หากเรามองถึงมูลค่าตลาดเกมออนไลน์ ที่รวมตลาดเกมบนสมาร์ทโฟนและเกมโซเชียลด้วยแล้ว เฉพาะในประเทศไทยคาดว่าจะแตะ 6,000 ล้านบาท ด้วยปัจจัยส่งเสริมที่ประเทศไทยมีการเติบโตของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในอัตราสูง ผู้ใช้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่องทางในการเติมเงินที่ทำได้ง่ายขึ้น มีทั้งแบบบัตรเติมเงินจากหลากหลายค่าย และยังสามารถจ่ายเงินแบบตัดจากรอบบิลได้ด้วย
ทั้งหมดยิ่งทำให้ตลาดเกมโมบายและโซเชียลดึงดูดนักพัฒนาเกมมากขึ้น เนื่องจากคิดว่าใช้งบประมาณไม่สูงมากนัก ใช้ระยะเวลาไม่นานก็สามารถพัฒนาเกมให้สำเร็จและออกให้บริการในตลาด มีโอกาสสร้างรายได้แล้ว ยิ่งถ้ามองไปที่ตลาดโลก ซึ่งคาดการณ์ว่ามีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมจากตลาดเกมคอมพิวเตอร์ และเครื่องเกมคอนโซลเข้าไปด้วย ถือว่ามหาศาลเทียบกับตลาดภาพยนตร์ฮอลลีวูด และตลาดทีวีธุรกิจได้เลย
อย่างไรก็ตาม เอเดรียน ครู้ก และ จอร์แดน แบล็คแมน 2 นักพัฒนาผู้ผลิตและออกแบบเกมระดับโลก ซึ่งมีประสบการณ์ผ่านงานจากบริษัทชั้นนำ เช่น อีเล็คทรอนิกส์ อาร์ท หรือ อีเอ, ซินก้า,ยูบิซอฟท์, แคปคอม และไมโครซอฟท์เกม ได้ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ชีวิตของนักพัฒนาเกมอาจจะเป็นเหมือนดรามาโหดๆ เรื่องหนึ่งได้เลย หากไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง
เอเดรียน กล่าวว่า กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากมีเกมที่ดีไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันตลาดเกมการแข่งขันสูง มีตัวเลือกเยอะมาก ถ้าขาดแผนธุรกิจที่ดี ขาดการตลาดที่พร้อม ก็อาจเดินไปสู่จุดจบได้ง่ายๆ นั่นหมายความว่าเกมที่ดีแต่ถ้าไม่ได้รับการสนใจ ขายไม่ได็ ก็ไม่มีรายได้ หรือต่อให้ขายได้ แต่ถ้าไม่มีแผนธุรกิจมารองรับ เช่น เซิร์ฟเวอร์ไม่รองรับจำนวนคนเล่นที่เพิ่มขึ้น หรือไม่มีวิธีหาเงินจากผู้เล่น หรือแม้แต่การพัฒนาต่อยอดเกมในเวอร์ชั่นต่อๆ ไป
“หลายคนคิดว่า ขอพัฒนาเกมให้เสร็จ เปิดตัวเกมต่อสาธารณะแล้วจะจบ แต่ความจริงไม่ใช่ ยังมีเรื่องต้องคิดต่อจากนั้นอีกมาก การวางแผนธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง นั่นคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาเกมที่ดี” เอเดรียน กล่าว
จอร์แดน กล่าวเสริมว่า ทีมงานที่จะทำงานร่วมกันเป็นหัวใจในการสร้างเกมที่ดี อาจจะใช้คนแค่ 2 คน แต่ต้องมีความมุ่งมั่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะตลาดเกมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเกมเมอร์ปรับตัวไม่ทัน ก็อาจจะได้เกมที่ตกยุค ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้จากการแชร์ไอเดีย แชร์ประสบการณ์ สร้างกลุ่มคนพัฒนาเกมขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเห็นได้น้อยในกลุ่มนักพัฒนาเกมคนไทย ส่วนใหญ่ยังเลือกจะเก็บเงียบไว้คนเดียว
สำหรับแนวการพัฒนาเกมที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับนักพัฒนาได้นั้น กรณีที่เป็นบริษัทเกมขนาดใหญ่ เป็นที่รู้จักและมีผลงานซึ่งเป็นที่นิยมอยู่แล้วนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เงินลงทุนสูง 20-40 ล้านดอลลาร์ หรืออาจจะสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ในบางเกม การเลือกโมเดิลขายเกม จึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้สูงในการทำกำไร บางเกมอาจจะทำกำไรกว่า 300 ล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 2 วัน
แต่ในกรณีของนักพัฒนารุ่นใหม่ ที่เร่ิมต้นทำธุรกิจของตัวเอง อาจใช้เงินทุนเริ่มต้นที่ 3 หมื่นดอลลาร์ ดังนั้นการสร้างจุดต่าง สร้างความแปลกใหม่ คือหัวใจที่นำไปสู่ความสำเร็จ และแน่นอนว่าควรเลือกโมเดลเปิดให้ดาวน์โหลดเล่นฟรี เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างกลุ่มผู้เล่นจำนวนมาก ตามสถิติแล้วเกมในตลาดกว่า 80% สามารถสร้างรายได้และคืนทุนในระยะเวลา 9 เดือน จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความสนุกและการตลาด
“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องมีแผนธุรกิจ เพราะเมื่อให้เล่นฟรี ต้องคิดโมเดลว่าจะหารายได้อย่างไร จะดึงดูดให้คนเล่นยอมจ่ายได้อย่างไร และเซิร์ฟเวอร์ต้องพร้อมรับจำนวนผู้เล่นที่อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นล้านคนด้วย และต้องเตรียมพัฒนาเกมต่อในเวอร์ชั่นใหม่ๆ ด้วย” เอเดรียน กล่าว
สำหรับในประเทศไทย 2 ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเกม ได้มีโอกาสพบกับ 10 ทีมนักพัฒนาเกมจากโครงการ MSeed Accelerator ซึ่งเน้นสนับสนุนนักพัฒนาเกมคนไทยเพื่อเป็นสตาร์ทอัพ เห็นได้ชัดว่า นักพัฒนาเกมไทย มีความสามารถและมีความมุ่งมั่นสูงมาก แต่ยังขาดประสบการณ์ในการบุกอุตสาหกรรมเกมในระดับโลก ดังนั้นการมีที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักพัฒนาก้าวไปสู่ความสำเร็จได้
จอร์แดน กล่าวว่า ใน 10 ทีม มี 2-3 ทีมที่น่าสนใจมาก สามารถทำเกมออกมาได้สวยงาม ดึงดูดให้อยากดาวน์โหลดมาลองเล่น เรียกว่าเป็นเกมในระดับ AAA สามารถวางขายในตลาดได้เลย และจากการพิจารณามี 1 ทีมแน่ๆ แล้วที่น่าร่วมลงทุนหรืออาจจะซื้อเกมนั้นๆ ไปทำตลาดได้เลย
เอเดรียน กล่าวเสริมว่า มี 2-3 ทีม ที่ต้องปรับนิดเปลี่ยนหน่อย ก็จะได้เกมที่ดีลงตัวในทันที สามารถขายในตลาดโลกได้แน่นอน นั่นเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า นักพัฒนามีความสามารถในการสร้างสรรค์เกมที่ดึงดูดใจและแตกต่างจากเกมที่มีในตลาด เช่น เลือกใช้วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือความเป็นเอเชีย เข้ามาสร้างสรรค์ในเกม หากมีการวางแผนธุรกิจให้ดี โอกาสจะยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น
“การสนับสนุนนักพัฒนาเกมใหม่ๆ ของ MSeed Accelerator คือความท้าทาย ความสนุกสนาน เพราะจะทำให้เกิดเกมใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงขึ้นในตลาด เช่น พุดดิ้ง ไฟท์ติ้ง ไม่น่าเชื่อว่าสามารถจินตนาการให้ขนมพุดดิ้งมาสู้กัน มั่นใจว่าคนที่ได้ยินต้องอยากดาวน์โหลดไปเล่นแน่นอน นี่คือตัวอย่างของเกมที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก” เอเดรียน กล่าว
จริงอยู่ว่าปัจจุบันเกมบนโซเชียลและโมบาย คือตลาดที่เติบโตสูงที่สุด แต่การเป็นนักพัฒนาเกมที่ดี ต้องพร้อมจะเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ๆ ตลอดเวลา เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เกมโซเชียล โดยเฉพาะบนเฟซบุ๊กได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ทุกคนทำเกมบนเฟซบุ๊กจนวันนี้ตลาดเริ่มนิ่ง โมเมนตัมเริ่มเบี่ยงเบนมาทางไลน์ ซึ่งอยู่บนโมบายเป็นหลัก ในอนาคตอาจจะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก นั่นคือสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ
ทั้งนี้หากใครสนใจข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ MSeed Accelerator สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ MSEED.asia
เกี่ยวกับ MSeed– เป็นบริษัทลูกของ MLINK ที่เปิดขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจด้านเกมด้วยเงินลงทุน 100 ล้านบาท มุ่งเน้นสนับสนุนผู้พัฒนาเกมไทยให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จในตลาดเกมโลก บริหารโดยนายสกลกรย์ สระกวี อดีตผู้บริหารบริษัทเกมระดับยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยที่ทำรายได้ได้สูงกว่า 900 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักกันในตลาดเกมระดับอินเตอร์ฯเป็นอย่างดี โดยทุกๆ ครั้งของความเคลื่อนไหวจะมีสื่อมวลชนวงการเกมและตลาดเกมให้ความสนใจจับตามองอยู่เสมอ