วิวัฒนาการของบริการทางการเงินได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมาของสมาร์ทโฟนที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง Mobile Banking ได้ทุกที่ ทุกเวลา
โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปทำธุรกิจกรรม ถอน-โอน-จ่าย ที่สาขาของธนาคาร ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ธนาคารต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาและนำมาสู่ยุคชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless)
รวมถึงประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำด้านบริการทางการเงิน พร้อมๆ กับกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก เทคโนโลยีทางการเงินทั่วโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อาทิ การชำระเงินผ่าน QR Code เริ่มนิยมในไทยมากขึ้น เนื่องจากเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวชาวจีน
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถือเป็นก้าวสำคัญของบริการทางการเงินในไทยคือ ‘พร้อมเพย์’ บริการโอนเงินโดยใช้เบอร์โทรศัพท์/เลขบัตรประจำตัวประชาชน อีกทั้งยังมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำหรือแทบไม่เสียเลยก็ว่าได้
เมื่อบริการทางการเงินสะดวกสบายมากขึ้น เร็วขึ้น ราคาถูกลง จำนวนธุรกรรมจึงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินให้กับเพื่อน ร้านค้า รวมถึงการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
ก้าวต่อไปของบริการทางการเงิน
นวัตกรรมที่ถูกพูดถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหลายคนกล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency เป็นสิ่งที่จะมาพลิกโฉมบริการทางการเงิน
คำถามแรกที่เกิดขึ้นคือ สกุลเงินดิจิทัลคืออะไร? เงินบาท ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์ ค่าเงินเหล่านี้ถูกรับรองมูลค่าโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ แล้วสกุลเงินที่สร้างขึ้นมาในอากาศจะพิเศษกว่าสกุลอื่นๆ อย่างไร
สกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี Blockchain หัวใจสำคัญคือความโปร่งใส ปลอดภัย และตรวจสอบได้ ไม่มีตัวกลางมารับรองอย่างธนาคารหรือรัฐบาล สามารถรักษาความลับของข้อมูลได้อย่าปลอดภัย
ทำให้สามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และตรวจสอบได้ ที่สำคัญค่าธรรมเนียมยิ่งลดลงไปอีก สะท้อนให้เห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลก็สามารถเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนได้เหมือนๆ กับ Mobile Banking เลย
แต่ด้วยความที่ไม่มีศูนย์กลางคอยควบคุม รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกจึงกังวลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งอาจกลายเป็นพื้นที่สำหรับการฟอกเงินและการทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ได้
ท้ายที่สุดการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการเงินต้องมีการศึกษา ตรวจสอบ และออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลอบ่างชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย จึงเป็นความท้าทายของธนาคารกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับตัวให้ทันกับพัฒนาการทางการเงินใหม่ๆ ในอนาคต