สำหรับสายครีเอทีฟบ้านเรา เชื่อว่าชื่อของ “นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว” น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนยกนิ้วให้ในฝีมือ โดยเขาคนนี้คือคนที่เคยคว้ารางวัลโกลด์คานส์ รวมถึงมีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์พิเศษ และกรรมการตัดสินความคิดสร้างสรรค์โฆษณา ทั้งในและต่างประเทศมามากมาย เช่น London International Award, Adfest Thailand, Kamfan Hong Kong, Kancil Award Malaysia, Adman Thailand
นันทวัฒน์เริ่มต้นการทำงานในสายครีเอทีฟที่ Saatchi & Saatchi กรุงเทพฯ เมื่อปี 2002 ในตำแหน่งอาร์ตไดเร็คเตอร์ จากนั้นเขาเริ่มมองเห็นบางอย่างของวงการครีเอทีฟ และรู้สึกว่าถึงเวลาที่เขาต้องออกเดินทางเพื่อเรียนรู้เรื่องการสร้างแบรนด์ให้มากขึ้น
การเดินทางครั้งนั้นกินเวลาเกือบ 10 ปี จาก 2005 – 2014 แต่ก็ทำให้เขามีประสบการณ์ในการร่วมงานกับเอเจนซีชั้นนำมากมาย ทั้ง Y&R ฮ่องกง, Bartle Bogle Hegarty ลอนดอน, JWT โตเกียว, JvM ฮัมบูร์ก, Walker ซูริค และ Ogilvy เซี่ยงไฮ้ ก่อนที่จะกลับมาเป็นผู้บริหาร Saatchi & Saatchi กรุงเทพฯ อีกครั้งในปี 2014 ในตำแหน่ง Chief Creative Officer
โดยเขาเล่าว่า ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมานั้นมีทำให้ได้เห็นความแตกต่างของงานครีเอทีฟเอเจนซีในแต่ละภูมิภาค เช่น ในซีกโลกตะวันตก กระบวนการทำงานของครีเอทีฟเอเจนซีจะเข้มแข็งมาก หรือในฝั่งตะวันออกอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศที่เหมาะมากสำหรับสายอาร์ท เนื่องจากมีงานศิลปะมากมายให้ศึกษา
รวมไปถึงการร่วมงานกับเพื่อนที่เป็นบูทีคเอเจนซีที่สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เขาพบว่าระบบที่ Lean มากนั้นเป็นอย่างไร
“ไปถึงตกใจมาก เพราะเป็นบ้านเล็ก ๆ มีพนักงาน 8 คน โดยนโยบายของที่นี่จะทำงานกับซีอีโอ หรือถ้าเป็น MarCom ก็ต้องเป็นระดับ Decision Maker เท่านั้น ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทาย และเป็นระบบที่ lean มาก จำนวนคนไม่เยอะ ขั้นตอนการทำงานไม่เยอะ แต่กลับมีประสิทธิผลสูงมากกว่า ผมทำที่สวิสเซอร์แลนด์ไม่นาน แต่เป็นช่วงที่ผมสร้างงานได้เยอะที่สุดเท่าที่เคยอยู่ต่างประเทศมา ได้ถ่ายงานกับโปรดักชันเฮาส์ชั้นนำในหลายประเทศ และเห็นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เริ่มเห็นพาวเวอร์ของการมีคนน้อย แต่ทุกคนมีโฟกัสที่ชัดเจน”
“ตอนนั้นก็แอบมีความคิดเล็ก ๆ แล้วว่า สักวันหนึ่งเราจะเปิดเอเจนซีเล็ก ๆ แบบนี้แหละ แต่ก็ยังอยากศึกษาอยู่ โดยเฉพาะตลาดจีน ก็เลยไปที่ Ogilvy เซี่ยงไฮ้อีกสองปี ที่นั่นเราได้ขยายสโคปไปอีกก้าว จากเดิมที่เราเคยทำเรื่องการสร้าง Awareness แต่ที่เซี่ยงไฮ้ เราได้ทำจนถึงระดับที่ว่า ถ้าในซูเปอร์มาร์เก็ต จะคิดมุกให้พนักงานเล่นอะไรกับลูกค้า มันทำให้เราเห็นเลยว่าจุดตัดที่ทำให้สินค้าขายได้ไม่ได้ มันไม่ใช่แค่ Awareness มันมีอีกสนามรบหนึ่งที่ชื่อว่า Retail ด้วย”
“ทั้งหมดนี้มันเป็นการขยายขอบเขตการเรียนรู้ และการได้ทำหมดทั้งลูป ประกอบกับการได้ทำงานหลายประเทศ หลายตลาด หลายอุตสาหกรรม เหล่านี้มันทำให้ 9 ปีที่ออกไปต่างประเทศเป็น 9 ปีที่เข้มข้นมาก”
อย่างไรก็ดี ในปี 2014 เขาได้รับการทาบทามให้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งกับตำแหน่ง Chief Creative Officer ของ Saatchi & Saatchi กรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อเขาตัดสินใจกลับมา ก็พบว่าตลาดเอเจนซีเริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง
“เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ท้ั้งฟากผู้บริโภคไทยที่เริ่มเข้าสู่ยุค Social Media เต็มรูปแบบ ลูกค้าเริ่มมีการตัดงบ ความสำคัญของสื่อ TVC เริ่มมีน้อยลง ตอนนั้นเรามองว่า รูปแบบการทำงานอาจทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้วหรือเปล่า และการแข่งขันในวงการสูงมาก ขณะที่ธุรกิจเองก็เริ่ม Get Lost มากขึ้นเช่นกัน หลาย ๆ ครั้งที่การลงเงินไปนั้นไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าที่ควร”
“ผมมานั่งคิดว่าถ้าผมเป็นลูกค้า แล้วธุรกิจมีปัญหา แต่ไม่แน่ใจว่าต้องรีแบรนด์หรือเปล่า ผมจะไปคุยกับใครได้บ้าง ต้องไปคุยกับบริษัทที่ปรึกษาดัง ๆ แล้วต้องมารีแบรนด์สเกลใหญ่หรือเปล่า หรือถ้าต้องไปเอเจนซี ลูกค้าก็อาจกลัวว่า ก็ฉันยังไม่อยากอัดแคมเปญโฆษณา แล้วอย่างนั้นลูกค้าจะทำอย่างไร”
จากการคิดจนตกผลึก เขาจึงพบว่า ยังมีช่องว่างสำหรับเซอร์วิส ๆ หนึ่ง นั่นคือ การเป็นที่ปรึกษา และด้วยประสบการณ์ในสายครีเอทีฟเอเจนซีที่ผ่านมากว่า 15 ปีของเขานั้น มองว่า ความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยสร้างแบรนด์และแผนธุรกิจได้ทุกจุด ไม่จำเป็นต้องรอจนถึง P ตัวสุดท้ายอย่าง Promotion จึงค่อยเป็นงานของครีเอทีฟอีกต่อไป อีกทั้งยังมองว่ายังไม่มีผู้ให้บริการในรูปแบบนี้อย่างครบวงจรจึงเป็นที่มาของการเปิดตัวบริษัท Nawin Consultant ในที่สุด
โดย Nawin จะเข้าไปรับบรีฟเพื่อฟังรูปแบบธุรกิจ หาจุดอ่อนจุดแข็งที่จะเสริมหรือต้องปรับ เข้าสู่กระบวนการให้คำแนะนำถึงการปรับตัวในรูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจ หรือโอกาสของธุรกิจนั้นๆ อาทิ การเลือกใช้โลโก้ Font การใช้สีเพื่อสื่อถึงความเป็นตัวตนของแบรนด์ ชื่อแบรนด์ การช่วยคิดแพคเก็จจิ้ง การขยายไลน์ ขยายตลาด คำแนะนำที่จะทำให้ลูกค้าตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการปรับภาพลักษณ์ หรือเริ่มต้นขึ้นแบรนด์ใหม่
ซึ่งในจุดนี้ ทาง Nawin Consultant ได้จับมือกับ Adyim ที่เชี่ยวชาญในการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งโซลูชั่นของเมืองไทย รวมถึงมีการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาช่วยซัพพอร์ทลูกค้าด้วย โดยลูกค้าของ Nawin มีทั้งสถาบันการศึกษา, อุตสาหกรรมยานยนต์, ฯลฯ รวมถึงการรับหน้าที่เข้าไปเซ็ททีมงานดิจิทัลให้กับองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น
“ทุกวันนี้สิ่งที่พบจากการคุยกับหลาย ๆ แบรนด์คือ เมื่อก่อนไม่มีคู่แข่งเยอะขนาดนี้ และมันทำให้ธุรกิจเข้าสู่การสู้กันดัวยราคา หากแนะนำได้คงต้องบอกว่าแบรนด์อาจต้องถอยออกมาก่อน แล้วบิดจุดแข็งของตัวเอง เพื่อไม่ให้ต้องเข้าไปแข่งในสมรภูมิราคากับผู้ค้ารายอื่นๆ”
“หรืออย่างคุณทำธุรกิจโรงเรียน จะทำอย่างไรให้มันไม่น่าเบื่อ ให้มันโดดเด่นออกมา เป็น Uniqlo แห่งโรงเรียน ต้องตั้งชื่อใหม่ไหม ทำ CRM ไหม นอกจากนี้ผมมีแคทตาล็อกให้คุณดูเลย ว่ามีดีไซเนอร์คนไหนบ้าง แต่ละคนผลงานเป็นอย่างไร ราคาเท่าไร จากนั้นคุณก็ติดต่อกันเอง ผมไม่ได้ชาร์จ On Top เพิ่มใด ๆ หรือถ้ามีดีไซเนอร์ในใจแล้วเอาพอร์ทเขามาให้ผมดูได้ ผมจะช่วยแนะนำว่าคนไหนน่าจะเหมาะกับการสร้างงานนี้มากกว่ากัน ซึ่งตรงนี้เรามองว่ามันแฟร์ มันจริงใจ เหมือนผมเป็นพาร์ทเนอร์ ให้ผมมาช่วยคิดว่าทำอย่างไรให้เขาหาเงินได้มากขึ้น และในความเป็นครีเอทีฟ ผมอยากช่วยว่าเขาจะประหยัดเงินได้อย่างไรบ้าง กระบวนการนี้จะลดต้นทุนได้อย่างไรบ้าง”
“ลูกค้าก็แฮปปี้ ที่ผมไม่มีความเป็น Business แต่เราเอาความเป็นครีเอทีฟมาคุยกัน หลายครั้งที่การคุยงานกับลูกค้ามันทำให้เราได้ Find Out ปัญหา และได้ไอเดียกลับไป เหมือนผมไปจุดวิญญาณครีเอทีฟของเขาขึ้นมาใหม่ คือผมเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนมากมีความเป็นครีเอทีฟนะ เพราะไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ออกมาทำธุรกิจหรอก แต่พอนานวันไปมันลืม Passion ของเขาไป เราเลยต้องจุดขึ้นมา แต่สุดท้ายความคิดสร้างสรรค์เป็นแค่เครื่องมือ ลูกค้าต้องการผลลัพธ์ก็คือขายของได้ ซึ่งครีเอทีฟต้องช่วยลูกค้าขายของก่อน หากเราพยายามเข้าใจตรงนี้เราจะทำงานได้อย่างมีความสุข”