หากเอ่ยชื่อแบรนด์ Garena ในระดับสากล อาจเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของเอเชีย และมีผลิตภัณฑ์ความบันเทิงครบครัน ทั้งเกมออนไลน์, e-Payment Platform, e-Commerce ฯลฯ แต่สำหรับในไทยแล้ว ชื่อของ “Garena” อาจเป็นที่จดจำในหมู่เกมเมอร์ชาวไทยในแง่ของบริษัทผู้สนับสนุนหลักของกีฬา e-Sport ภายใต้การแข่งขัน Garena Star League (GSL) เป็นสำคัญ
โดยการแข่งขัน GSL นั้นเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2013 ปัจจุบันถือเป็นการจัดการแข่งขันครั้งที่ 5 แล้ว และในปี 2016 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150,000 คนเลยทีเดียว ไม่นับผู้ที่ชมผ่านออนไลน์อีกกว่า 250,000 คน โดยปัจจุบัน GSL ถูกจัดให้เป็นมหกรรมการแข่งขัน E-Sport ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักเล่นเกมมืออาชีพทั้งในไทยและต่างประเทศเดินทางมาเข้าร่วมแข่งขันชิงเงินรางวัล ส่วนผู้ชนะจะได้ไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติต่อไป รวมถึงโอกาสในการถูกแมวมองชักชวนเข้าร่วมทีม E-Sport ชั้นนำในต่างประเทศด้วย
คุณอัลเลน ซู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม บริษัท การีน่า ออนไลน์ (ประเทศไทย) เผยว่า มหกรรมการแข่งขัน GSL นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของวงการกีฬา E-Sport ของไทยที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และความต้องการที่จะผลักดันให้กีฬาชนิดนี้ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกมเมอร์ได้แสดงฝีมือเพื่อก้าวสู่การเป็นนักกีฬา E-Sport ในอนาคต
โดยในปีนี้ ทางผู้จัดงานได้มีการตั้งรางวัลในการแข่งขันเอาไว้หลายประเภท ได้แก่
– เกม RoV GSL Tournament 2017 เงินรางวัลรวม 1,000,000 บาท และทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มูลค่ารวม 1,600,000 บาท
– เกม HoN Tour World Finals 201 เงินรางวัลรวม 4,00,000 บาท
– เกม Fifa Online 3 : The Intercontinentals 2017 เงินรางวัลรวม 1,000,000 บาท
– เกม Pointblank GSL 2017 เงินรางวัลรวม 500,000 บาท และสิทธิในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการ PBWC 2017 ที่ประเทศรัสเซีย และเงินรางวัลรวมอีกกว่า 1.8 ล้านบาท
– เกม Pointblank GSL Lady Cup การแข่งขันสำหรับผู้หญิง เงินรางวัลรวม 100,000 บาท
– Thailand League of Legends Championships Series (TLCS2017) จากเกม League of Legends และสิทธิในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับ SEA เงินรางวัลรวม 400,000 บาท
– ประกวด Cosplay เงินรางวัลรวมกว่า 60,000 บาท
ส่วนการแข่งขันนั้น ปีนี้จะใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Universal E-Sport Arena” โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200,000 คน ส่วนพาร์ทเนอร์นั้นนอกจากจะเป็นพันธมิตรในวงการเกมเมอร์และไอซีทีแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ด้วย โดยถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่ของการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เพราะจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของนักท่องเที่ยวและกลุ่มแฟนคลับจากต่างประเทศมาเข้าชมงานนั่นเอง
นอกจากนั้น ภายในงานจะมีการเปิดตัว Blade & Soul เกมออนไลน์แนว Action MMORPG ที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ และมีระบบการเล่นที่ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นตัวละครภายในเกม โดยสามารถพัฒนาทักษะของตัวละครนั้นๆ ได้ และยังสามารถที่จะทำการแข่งขันเป็นกีฬา E-Sport ได้อีกด้วย
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าอาชีพนักกีฬา E-Sport นี้มีความเป็นมาอย่างไร และสามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้อย่างมั่นคงหรือไม่ คุณนัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี นักกีฬา E-Sport มืออาชีพจาก Royal Only Club สาธารณรัฐประชาชนจีน (ปัจจุบันศึกษาปริญญาโทด้าน MBA อยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เผยว่า ในต่างประเทศ การแข่งขันกีฬา E-Sport มีความจริงจังสูงมาก โดยมีการเก็บตัว มีโปรแกรมการฝึกซ้อมแข่งขัน ตลอดจนมีนักวิเคราะห์และเทคโนโลยีช่วยในการศึกษารูปแบบการสู้ของนักกีฬา E-Sport แต่ละคน ว่ามีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน ควรพัฒนาจุดใดเพิ่ม รวมถึงวิเคราะห์ทีมฝั่งตรงข้ามว่ามีรูปแบบการเล่นอย่างไร
สำหรับค่าเหนื่อยในวงการนี้ เท่าที่เขาเปิดเผยได้นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 บาทต่อเดือน แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อตกลงของแต่ละต้นสังกัด (ส่วนตัวเขาเองนั้นเปิดเผยไม่ได้เนื่องจากในสัญญาระบุไว้)
ทั้งนี้ คุณนัฐกร ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ในต่างประเทศนั้นชื่อของเกมเมอร์จากเมืองไทยค่อนข้างเป็นที่ยอมรับ เพราะบางทีมที่ฝึกซ้อมจริงจังนั้น เมื่อแข่งจริงกลับแพ้เกมเมอร์จากไทยที่เป็นเด็กมัธยมแถมเรียนก็หนัก มีเวลาซ้อมเพียง 1 – 2 ชั่วโมงต่อวันอย่างราบคาบ
สำหรับมหกรรม E-Sport อย่าง GSL 2017 นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 2 เมษายน ณ ฮอลล์ 98 – 99 ไบเทคบางนา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.garena.in.th หรือ www.gsl.in.th