหม่จึงเป็นอีกทางออกที่สร้างมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ โดยเครื่องดื่มสีใส แต่งกลิ่น แต่งรส และให้ความสดชื่น เกิดขึ้นมาเพื่อทำตลาดใหม่ หลังจากที่ตลาดเดิมอย่างน้ำอัดลมกำลังถึงจุดอิ่มตัว
- เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จากปัจจัยที่ผู้บริโภคเครื่องดื่มกำลังมองหาสินค้าที่มีน้ำตาลน้อยไปจนถึงไม่มีน้ำตาล แต่รสชาติอร่อยไปพร้อม ๆ กับเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจึงถูกคิดค้นขึ้นมากมายในยุคสมัยนี้ โดยเพิ่มส่วนผสมเพื่อบำรุงสมอง เสริมการทำงานของลำไส้ และเพิ่มความงาม
- น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำมะพร้าว ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของน้ำดื่มบรรจุขวด เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการน้ำดื่มที่สะอาดและมีคุณภาพ โดยมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของ GDP พร้อมปัจจัยหนุนจากอากาศร้อนของปรากฏการณ์ El Nino ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะน้ำมะพร้าว
- การแปรรูปแมลง แมลงเป็นอาหารโปรตีนสูงที่สามารถบริโภคทดแทนเนื้อสัตว์ได้ โดยแป้งที่ได้จากการทำแมลงให้เป็นผง 100 กรัม จะให้โปรตีนได้สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เนื้อสัตว์อื่น ๆ จะให้โปรตีนที่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งแมลงถือเป็นวัตถุดิบและสร้างมลพิษให้โลกน้อยมาก มูลค่าตลาดของแมลงทานได้อยู่ 12,000 ล้านบาท
ซึ่งบริษัทผู้ดำเนินงานการจัดการแสดงสินค้าทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และนวัตกรรม อย่าง Informa Markets เผยรายละเอียดการจัดงาน Food Ingredients หรือ Fi Asia ว่าเป็นงานแสดงสินค้าส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่จัดขึ้นในประเทศไทยทุก 2 ปี ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าเกษตรตื่นตัวในการนำวัตถุดิบที่มีในประเทศมาแปรรูปเป็นอาหาร โดยเพิ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้สินค้ามีมูลค่ามากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาส่วนผสมใหม่ๆ จากผู้ผลิตที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่งและตรงใจผู้บริโภคอีกด้วย
โดยในปีนี้จะจัดงาน Fi Asia 2019 วันที่ 11-13 กันยายน 2562 ที่ไบเทค บางนา ฮอลล์ 101-104 ซึ่งถือเป็นการจัด Fi Asia ครั้งที่ 24 แล้ว โดยในงานมีการจัดแสดงสินค้าส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 750 บริษัท จาก 50 ประเทศทั่วโลก
พร้อมกับมีการจัดนิทรรศการนานาชาติจากจีน ยุโรป ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ฝรั่งเศส อินเดีย อีกด้วย
ผู้จัดงานระบุว่า การจัด Fi Asia ในแต่ละปีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25 เปอร์เซ็นต์ สร้างมูลค่าการซื้อขายได้มากถึง 250-300 ล้านบาทต่อปี และคาดการณ์ว่ามีผู้เข้าชมงานและเจรจาธุรกิจมากถึง 20,000 ราย
ซึ่งในงานปีนี้ จะมีนิทรรศการแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น นิทรรศการส่วนผสมจากธรรมชาติ, นิทรรศการส่วนผสมเพื่อสินค้าสุขภาพ, นิทรรศการส่วนผสมเพื่อเครื่องดื่ม และจะมีนิทรรศการจากผู้ประกอบการใหม่อีกด้วย
และนอกจากจะได้รู้ถึงเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารในงานดังกล่าวแล้ว ในงานยังมีกิจกรรมที่เสริมสร้างไอเดีย และให้ความรู้ด้านนวัตกรรมแก่ผู้เข้าชมงาน อย่าง Innovation Zone, Sensory Box, Innovation Tour, Beverage Theatre และส่วนจัดแสดงสินค้าท้องถิ่นของไทยที่เพิ่มการแปรรูป
รวมไปถึงกิจกรรมสัมมนาและการประชุมในหัวข้อ Opportunity in ASEAN Food Industry, Opportunity in Indonesia and Halal Requirements, Unlock your health with snack เป็นต้น
ต้องบอกเลยว่า หากใครสนใจอุตสาหกรรมอาหาร อย่าพลาดงานอย่าง Fi Asia 2019 เด็ดขาดครับ