Site icon Thumbsup

ภาคธุรกิจ-นักวิชาการชวนปั้น “สตาร์ทอัปด้านอาหาร-เครื่องดื่ม”

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ก็จริง แต่สำหรับหลาย ๆ ประเทศทุกวันนี้ สามารถนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาทำให้อาหารเป็นมากกว่าอาหารในรูปแบบเดิม ๆ จนเป็นที่ฮือฮากันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ชงกาแฟในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่สามารถสั่งกาแฟได้ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน และหุ่นยนต์เองก็ชงกาแฟได้อย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย หรือ การพัฒนาวัตถุดิบที่ผลิตจากพืชแต่ได้รสชาติที่หลายคนก็ยอมรับว่าคล้ายกับเนื้อบดสำหรับทำเบอร์เกอร์ ไปจนถึงแนวคิดการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับให้ผู้ประกอบการเช่าสูตรไปทดลองทำขาย (จากนักธุรกิจประเทศญี่ปุ่น) และอื่น ๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ นวัตกรรมที่กล่าวมาข้างบนนี้ ยังเป็นสิ่งที่ไม่เห็นภาพในเมืองไทยที่มีเป้าหมายจะก้าวขึ้นเป็นครัวโลก และการเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมด้านอาหารเลย โดยเฉพาะในระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่ยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ

นั่นจึงทำให้สามหน่วยงานอย่างบริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือกันทำโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Start-up Innovative F&B Products Competition ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีแนวคิด ได้มีโอกาสพบกับผู้เชี่ยวชาญ และได้เข้าถึงนวัตกรรม เพื่อที่จะได้ใช้นวัตกรรมเหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงานอาหารและเครื่องดื่มของตนเองเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

คุณมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) เผยว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 900,000 ล้านบาท และไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) รวมถึงเป็นผู้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปอันดับที่ 13 ของโลก และคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารในปี 2560 จะเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 8 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งพิจารณาแล้วน่าจะเป็นตัวเลขการเติบโตที่ดี แต่สิ่งที่สามารถเพิ่มเติมได้นั้นก็คือ ประเทศไทยยังสามารถทำให้อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นน่าสนใจมากขึ้นกว่านี้ได้ ซึ่งจะทำให้อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

ด้านคุณรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจัยที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีศักยภาพคือ การมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เก็บเกี่ยวได้ตลอดปี รวมถึงการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร  แต่จุดร่วมของความสำเร็จก็คือ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มต้องมีจุดเด่น จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดได้  และหากนำนวัตกรรมมาใช้ก็จะทำให้อาหารและเครื่องดื่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น  ซึ่งความร่วมมือในการจัดประกวดครั้งนี้ของยูบีเอ็มจะอยู่ในรูปแบบการอบรม การสนับสนุนด้านงบประมาณ และให้พื้นที่ในงาน Fiasia สำหรับแสดงสินค้า

ขณะที่ รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะผู้จัดงานกล่าวว่า คาดหวังจะเห็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านอาหาร เพราะโครงการนี้จะเร่งกระบวนการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงมอบทุนทรัพย์ให้บางส่วนด้วย

“ความยากของ Food Startup เทียบกับ Tech Startup คือสเกลได้ยากกว่า เราต้องทำต้นแบบ แล้วไปทดลองตลาด ซึ่งต้องมีกฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้อง ยิ่งถ้าเป็นสินค้าสุขภาพนั้นยากมาก เพราะถ้าเราจะระบุว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เราต้องทดสอบ ต้องมีการจดทะเบียน”

 

ด้วยเหตุนี้ การมีทีมผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยเข้าร่วมบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ภายใต้โครงการดังกล่าวก็อาจเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยให้ Food Startup ของไทยได้เติบโต โดยผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.fiasia.com โดยสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 สิงหาคม 2560 และจะมีการประกาศผลผู้ชนะเลิศในวันที่ 14 กันยายน 2560 ภายในงานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย 2017