จบปริญญาตรีแล้วคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองคงเป็นเรื่องธรรมดาของนักศึกษาในปัจจุบัน เนื่องจากเงินเดือนขั้นต่ำที่บริษัทเสนอให้กับนักศึกษานั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในยุคที่เศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ จึงทำให้พวกเขามองหาลู่ทางในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ หนึ่งธุรกิจที่กำลังบูมมากในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นธุรกิจที่เราเรียกกันว่า “สตาร์ทอัป”
ธุรกิจประเภทสตาร์ทอัปเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากนักลงทุนในตลาดมองเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจสตาร์ทอัปนั้น ๆ จึงเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อหวังผลกำไรจากบริษัท นี่จึงเป็นโอกาสที่ทำให้นักศึกษาหรือนักธุรกิจที่มีไอเดียเจ๋ง ๆ เข้ามานำเสนอไอเดียเพื่อเปิดสตาร์ทอัปของตนเองมากมาย
อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนยังติดกับความเชื่อที่ว่าถ้าหากจะประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจก็ต้องมีความรู้ทางด้านธุรกิจหรือเทคโนโลยี และที่สำคัญต้องจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับประเทศหรือระดับโลกเท่านั้น
iPrice หนึ่งในสตาร์ทอัปที่มีตลาดใน 7 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้ร่วมมือกับบริษัท DMP ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุน ทำการศึกษาประวัติการศึกษาของเหล่าผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัปในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยรูปแบบการศึกษานั้น ได้เก็บข้อมูลบริษัทสตาร์ทอัปที่ประสบความสำเร็จโดยวัดจากการได้รับทุนระดับ Series A ขึ้นไป ส่วนข้อมูลประวัติและการศึกษาของผู้ก่อตั้งมาจาก Linkedin ส่วนตัวและสัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ โดยข้อมูลของผู้ก่อตั้งที่มีในการค้นหาออนไลน์มีเพียง 50 ท่านเท่านั้น ซึ่งพบผลการศึกษาดังต่อไปนี้
จากการศึกษาสตาร์ทอัป 33 บริษัทในประเทศไทยและผู้ก่อตั้งจำนวน 66 คน (ข้อมูลการศึกษามีเพียง 50 คน) พบว่าผู้ก่อตั้งชาวไทย 15 คนจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (5 คนจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์), 6 คนจากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 4 คนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 3 คนจากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ 2 คนจากการศึกษาจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง
นอกจากผู้ก่อตั้งชาวไทยแล้ว ประเทศไทยยังมีผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัปชาวต่างชาติที่เข้ามาสร้างบริษัทสตาร์ทอัปกว่า 19 คน ซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลกและจบจากมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่ต่างกัน
จำแนกตามสาขาวิชาที่เหล่าผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัปจบการศึกษา 7 คนจบการศึกษาจากสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์, 9 คนจบการศึกษาจากสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและการจัดการ, 13 คนจบการศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรม, 14 คนจบการศึกษาจากสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ และ 6 คนที่จบการศึกษาจากสาขาวิชาอื่น ๆ
นอกจากความเชื่อข้างต้นแล้ว คนไทยบางกลุ่มเชื่อว่าการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป (ปริญญาโทและ MBA) นั้นจะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและที่สำคัญสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมามาต่อยอดสำหรับธุรกิจต่อไป จากการศึกษาพบว่ามีผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัป 21 คนที่เข้าศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นไป กล่าวคือจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัปในประเทศไทยนั้นสามารถนำการศึกษาในชั้นปริญญาตรีมาปรับใช้ให้ธุรกิจของพวกเขาประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
ตัวเลขที่ปรากฏในการศึกษาครั้งนี้ไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จแต่อย่างใด ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นใคร จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยใด หรือจบการศึกษาจากคณะสาขาวิชาอะไร ทุกคนล้วนแต่สามารถประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจได้ไม่ต่างกัน ผู้ก่อตั้งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำวิชาความรู้ที่พวกเขาได้ร่ำเรียนมามาปรับใช้และเปิดเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ต่อผู้บริโภคในอุตสหกรรมที่พวกเขาสนใจได้ทังสิ้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด หากระบบการศึกษาของไทยเปลี่ยนจากการท่องจำแบบเอาเป็นเอาตาย และการสอบวัดผลแบบไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไปสู่การศึกษาแนวใหม่ ที่เน้นให้เด็กได้ค้นหาความถนัด ความชอบ ความสนใจของตนเองให้เจอ เราอาจมีจำนวนสตาร์ทอัปที่มากกว่านี้หลายสิบเท่าก็เป็นได้
ที่มา: iPrice Thailand